เปิดที่มา ‘ยุบสภา’ ครั้งแรกในปวศ.ไทย เหตุเกิดเพราะญัตติ ‘ส.ส.ร้อยเอ็ด’

พระยาพหลพลพยุหเสนา

ในที่สุดวันนี้ 17 มีนาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็แย้มวาจา ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ ว่าเตรียม ‘ยุบสภา’ รอประกาศราชกิจจาฯ ส่วนจะเป็นวันที่ 20 มีนาคมหรือไม่ นายกฯ บอกให้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน

ย้อนกลับไปในอดีต นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ประชาธิปไตย มีการบัญญัติเรื่องการ ‘ยุบสภา’ ไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มาตรา 35

ข้อมูลจากบทความ ‘การยุบสภาผู้แทนราษฎร : ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ’ โดย อภิวัฒน์ สุดสาว ใน จุลนิติ พ.ค.-มิ.ย.54 ระบุว่า ในพ.ศ.2476 ไทยเริ่มมีวิธีการคล้ายยุบสภา กล่าวคือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ได้ดำเนินการขอพระราชทานพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 เพราะเกิดความขัดแย้งภายในคณะรัฐมนตรีอย่างรุนแรงในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่อาศัยแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นพื้นฐาน โดยกล่าวหาว่า เค้าโครงดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นคอมมิวนิสต์

พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร งดใช้บทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ยุบคณะรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ การดำเนินการเช่นนี้ คล้ายยุบสภา เพราะมีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ห้ามมิให้เรียกประชุม และรอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการเรียกว่ายุบสภา และมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การยุบสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

Advertisement
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

สำหรับการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นใน พ.ศ.2481 ในรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ระบุไว้ในบทความ ‘การยุบสภา พ.ศ. 2481’ เผยแพร่ในฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ว่าการยุบสภา พ.ศ.2481 เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ถือได้ว่าเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481

สาเหตุเนื่องมาจากความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสภาสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี อันเนื่องมาจากการเสนอญัตติของ นายถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2481 เรื่อง “ญัตติข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร” โดยญัตติดังกล่าวเป็นการขอแก้ข้อบังคับการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2477 ข้อ 68 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทราบรายการและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในงบประมาณแผ่นดินให้ละเอียดยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ อันจะทำให้การพิจารณางบประมาณของสภารวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสาระสำคัญในการแก้ไขมีดังนี้

Advertisement

“ข้อ 68 การเสนอญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนั้น ให้ยื่นตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะพิจารณาเห็นสมควรแก่การพิจารณาของสภาและให้แสดงบัญชีรายละเอียดประกอบพร้อมบันทึกคำชี้แจงต่อไปนี้

ก. การตั้งประเภทเงินรายได้ ให้ลดจำนวนรับทั้งสิ้นโดยไม่หักรายจ่ายใด ๆ และมีบันทึกแสดงหลักเกณฑ์การคำนวณ เป็นต้น อัตราที่จัดเก็บสถิติต่าง ๆที่วางเป็นหลักเก็บ แสดงจำนวนเงินที่ประมาณจะเก็บได้ในปีแห่งงบประมาณเงินค้างเก่าประมาณจะเก็บได้ในปีแห่งงบประมาณ และเงินที่ตั้งเก็บจะมีค้างยกไปเก็บในปีต่อ ๆ ไป ให้แยกรายการประมาณละเอียดเป็นประเภทของเงินรายได้

ข. คำขอตั้งเงินจ่ายประจำให้แยกเป็นรายกระทรวงและกรมใดกรมหนึ่ง ๆ ต้องมีรายละเอียดดังนี้

(1) ประเภทและลักษณะเงินคือเงินเดือนค่าใช้สอย และจราจร

(2) แสดงรายละเอียด กล่าวคือ

เงินเดือนให้แสดงอัตราจำนวนคนและจำนวนเงินเป็นรายตำแหน่งตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน

ค่าใช้สอย ให้แสดงลักษณะของจำนวนเงินที่จะจ่ายตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเห็นสมควรแก่การพิจารณาของสภา

การจร ให้แสดงว่าจะทำอะไร ถ้าทำเสร็จจะเป็นเงินเท่าใดปีแห่งงบประมาณนี้จะทำเพียงใดและจ่ายเงินเท่าใด ในปีต่อไปจะจ่ายอีกเท่าใด

ค. คำขอตั้งเงินจ่ายพิเศษนั้น ให้แยกเป็นรายการสิ่งที่พึงทำการขอจ่ายเงินประเภทนี้ต้องมีบันทึกโครงการโดยละเอียด แสดงจำนวนเงินที่จะต้องการจ่ายว่าจะจ่ายอย่างไร กิจการที่ทำนั้นจะสำเร็จตามโครงการในปีแห่งงบประมาณนั้นหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะเหลื่อมไปจ่ายในปีต่อ ๆ ไปปีละเท่าไรจนกว่าจะเสร็จถ้าเป็นเงินขอจ่ายสำหรับกิจการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จในปีก่อนซึ่งต้องเหลื่อมมาจ่ายในปีแห่งงบประมาณนี้ ก็ต้องชี้แจงให้ทราบว่าได้จ่ายมาตั้งแต่ต้นอย่างไร อนึ่งให้ชี้แจงด้วยว่าเมื่อการจ่ายเงินประเภทนี้ได้เสร็จลงตามโครงการนั้นแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้รับตอบแทนโดยตรงนั้นมีอย่างไร ความในข้อ ก. และ ข. นั้น มิให้ใช้บังคับสำหรับกิจการที่รัฐบาลเห็นว่าควรสงวนเป็นความลับ”

ถวิล อุดล

ในอภิปรายญัตตินี้นายถวิล อุดล ผู้เสนอญัตติได้กล่าวชี้แจงมีใจความสำคัญคือ “ในการเสนอญัตตินี้ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในตัวเลขแห่งงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลได้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอย่างคลุมเครือไม่ชัดแจ้ง จนเป็นปัญหาว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจจะพิจารณาในหลักการแห่งงบประมาณนั้นได้ เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้จึงได้เสนอญัตติฉบับนี้ขึ้นมาโดยมีหลักการว่า การทำงบประมาณนั้นขอให้รัฐบาลเสนอมาโดยมีรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นทั้งสามด้านได้แก่ อ่านรายจ่ายประจำ รายรับและรายจ่ายพิเศษ”

ทางรัฐบาลโดยพระยาไชยยศสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า “ไม่สามารถจะทำได้ตามที่สมาชิกต้องการ เพราะรายละเอียดตามงบประมาณนั้นมีมาก จะต้องทำสำเนาเอกสารเป็นจำนวนมาก ไม่มีเวลาพอที่จะจัดการให้ทันตามกำหนดเวลาเสนองบประมาณ ทั้งจะต้องสิ้นเปลืองรายจ่ายในการดำเนินการเป็นอันมาก”

นอกจากนี้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยสุจริตใจว่าข้อบังคับอันนี้รัฐบาลรับไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะลงมติไปว่าให้รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับนี้ แต่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการผูกมัดเกินไป และไม่มีใครเขาทำกันในโลกนี้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลต้องรับร่างข้อบังคับนี้ไปแล้ว เมื่อไม่สามารถกระทำได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลจะลาออกหมด”

เมื่อมีการลงมติผลปรากฏว่า ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนนเสียง 45 ต่อ 31 เป็นอันว่ารัฐบาลพ่ายแพ้ในญัตติดังกล่าว ทั้งนี้เพราะว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่ในห้องประชุมน้อย

นอกจากนี้ภายหลังการลงมติได้เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างสมาชิกประเภทที่ 1 ที่เสนอญัตติดังกล่าว กับรัฐบาลและสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งสนับสนุนรัฐบาล กล่าวคือ ในการพิจารณาเรื่องจะส่งร่างข้อบังคับดังกล่าวให้กรรมาธิการคณะใดตรวจแก้นั้น รัฐบาลไม่ยินยอมปรึกษาพิจารณาด้วย แม้ฝ่ายรัฐบาลมีสมาชิกประเภทที่ 2 รัฐมนตรีตลอดจนนายกรัฐมนตรี จะได้รับการเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญ ท่านนั้น ๆ ก็ปฏิเสธสิ้น ที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 7 นาย จากสมาชิกประเภทที่ 1 ล้วน ๆ ขึ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว

เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สมาชิกประเภทที่ 1)ใหม่ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2481 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image