เปิดตำนาน ‘พระพุทธชินราช’ เพื่อไทย ขอพรแลนด์สไลด์ พงศาวดารชี้ คนธรรมดาสร้างไม่ได้ พระอินทร์ต้องมาเอง

ยกทีมเพื่อไทยกราบขอพรพระพุทธชินราชตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ 12 มีนาคม นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ฯลฯ ถอดรองเท้าเข้าสู่วิหาร ‘วัดใหญ่’ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  อ.เมือง จ.พิษณุโลก ก่อนเดินทางไปปราศรัยอ้อนชาวบางระกำ (อ่านข่าว ‘เพื่อไทย’ บุกบางระกำ ทวงคืนส.ส.เขต 4 ย้ำต้องได้ 310 เสียง)

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธปฏิมาที่ผู้คนศรัทธาเลื่อมใสอย่างสูงไม่เพียงแต่ชาวพิษณุโลกสองแคว หากแต่รวมถึงชาวพุทธทั่วประเทศ

ข้อมูลจากบทความ ‘ทำไม “พระพุทธชินราช” จึงเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมากที่สุด?’ โดย จันทรรัตน์ คงทัพ ในเวปไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม กล่าวถึง ตำนานพระพุทธชินราช ซึ่งปรากฏในพงศาวดารเหนือที่ได้รับการเรียบเรียงใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา เจ้ากรมราชบัณฑิตขวา ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2350  ว่า มีกษัตริย์เชียงแสนองค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีบุญญาธิการมาก กษัตริย์เมืองเล็กเมืองน้อยต่างก็โอนอ่อนสวามิภักดิ์ พระองค์ได้ยกทัพมาทำศึกกับพระเจ้าพสุจราชเมืองสัชนาไลย เมืองสัชนาไลยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ได้ยกพระธิดาปทุมเทวีให้แก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ต่อมาพระนางได้มีโอรสสองพระองค์ คือ เจ้าไกรสรราช และเจ้าชาติสาคร

ภายหลังพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกได้มาสร้างเมืองใหม่ด้วยความเชื่อว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยได้เสด็จมาฉันจังหันใต้ต้นสมอแห่งนี้ แล้วตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า พิษณุโลก พระองค์ได้ให้เมืองใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งหลายช่วยกันสร้างวิหารและพระธาตุขึ้นกลางเมือง ส่วนพระองค์เองนั้นดำริจะสร้างพระพุทธสำริด 3 องค์คือ พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราช มีช่างจากเมืองสัชนาไลยและหริภุญไชย สร้างสำเร็จเพียงสององค์แรกเท่านั้น เหลือแต่พระพุทธชินราชเพียงองค์เดียวที่ไม่ลุล่วง ช่างทำการหล่อถึง 3 ครั้ง ก็ไม่สามารถหล่อองค์พระขึ้นมาได้เพราะทองนั้นแล่นไปไม่ทั่วองค์พระ พระศรีธรรมไตรปิฏกจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานถึงบุญบารมีที่ท่านได้บำเพ็ญมาแล้วในกาลก่อน ร้อนไปถึงองค์อินทร์ต้องเสร็จลงมาช่วย โดยเนรมิตตนเป็นชีปะขาว ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งจอมสวรรค์ทองนั้นก็แล่นทั่วองค์พระได้โดยพลัน

Advertisement

จากประวัติการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ชี้ให้เห็นฐานะของพระพุทธชินราชว่าสูงกว่าพระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดา เพราะต้องอาศัยเทวดามาสร้าง คนธรรมดาสามัญไม่อาจสร้างได้ด้วยว่าบุญญาบารมีไม่ถึงพระพุทธชินราช ทั้งได้แสดงถึงบุญญาธิการยิ่งใหญ่ของพระศรีธรรมไตรปิฎกด้วย

ในปี พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ประวัติของพระพุทธชินราชขึ้นมาใหม่ ชื่อเรื่อง “ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” โดยได้ทรงอิงเนื้อหาจากพงศาวดารเหนือและเพิ่มเติมขยายความบางตอนเข้าไป ปรับเน้นบางจุด ทำให้เกิดมิติมุมมองใหม่

ภาพถ่ายพระพุทธชินราช สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภถึงความงามของพระพุทธชินราชไว้ดังนี้

Advertisement

“…พระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย…ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือหรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ว่าได้…”

ความงามของพระพุทธชินราชไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากคนในประเทศเท่านั้นแม้แต่ฝรั่งมังค่าเองเมื่อได้มาเห็นก็ปลื้มปิติยิ่งนัก

จากคำกล่าวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งพาฝรั่งไปชมพระพุทธชินราชว่า “…พวกฝรั่งพากันออกปากว่ายังไม่เคยเห็นของโบราณที่แห่งอื่นในเมืองไทยจับใจ Impressive เหมือนพระชินราช…”

พิธีอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองเข้าประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image