‘เบนจา’ ลั่น อยู่ที่ทำตัว ดักคอฝ่ายประชาธิปไตย ต้องไม่จับมือ ‘3 ทรราช 5 พรรค’ ซูมนโยบายเทียบชัดๆ วอนช่วยกันเสริมกำลัง-อุดรอยรั่ว หยุดวงจรรัฐประหาร ปราบเผด็จการ
เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่ห้องประชุมใหญ่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ กลุ่มราษฎรและแนวร่วม นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ และ น.ส.เบนจา อะปัญ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่มวีโว่ และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมแถลงเดินหน้าก้าวต่อไปของฝ่ายประชาธิปไตย ในแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) เพื่อเสนอทิศทางการเมืองไทย ต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในการเลือกทั่วไป พ.ศ.2566 ซึ่ง กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้
ในตอนหนึ่ง น.ส.เบนจา กล่าวถึงหลักการที่ 2.การเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยชนะไปด้วยกัน เพื่อผนึกกําลังพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล
น.ส.เบนจากล่าวว่า เวลาที่มนุษย์ หรือกลุ่มคนจะขึ้นมามีอำนาจได้ เราใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘กระสุน’ ให้ได้มาซึ่งอำนาจ เข่นฆ่า ทำสงครามกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าใครจะมีอำนาจ ต่อมามนุษย์ก็ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ นั่นคือระบอบประชาธิปไตย เราเปลี่ยนจากการใช้กระสุนเป็น ‘บัตรเลือกตั้ง’ แล้วปากกาเกี่ยวอะไร
“ปากาที่เราใช้กัน เป็นอาวุธได้ เราไม่จำเป็นจะต้องใช้กระสุนฆ่ากัน เสียเลือดเนื้อหรือล้มตายเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครอง แต่ปากกานี้จะเป็นอาวุธที่นำพาเราไปสู่การเปลี่ยนแปลง ปากกาเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านการเลือกตั้ง” น.ส.เบนจาชี้
น.ส.เบนจากล่าวต่อว่า การเลือกตั้งจะนำพาไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคมนาคม สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม การศึกษา สิทธิเสรีภาพ สวัสดิการ สาธารณสุข หรือแม้กระทั่งเรื่องปากท้องหรือเศรษฐกิจก็ตาม แต่การพัฒนาด้านต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เพียงพอ
“การเลือกตั้งในครั้งนี้ ต้องไม่เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่เวลา 8-9 ปีที่เราเผชิญหน้า หลายคนผ่านเหตุการณ์ การเมืองในไทยแทบจะไม่เสถียร เรามักถูกแทรกแซง โดยอำนาจเผด็จการ ผ่านการทำรัฐประหารมาโดยตลอด ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเป็นประเทศที่ดีกว่า ประเทศที่พัฒนา สิ่งสำคัญคือต้องไม่สืบทอดเผด็จการ และตัดวงจรรัฐประหารทิ้งเสีย”
เราต้องไม่จับมือกับ 3 ทรราช และ 5 พรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ เราคงจำได้ดีว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง ค้านกันไปแค่ไหน ใครเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ ต่อ 3 ทรราชนี้ เราคุ้นเคยคือ ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ หรือ แก๊ง 3 ป.
และ 5 พรรคหลัก ที่เคยต่ออำนาจให้เผด็จการ อย่าเพิ่งลืม ตัวอย่างพรรคพลังประชารัฐ ตัวดีเบอร์ 1 ของเรา รวมทาสสร้างไทย (รวมไทยสร้างชาติ) พรรคใหม่ของประยุทธ์ ต่อมาภูมิใจไทย ของอนุทิน การจัดการโควิดที่ผ่านมาของเรา ประสบพบเจอหายนะอย่างไรบ้าง ผู้คนต้องสูญเสียไปเท่าไหร่ เศรษฐกิจล้มระเนระนาด เกิดการกั๊ก ผูกขาดวัคซีน เราอย่าลืมผลงานของพรรคนี้ ต่อมาประชาธิปัตย์ ไม่อยากพูดเยอะ ยังเป็นประชาธิปัตย์อยู่วันยังค่ำ และพรรคกล้า ที่ตอนนี้เปลี่ยนใหม่ไปเป็น ชาติพัฒนากล้า” น.ส.เบนจากล่าว
น.ส.เบนจากล่าวต่อว่า นอกจากพรรคที่สืบทอดอำนาจ และ 3 ทรราชแล้ว ยังมีพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งในขอบเขตคือไม่ได้ทำการต่ออำนาจให้ คสช. ซึ่งตนจะขอพาส่องนโยบายของพรรคต่างๆ
เริ่มจาก พรรคก้าวไกล ปิดสวิตช์ 3 ป. ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปที่ดิน กระจายอำนาจ ลดค่าไฟ ขึ้นค่าแรง
พรรคเพื่อไทย เด่นด้านเศรษฐกิจ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ภายในปี 2570 เรื่องค่ารถไฟฟ้า คนไทยมีน้ำดื่ม-น้ำใช้ตลอดปี เรื่องยาเสพติด เรื่องการจัดสรรที่ดิน
พรรคเสรีรวมไทย 14 นโยบาย ปราบทุจริต ปฏิรูปกองทัพ ยาเสพติดเป็นศูนย์ บำนาญประชาชน น้ำมัน-ไฟฟ้าราคาถูก
พรรคไทยสร้างไทย มีบำนาญประชาชน จัดการน้ำให้ทั่วถึง 30 บาท+ สมรสเท่าเทียม ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ตัดลดงบซื้ออาวุธ หรือแม้กระทั่งการปราบปรามยาเสพติด
พรรคสามัญชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สวัสดิการต่างๆ สมรสเท่าเทียม ส่งเสริมคนพิการให้เข้าถึงการศึกษา ยกเลิกเกณฑ์ทหาร แรงงานและเศรฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรม
พรรคประชาชาติ แก้ไขและปฏิรูปกฏหมาย ส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการ แก้ปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำด้านเศรฐกิจ สิทธิเสรีภาพ ขจัดการทุจริต เกษตรกรมีที่ดินทำกิน และปัญหายาเสพติด
น.ส.เบนจากล่าวว่า ที่หยิบตัวอย่างของพรรคการเมืองมา ยังมีรายละเอียดที่บางอย่างใกล้เคียงกัน จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนในฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าเราร่วมมือกัน จะสามารถเสริมกำลัง และอุดรอยรั่วซึ่งกันและกันได้
จากนั้น น.ส.เบนจากล่าวถึงมุมมองนโยบาย โดยซูมเข้าไปถึงการแก้ไขปัญหาการเมืองของพรรคที่ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ดังนี้
พรรคสามัญชน จุดยืนชัดเจน ยกเลิก 112 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พรรคเพื่อไทย เรื่อง ม.112 ก็บอกว่า ต้องมีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วยเหตุผลกันในสภา นอกจากนี้ ยังพูดถึงเรื่องการนิรโทษกรรมว่าจะเป็นทางออกความขัดแย้งทางหนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการขจัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ รัฐธรรมนูญประชาชน และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พรรคก้าวไกล ชัดเจนเรื่องการแก้ไข ม.112 พูดถึงการนิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปลดล็อกประเทศไทย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พรรคเสรีรวมไทย ปรับรายละเอียด ม.112 ไม่ใช่ใครไปแจ้งความก็ได้ ปฏิรูป กกต. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พรรคไทยสร้างไทย เรื่อง ม.112 ควรใช้สภาเป็นทางออก การนิรโทษกรรม ต้องมีพอดีระหว่างบุคคลธรรมดาที่ไปร่วมชุมนุม และคนที่มีบทบาทสำคัญ และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร.
พรรคประชาชาติ สนับสนุนให้มีการปรับปรุงกลไก การนำ ม.112 มาใช้ เสนอให้มีการร่างรับธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
พรรคเพื่อชาติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
น.ส.เบนจากล่าวว่า ตัวอย่างที่ยกมาคร่าวๆ ทั้งที่ให้สัมภาษณ์ และการแสดงจุดยืนของพรรค หลายสิ่งช่วยปลดล็อกการเมือง และพัฒนาประเทศชาติ ถ้าเราร่วมมือกัน นโยบายที่ฝ่ายประชาธิปไตยคาดหวัง มีโอกาสสำเร็จได้
“ ‘เลือกคนที่ชอบ กาพรรคที่ใช่ ไม่สืบทอดอำนาจเผด็จการ’ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องไม่จับมือกับ 3 ทรราช และ 5 พรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ สำคัญมากคือ พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องจับมือกันโค่นอำนาจเผด็จการ หลายพรรคแสดงจุดยืนการจับมือ บางพรรคยังไม่แสดงจุดยืน เราจะเป็นคนกำหนดชะตาประเทศเรา ด้วยอาวุธน้อยๆ ในมือเรา นั่นคือ ปากกา”
“พรรคไหนที่ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้ว ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้มากขึ้น ว่าคุณได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาชน ถ้าเราเลือกคุณ สิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าพรรคไหนที่ยังไม่ได้ให้คำมั่น หรือประกาศจุดยืนชัดเจน ก็อาจจะทำให้ลังเลได้ ส่วนพรรคไหนที่ประกาศจุดยืนแล้วไม่นำไปทำตามคำพูดในสภา ถึงสมัยหน้า คนเขาก็ไม่กลับมาเลือกคุณ
อยากให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตย มั่นคง จับมือกันเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำตามที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ให้ได้ วันนี้เราอาจจะเรียกบางพรรคว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่สิ่งถาวรตลอดกาล ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่คุณทำตัว” น.ส.เบนจากล่าว
อ่านข่าว :
- ‘มายด์’ ย้ำ นายกต้องเป็นส.ส. ‘ฝ่าย ปชต.ต้องแลนด์สไลด์’ ขอแรงแสนคน ถ่ายใบนับหน้าคูหาให้ได้!
- ราษฎรคัมแบ๊ก! อานนท์-รุ้ง-มายด์ แถลง 3 จุดยืนหลังยุบสภาฯ เปิดตัว ‘โหวตเพื่อเปลี่ยน’