แจงปม ‘ออกหมายจับ’ ก่อน ‘ถอนหมายจับ’ ส.ว.ดัง ชี้ไม่ถูกต้องด้วย ‘เหตุ’ แต่ชอบด้วย ‘ผล’

แจงยิบปม ‘ออกหมายจับ’ ก่อน ‘ถอนหมายจับ’ ส.ว.ดัง ชี้ไม่ถูกต้องด้วย ‘เหตุ’ แต่ชอบด้วย ‘ผล’

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นถึงกรณีที่มีข่าวเรื่องพนักงานสอบสวนขอศาลออกหมายจับ ส.ว.คนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีดัง และต่อมาได้มีการถอนหมายจับว่า กรณีดังกล่าวศาลอาญาออกคำสั่งถูกต้องใน “ผล” แต่ ให้ “เหตุ” ไม่ถูกต้อง ดังนี้

  • 1.ผู้ร้อง ขอหมายจับ แม้มีคุณสมบัติเป็น ข้าราชการตำวรจยศ ร.ต.ต.ขึ้นไป แต่

(1) หากเป็นการจับในชั้น “สืบสวน” ปกติ ตำรวจ มีอำนาจจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตาม ป.วิ.อ.ม. 78 อยู่แล้ว หากเป็นการร้องขอหมายจับนั่นย่อมแสดงว่า คดีไม่มีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เมื่อคดีไม่มีเหตุเร่งด่วน ฝ่ายสืบสวนควร “จัดทำรายงานการสืบสวนสรุปพยานหลักฐาน” ส่งมอบให้ ผกก. หรือ ผบก. หน.พนักงานสอบสวน เพื่อส่งมอบ พนักงานสอบสวนทำการรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติศาลออกหมายจับ

(2) ดังนี้ เห็นว่า ชั้นจับกุม แม้มีหลักฐานตามสมควร แต่ “ไม่มีเหตุเร่งด่วน” ศาลไม่พึงอนุมัติหมายจับให้ผู้สืบสวน แต่ควรให้ผู้สืบสวนมอบหลักฐานให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน และออกหมายเรียกหรือหมายจับตามขั้นตอนของ ป.วิ.อาญา กำหนด

Advertisement

(3) การที่ผู้สืบสวน มาร้องขอหมายจับ ศาลจำต้องไต่สวนให้เห็นเหตุด่วนอย่างยิ่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งศาลอาญา ไม่ได้ไต่สวน ในประเด็นนี้ทำให้ “ผิดหลง” ในการออกหมายจับ

  • 2.การออกหมายจับในชั้น “สืบสวน หรือ ชั้นจับกุม” โดยไม่ปรากฏ “เลขคดีอาญา” เฉกเช่นในชั้นการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สุ่มเสี่ยง ทำให้หมายจับ “ลอย” ตรวจสอบไม่ได้ เช่น หมายจับ คดีอาญาที่ 1/2566 หรือหมายจับในคดีอาญาที่ 2/2566 แต่หมายจับชั้นสืบสวนหรือชั้นจับกุม น่าจะไม่มีหมายเลขคดีอาญา ทำให้หมายจับ “ลอย” สุ่มเสี่ยงนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ศาลพึงไต่สวนประเด็นนี้ให้ชัดแจ้ง การที่ศาลอาญาไม่ได้ไต่สวนประเด็นนี้ ทำให้ “ผิดหลง” ในการอนุมัติหมายจับ
  • 3.ในการขอหมายจับข้อหา “สมคบฯ” ที่มีการ “ซัดทอด” ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 153 บัญญัติให้ ต้องมีคำอนุญาตจาก เลขา ป.ป.ส.ก่อน เพราะ

(1) การจับมีวัตถุประสงค์ คือจับมาเพื่อแจ้งข้อหาและสอบสวน หาก เลขา ป.ป.ส.ยังไม่อนุมัติให้แจ้งข้อหา เวลาจับมา แล้วไม่แจ้งข้อหา หรือแจ้งข้อหาแต่การแจ้งไม่ชอบ ทำให้การจับไม่ชอบด้วย เพราะจับมาโดยไม่มีอำนาจแจ้งข้อหา

(2) ประเด็นนี้ ศาลอาญายังไม่ได้ไต่สวน การที่ศาลอนุมัติหมายจับจึง “ผิดหลง”

Advertisement
  • 4. การออกหมายจับของศาลอาญา

(1) เป็นการออกให้ผู้จับกุม หรือผู้สืบสวน ซึ่งผิดหลักปฏิบัติของการออกหมายจับปกติ (ปกติ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากพนักงานสอบสวนก่อน)

(2) การออกหมายจับในชั้นสืบสวน น่าจะไม่มีเลขคดีอาญาอันเป็นสารบบการดำเนินคดีอาญาของ สนง.ตร. รองรับ ทำให้หมายจับลอย ยากแก่การตรวจสอบ และสุ่มเสี่ยงถูกนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง

(3) ชั้นจับกุม หากมีเหตุเร่งด่วน + คดีมีหลักฐานตามสมควร ผู้สืบสวนย่อมจับผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตาม ป.วิ.อ.ม. 78 การที่มาร้องขอหมายจับได้ย่อมแสดงว่าคดีไม่มีความเร่งด่วน การที่ศาลออกหมายจับ น่าจะ “ผิดหลง”

(4) หากข้อหาตามหมายจับที่ร้องขอ เช่น ข้อหา สมคบฯ หากยังไม่ได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจาก เลขา ป.ป.ส.ให้ แจ้งข้อหา หากออกหมายจับแล้ว ไปจับผู้ต้องหาตามหมายจับมาก่อนหรือระหว่างการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้แจ้งข้อหาหรือไม่ ย่อมทำให้การจับ ไม่อาจแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาได้ ย่อมทำให้การจับไม่ชอบ และการออกหมายจับไม่ถูกต้อง

  • 5.ดังนี้การเพิกถอนหมายจับของศาลอาญา เห็นว่าถูกต้องในผล แต่เหตุที่ให้คือ แจ้งว่าได้รับคำแนะนำจากอธิบดีผู้พิพากษา หรือผู้บริหารศาลนั้นไม่ถูกต้อง ควรอ้างเหตุตามข้อ 1-4 ข้างต้น
  • 6.เมื่อการอนุมัติหมายจับบุคคล “ยังมีข้อระแวงให้สงสัยว่าคดีมีความเร่งด่วนหรือไม่” และเหตุใดผู้ร้องขอหมายจับ จึงเป็นเจ้าพนักงานในชั้นสืบสวน มิใช่พนักงานสอบสวน โดยยังไม่ผ่านการกลั่นกรองจาก ผกก.หรือ ผบก. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตาม ป.วิ.อ.ม. 18 ประกอบคำสั่ง ตร.ที่ 419/2556 สุ่มเสี่ยงที่จะนำหมายจับที่ออกโดยศาลไปใช้ในทางที่อาจทำให้บุคคลเสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพ ที่ศาลอนุมัติหมายจับไปนั้นจึงเป็นการ “ผิดหลง” เห็นสมควรเพิกถอนและให้ผู้ร้องกลับไปดำเนินการสอบสวนให้ถูกต้องตามขั้นตอนเสียก่อน ตาม ป.วิ.อ.ม. 15 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 27 จึงจะถูกต้อง การที่ศาลอาญา เพิกถอนหมายจับ โดยอ้างว่าได้รับคำปรึกษาจากผู้บริหารศาล และผู้ต้องหาเป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่งเป็น ส.ว. จึงไม่ถูกต้องด้วย “เหตุ” แต่ชอบด้วย “ผล”
  • 7.ผู้เขียนเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมในส่วนของอำนาจตุลาการของศาลไทย ยังมีความเป็นอิสระ และเชื่อมั่นได้ว่ายังไม่อาจแทรกแซงได้ แม้การอธิบายของศาลอาจไม่ชัดเจน ตรงโจทย์ของสังคม แต่การถ่วงดุลและความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในระบบศาลไทย ยังเข้มแข็งและเชื่อมั่นได้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image