ครบ 19 ปี อุ้มหาย ‘ทนายสมชาย’ อังคณา คลี่กม. จี้บทพิสูจน์ความจริงใจรัฐ ยัน ไม่ยอมแพ้

ครบ 19 ปี อุ้มหาย ‘ทนายสมชาย’ อังคณา คลี่กม. จี้บทพิสูจน์ความจริงใจรัฐ ยัน ไม่ยอมแพ้

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความผู้สูญหาย เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ’19ปีสมชาย: กฎหมายอุ้มหาย กับบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐ’ ในวาระครบรอบ 19 ปีการถูกบังคับสูญหาย มีเนื้อหากล่าวถึงกระบวนการในเชิงกฎหมายและการผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ความตอนหนึ่ง ดังนี้

สำหรับครอบครัวแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ความทรงจำกลับไม่เคยจางหาย 19 ปีที่ครอบครัวยังรอคอยความจริงและความยุติธรรมจากรัฐ วันนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อครอบครัวสมชาย และผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย

Advertisement

ที่ผ่านมาคดีสมชายเป็นคดีที่ตำรวจฟ้องตำรวจในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งที่สุดเมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตำรวจ 4 นายในคดี (อีก 1 นายญาติแจ้งว่าสูญหายระหว่างอุทธรณ์)

นอกจากนั้นศาลฎีกายังตัดสิทธิครอบครัวในการเป็นผู้เสียหายในคดี ทำให้เอกสารทุกชิ้นที่ครอบครัวยื่นต่อศาลไม่ถูกรับฟัง รวมถึงเมื่อปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้งดการสอบสวนคดีสมชาย และยุติการคุ้มครองพยาน หลังรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ 11 ปีโดยไม่มีความก้าวหน้า

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้นิยามคำว่า “#ผู้เสียหาย” ใหม่ โดยให้หมายถึงครอบครัวด้วย (มาตรา 3 วรรคแรก) และกำหนดให้รัฐดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด (มาตรา 10) โดยให้ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รายงานให้ผู้เสียหายทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง (มาตรา 32) และ ให้นำความในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา 43 บทเฉพาะกาล) จึงเป็นความท้าทายอย่างมากต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และรัฐมีความเต็มใจในการเปิดเผยความจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับให้บุคคลสูญหายหรือไม่

Advertisement

เวลาที่ถามหาความรับผิดชอบจากรัฐ มีหลายคนถามดิฉันว่า “#ทำไมไม่ไปถามทักษิณ” ประสบการณ์ 19 ปีทำให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง คอยควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการบางคนใช้คำว่า #รัฐพันลึก ซึ่งก็คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และสามารถขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด หน่วยงานที่เป็นเสมือนรัฐซ้อน สามารถดำรงอำนาจได้ในทุกรัฐบาล เติบโตก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลผด็จการ หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทหาร ดังเช่นจะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมากมายเพียงใด รวมถึงล่าสุดที่องค์กรตำรวจสามารถขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการใช้ มาตรา 22 ถึง 25 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้จะถูกคัดค้านจากเหยื่อรวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมายก็ตาม

อย่างไรก็ดี แม้พระราชบัญญัตินี้จะชะลอการบังคับใช้บางมาตรา แต่ก็ไม่กระทบต่อการติดตามหาตัวผู้สูญหาย ดังนั้นดิฉันจึงคาดหวังว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนตาม พรบ. นี้ ทั้งอัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะรื้อฟื้นการสืบสวนคดีสมชาย รวมถึงผู้สูญหายรายอื่นๆ ในความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย และเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องให้ญาติอ้อนวอนร้องขอ นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องรีบเร่งในการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหาย ของสหประชาชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 และที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการทบทวนสถานสิทธิมนุษยชน (UPR) เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่อยู่ในประเทศไทยจะไม่ถูกอุ้มหายโดยรัฐอีกต่อไป

ที่ผ่านมาดิฉันมักพูดเสมอว่า “แม้กระบวนการยุติธรรมจะมิอาจคืนชีวิตให้สมชาย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการคืนความยุติธรรมแก่เขา” วันนี้ ดิฉันยังคงเชื่อเช่นเดิมว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจก็คงไม่เกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการเปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว

ผ่านไป 19 ปีกรณีอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อระบบยุติธรรม และกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าถ้าวันนี้สมชายสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะภาคภูมิใจในสิ่งที่ครอบครัว และบรรดากัลยาณมิตรได้ร่วมกันผลักดันให้การบังคับสูญหายเป็นประเด็นสาธารณะ และสร้างกลไกสำคัญในการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาตินี้

ในโอกาสครบ 19 ปีของการบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอใช้พื้นที่นี้เพื่อขอบคุณบรรดากัลยาณมิตร รวมถึงพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่านสำหรับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่นำพาดิฉันและครอบครัวมาถึงจุดนี้ จุดที่แม้จะเปราะบาง แต่ความเจ็บช้ำได้ถูกปลอบโยนด้วยไมตรีและความอาทรจากคนรอบข้าง ทำให้มีกำลังในการก้าวเดินต่อไป เพื่อให้เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกบอกเล่าจากครอบครัวสู่สาธารณะ และจากรุ่นสู่รุ่น … การรักษาความทรงจำจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคนหาย เพราะความทรงจำที่ไม่เคยมอดดับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวังว่า สักวัน … ความอหังการ์ของรัฐจะถูกกลบด้วยพลังที่ไม่ยอมแพ้ของเหยื่อ การอุ้มฆ่าสมชายจึงไม่ใช่การยุติปัญหาดังที่เจ้าหน้าที่บางคนคิด แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการไม่ยอมจำนนของครอบครัวโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ สู่การไม่ยอมจำนนของประชาชนในการต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่อธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image