จับตา ‘วิษณุ’ ถก กกต. 20 มี.ค. ติวเข้มการทำงานหลังยุบสภา หารือไทม์ไลน์เลือกตั้ง

แฟ้มภาพ

‘วิษณุ’ เรียกถก กกต.ติวเข้มแนวปฏิบัติ ครม.-ขรก.หลังยุบสภา ชี้ต้องยึดตาม รธน. ม.168 พร้อมกำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้ง ขณะที่ กกต.จ่อประชุม 21 มี.ค.เคาะวันกาบัตร-รับสมัคร

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการหารือกับ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะ ในช่วงเช้าวันที่ 20 มีนาคม ถึงแนวปฏิบัติของข้าราชการ ภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา คาดว่าจะเป็นการเน้นย้ำให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง และให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังคงสามารถประชุมและบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ โดยการปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 ที่กำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติ ดังนี้

1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

2.ไม่แต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่ง หรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

Advertisement

3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

นอกจากนี้ จะมีการหารือถึง ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ซึ่งตามแผนงานที่ กกต.วางไว้นั้น เมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มีนาคม กกต.จะมีการประชุมในวันที่ 21 มีนาคม เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้ง และเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 3-7 เมษายน โดยจะรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด และเริ่มรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ในวันที่ 4 เมษายน เนื่องจากการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว

Advertisement

ขณะที่งบประมาณการจัดการเลือกตั้งที่ ครม.อนุมัติวงเงินรวม 5,945 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในภารกิจที่สำนักงาน กกต.ดำเนินการ 5,100 ล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้ประมาณ 4,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80 จากวงเงินที่ขอไป ส่วนงบประมาณของหน่วยงานสนับสนุนทางสำนักงบประมาณจะมีการจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานดังกล่าว

ส่วนปัญหาการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ได้ยืนยันแล้วว่าดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมาตรา 17 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 กำหนด มิให้นำมาตรการ หรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับกับการฟ้องคดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image