‘เติร์ด’ ยกโพล ชี้ชัด ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ต้องจับมือ! ปชช.คาดหวังสูงมาก หวัง ส.ว.มีจิตสำนึก

‘เติร์ด’ ยกโพล ชี้ชัด ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ต้องจับมือ! ปชช.คาดหวังสูงมาก หวัง ส.ว.มีจิตสำนึก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 28 มีนาคม ที่ห้องประชุมใหญ่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ กลุ่มราษฎรและแนวร่วม นำโดย น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ และ น.ส.เบนจา อะปัญ ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร หรือ เติร์ด โฆษกกลุ่มวีโว่ และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ร่วมแถลงเดินหน้าก้าวต่อไปของฝ่ายประชาธิปไตย ในแคมเปญ “โหวตเพื่อเปลี่ยน” (Vote for Change) เพื่อเสนอทิศทางการเมืองไทย ต่อพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในการเลือกทั่วไป พ.ศ.2566 ซึ่ง กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้

ในตอนหนึ่ง นายรัฐภูมิ กล่าวถึงภาพรวมว่า ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยถึงต้องจับมือกัน ซึ่งผสมรวมกับความคาดหวังของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงประเด็น ส.ว.ที่ไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

นายรัฐภูมิ กล่าวว่า เลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ประชาชนให้ความคาดหวังสูงมาก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็มีความหมายและความสำคัญไม่ต่างกัน จากนิด้าโพล สำรวจช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเพียง 9.45% เท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจนายกฯ คนใด คำตอบออกมาประมาณว่า ยังไม่มีคนที่เหมาะสม ตีความได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ตรงกับความต้องการ

Advertisement

ส่วนอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งประชาชนให้ความคาดหวังสูงมาก มีผู้ตอบคำถามเพียง 3.25% เท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจ เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งตัวเลขต่ำมากๆ จากเปอร์เซ็นต์ที่ประชาชนตัดสินใจเลือกไปแล้ว ว่าจะเลือกพรคหรือนายกคนใด เมื่อเทียบกับปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าประชาชนตัดสินใจเลือกล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน

จากนั้น นายรัฐภูมิ กล่าวถึงเหตุผลที่ประชาชนตัดสินใจเลือกล่วงหน้าเร็ว โดยระบุว่า มีหลายปัจจัย ประเด็นหลักคือรัฐบาลชุดนี้ที่สร้างผลกระทบเลวร้ายให้กับประชาชนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ปัจจัยที่ 1 คือ 8 ปี ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนว่าการทำงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงจีดีพี โตเพียง 2.3% เท่านั้น

Advertisement

“นายกฯ ชอบอ้างว่า ช่วงโควิดใครๆ ก็จีดีพี ตกต่ำทั้งนั้น ทุกประเทศล้วนเจอเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างคือประเทศในอาเซียนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าไทย แปลว่าเขามีปัจจัยขั้นพื้นฐานและองค์ความรู้ในการรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดหมาย จึงรับมือได้เร็วกว่าไทย เป็นความไม่มีประสิทธิภาพ และทัศนคติของผู้นำรัฐบาล” นายรัฐภูมิชี้

ปัจจัยที่ 2 สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม สิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กลับพบว่าถูกลิดรอนไปอย่างน่าใจหาย 4 ปีที่ผ่านมา ค่าความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งจัดอันดับโดย ‘ฟรีดอมเฮ้าส์’ องค์กรสากล พบว่า 4 ปี ของรัฐบาลประยุทธ์ ภายใต้การเลือกตั้ง มีค่าเฉลี่ยความเป็นประชาธิปไตย น้อยกว่าสมัยที่ยังเป็น คสช.เสียอีก ปัจจัยเช่น จากการยุบพรรค การดำเนินคดี ม.112 กับเยาวชน สอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมายที่เราอยากเห็นการบังคับใช้กับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น กฎหมายฉบับเดียวกันกลับไม่ถูกปฏิบัติแบบเดียวกัน กลับเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำ เรื่องการพักในบ้านหลวง การดำรงตำแหน่งนากยฯ 8 ปี สะท้อนว่า ประชาชนฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ และอีกฝ่ายได้ประโยชน์

นายรัฐภูมิกล่าวต่อว่า เหตุใดพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ต้องจับมือกัน ปัจจัยที่ 1. เพราะคนที่สนับสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย มีมากกว่าฝ่ายเผด็จการ

เมื่อย้อนดูการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า พรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ได้คะแนนเสียงจากประชาชนไปถึง 15.99 ล้านเสียง หากรวมกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในภายหลัง มีประชาชนเลือกประมาณ 16.48 ล้านเสียง แต่ในทางตรงกันข้าม พรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ มีเพียง 8.84 ล้านเสียงเท่านั้น ยังไม่รวมพรรคที่เวลานั้นยังไม่มีจุดยืนชัดเจน เช่น ภูมิใจไทยประชาธิปัตย์ ดังนั้น หากเทียบสัดส่วน พบว่าพรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีมากกว่าถึง 1 เท่า หรือหมายความว่า มีประชาชนเท่าตัวหนึ่ง ที่ลงเสียงให้พรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจับมือกัน เพราะความคาดหวังของประชาชน อยากเห็นการทำงานร่วมกันเป็นรัฐบาล

จากนั้น นายรัฐภูมิ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการปี 2562 ซึ่งมีวาทกรรมทางการเมือง พรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า เหตุที่ได้จัดตั้งรัฐบาลเพราะคะแนน popular vote ได้รับ 8,400,000 เสียง มากกว่าเพื่อไทย 7,900,000 เสียง แต่ในความเป็นจริงแล้วธรรมเนียมทางการเมืองไทยไม่ได้ดูคะแนน popular vote ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ดูจำนวนเสียง ส.ส. และด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ พรรคเพื่อไทยจึงขาดคะแนนประมาณ 150 แห่ง จะเห็นว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีจุดยืนชัดเจนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มีเสียงมากกว่า

ต่อมา นายรัฐภูมิ มองนิด้าโพล เพื่อวิเคราะห์ทิศทางการเลือกตั้งในปัจจุบัน โดยโพลชี้ให้เห็นว่าประชาชนกว่า 50% ตัดสินใจเลือกพรรคที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจากนิดาโพล หรือไทยรัฐโพล ค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนต้องการเลือก 1. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ 2.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรึก้าวไกล ทั้ง 2 คนนี้คะแนนรวมกันก็เกินครึ่งหนึ่งแล้ว จึงค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนให้ฉันทานุมัติ ซึ่งสัดส่วนอันดับ 1 และอันดับ 2 กินห่างเกิน 50% ไปแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าประชาชนต้องการเห็นพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้

อีกปัจจัยที่ไม่กล่าวไม่ได้ ซึ่งเหมือนกันระหว่างปี 2562 และ 2566 เสียงสนับสนุนที่ชัดเจนคือ New Voter ในการเลือกตั้ง 2562 4 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้งทำให้มี New Voter เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น เมื่อดูแยกเจนเนอเรชั่น จะพบว่าปัจจุบัน เจน x ที่มีอายุ 42-57 ปี คงสัดส่วนประชากรได้มากถึง 30.80 เปอร์เซ็นต์ เจน Y 28.90 % แต่ปัจจัยในการเลือกรัฐบาล เมื่อนำเจน Y Z มารวมกัน จะมากกว่าเจน X ในทางตรงกันข้าม เราจะพบว่า เจน X และเบบี้บูมเมอร์ ในทุกปีจะมีค่าเฉลี่ยลดลงจากการตายหรือสูญหาย ตรงกันข้ามกับเจน Z ที่จะเติบโตขึ้นทุกปี จึงกล่าวได้ว่า New Voter มีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งและสนับสนุนประชาธิปไตย เนื่องจาก70 เปอร์เซ็นต์ ของเจน Z สนับสนุนเสรีประชาธิปไตย มากกว่ายืนข้างอนุรักษนิยม หรือพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และได้รับผลกระทบจากการทำงานที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือเมื่อเรียนจบ ก็พร้อมไปเป็นแรงงานอยู่ต่างประเทศ

“สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ทำต่อคนรุ่นนี้ ลองคิดดูว่าคนรุ่นนี้จะมีทัศนคติเลือกพรรคที่เป็นอนุรักษนิยม หรือพรรคที่สืบทอดอำนาจหรือไม่”นายรัฐภูมิชี้

นายรัฐภูมิกล่าวถึง ถึงปัจจัยที่ 2 ที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกัน ซึ่งจะเห็นว่าต่างมีหลักการพื้นฐานด้านนโยบายและแนวคิดที่สอดคล้องกัน

“ไม่ว่าค่าแรงขั้นต่ำ ที่เพื่อไทยจะขึ้น 600 บาท/วัน ในปี 2570 ส่วนก้าวไกลจะขึ้นทันที ดีเทลอาจจะแตกต่าง แต่พื้นฐานและหลักการสำคัญ คือต้องการขึ้นค่าแรง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

หรือแก้ไขกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นพ้องว่ากฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการบังคับใช้และเนื้อหา พร้อมจะมีพื้นที่พูดคุยหาทางออก ไม่ว่าจะแก้ไขหรือยกเลิกก็ตาม

อีกสิ่งที่มีร่วมกัน คือการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เขามองเห็นคุณค่าและความเท่าเทียมกันของประชาชน ปัจจัยที่สอดคล้องกันนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จ หากจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน

ดังนั้น จึงแตกต่างกันว่า เหตุใดพรรคฝ่ายประชาธิปไตยถ้าจับมือฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน มีแนวโน้มที่นโยบายจะไม่สำเร็จ” นายรัฐภูมิกล่าว

นายรัฐภูมิ กล่าวต่อว่า ประเด็นสุดท้ายเรื่องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เหตุใดจึงไม่ควรโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่ได้มีที่มาจากประชาชน มีการแต่งตั้งผ่าน คสช. เลือก 194 คน แต่งตั้งโดยตำแหน่ง 6 คน และ กกต. เสนอชื่อให้ คสช. เลือกอีก 50 คน รวม 250 คน ซึ่งกระบวนการไม่ผ่านเสียงและความยึดโยงของประชาชน

“คุณ (ส.ว.) อาจจะตัดสินใจเลือกไม่ลงคะแนน หรืออาจจะตัดสินใจเลือกตามเสียงของประชาชนที่โหวตให้กับพรรคการเมืองเสียงข้างมาก หากคุณทำตามที่เราเสนอ หรือทำตามความเป็นจริงทางการเมือง จะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และผมก็หวังว่า ส.ว.จะมีจิตสำนึกมากพอที่รู้ว่าประเทศนี้ อำนาจสูงสุดเป็นของใคร” นายรัฐภูมิกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image