ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจากไปกระทันหันของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ หัวเรือใหญ่ของ ตระกูลอัศวเหม ทำให้ผู้คนเฝ้ารอดูว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ใครจะขึ้นมารับไม้ต่อเป็นคนต่อไป
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเกิดขึ้นของ พรรคไทยรักไทย ประกอบกับการที่ นายวัฒนา อัศวเหม เจ้าพ่อปากน้ำ ต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ จากคดีคลองด่าน ทำให้ตระกูลอัศวเหมไร้ที่ยืนในการเลือกตั้งใหญ่ไปเกือบ 20 ปี
กระทั่ง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ของตระกูล นับตั้งแต่ พูลผล อัศวเหม พี่ชายคนกลาง เสียชีวิตกระทันหันตั้งแต่ปี 2558 เขาได้พยายามฟื้นพื้นที่ของตระกูลให้กลับมาในการเมืองระดับชาติหลายครั้ง
แต่มาสำเร็จได้ เมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หลังกลุ่มปากน้ำ เข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับเลือกถึง 5 คน ประกอบด้วย 1.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก 2.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 3.น.ส.ภริม พูลเจริญ 4.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร 5.นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และภายหลังได้เลื่อนลำดับให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ
โดยส.ส.กลุ่มนี้ มีอิทธิพลถึงขนาดมติแหกลงมติไม่ไว้วางใจ “บิ๊กป็อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน จนกระทั่ง “บิ๊กตู่” ต้องให้โควต้ารมต. ตามที่ได้ร้องขอ
แน่นอน “สุนทร ปานแสงทอง” รมช.เกษตรและสหกรณ์ คือตัวแทนจากบ้านใหญ่อัศวเหม
สำหรับการเลือกตั้งรอบใหม่ ปี 2566 เป็นที่จับตามองมาก เพราะก่อนการเลือกตั้งกลุ่มปากน้ำถือว่า เนื้อหอมมีหลายพรรคมารุมจีบ แม้ที่สุดจะยืนยันยังอยู่กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่พลังประชารัฐ
แต่ได้เตรียมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดัน “คนรุ่นใหม่” รวมไปถึงคนของตระกูลอัศวเหม ที่มีบทบาทในท้องถิ่นสมุทรปราการ ให้มายืนอยู่แถวหน้า ของสนามการเมืองระดับชาติ
โดยเฉพาะ ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ ที่มีคนในตระกูลนี้ ลงเลือกตั้งถึง 5 คน
โดยในจำนวน 8 คน 8 เขต ของทีมพลังประชารัฐ สมุทรปราการ มีผู้สมัครถึง 3 คน ที่มีนามสกุลอัศวเหมต่อท้าย และยังปรากฎคนในตระกูลอัศวเหม ในบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 8 ของพรรคพลังประชารัฐด้วย
ที่สำคัญ “เพลง” ชนม์ทิดา อัศวเหม ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน ของ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ ข้ามฟากไปปรากฎชื่อในลำดับ ที่ 5 ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคภูมิใจไทย อีกต่างหาก
คนแรก : อัครวัฒน์ อัศวเหม ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต 1 สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ
นายอัครวัฒน์ เป็นลูกของพี่ชายนายวัฒนา จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เริ่มต้นการเมืองในพื้นที่จ.สมุทรปราการ โดยเป็นส.จ.หลายสมัย เคยลงเลือกตั้งส.ส.หลายครั้ง ตั้งแต่พรรคมหาชน พรรคมาตุภูมิ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในสมัยที่ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เป็นนายกอบจ. สมุทรปราการ นายอัครวัฒน์ มาทำหน้าที่เคียงข้างในฐานะรองนายกอบจ. กระทั่งกลุ่มปากน้ำยกทีมเข้าพรรคพลังประชารัฐ นายอัครวัฒน์ จึงได้รับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.สมุทรปราการ สมัยแรก ในปี 2562 ปัจจุบันอายุ 58 ปีแล้ว ต้องทำศึกรักษาเก้าอี้กับ “หมิว” แพรวพรรณ พุกพิบูลย์ คนรุ่นใหม่ จากเพื่อไทย
คนที่สอง : วรพร อัศวเหม ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ
นายวรพร เป็นลูกของ นายสมพร อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ น้องนายชายวัฒนา มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น อดีตเคยเป็นประธานสภาเทศบาลตำบลบางปู โดยในปี 2564 เป็นตัวแทนของกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ลงชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีตำบลบางปู แต่ไม่สำเร็จ แพ้ให้กับ นายธีรพล ชุนเจริญ เจ้าของเก้าอี้ 3 สมัยซ้อนจากทีมบางปูยั่งยืน มารอบนี้ถูกดันขึ้นมาการเมืองสนามใหญ่ ชนกับ นางสัมฤทธิ์ เหมะ จากเพื่อไทย ภรรยา นายวรชัยเหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ และแกนนำ นปช.
คนที่สาม : ต่อศักดิ์ อัศวเหม ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ
นายต่อศักดิ์ เป็นหลานอีกคนของนายวัฒนา ถือเป็นอัศวเหมรุ่นที่ 3 เรียนจบสถาปัตยกรรม เพิ่งถูกส่งเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นเมื่อปี 2557 เคยเป็นรองนายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ด้วยความรู้ที่มี ได้มาช่วยงาน นายชนม์สวัสดิ์ ในการนำเสนอโครงการต่างๆ โดยในปี 2562 ถูกวางตัวให้ลงส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ แต่ถูกร้องขอให้ขึ้นบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ อันดับที่ 22 เพื่อหลีกทางให้ น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ลงแทน กระทั่ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ต้องคดีร่วมชุมนุมกปปส. ได้เลื่อนลำดับเป็นส.ส. มารอบนี้ ได้ลงสมใจ แต่ต้องรับศึกหนัก นอกจากต้องสู้กับ น.ส.ไพลิน อดีตเพื่อนร่วม ที่ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว ยังต้องเจอ นายประชา ประสพดี อดีตมท.3 จากเพื่อไทย ที่เพิ่งพ้นโทษแบนกลับมาลงสนามอีกด้วย
คนที่สี่ : พิม อัศวเหม ว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 8 พรรคพลังประชารัฐ
น.ส.พิม ถือเป็นคนรุ่นที่ 3 ของตระกูลอัศวเหม เป็นลูกสาวของ นายพูลผล ลูกชายคนกลางอันล่วงลับของนายวัฒนา พี่ชายแท้ๆของนายชนม์สวัสดิ์ กับ นางประภาพร อัศวเหม พี่สะใภ้ที่นายชนม์สวัสดิ์ สนับสนุนให้ลงเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ และคว้าชัยในที่สุด โดย น.ส.พิม เป็นผู้ช่วย ติดสอยห้อยตามนายชนม์สวัสดิ์เวลาลงพื้นที่ และทำกิจกรรมกับกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าเสมอ กระทั่งถูกดันขึ้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองท้องถิ่น ในฐานะสมาชิกสภาอบจ.สมุทรปราการ เขตอ.พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ชื่อ น.ส.พิม เป็นที่ฮือฮา เพราะมีชื่อเป็นอยู่ลำดับที่ 8 ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ อันดับสูงกว่าบิ๊กการเมืองหลายคนในพรรค ทั้งๆที่อายุยังน้อย
คนที่ห้า : ชนม์ทิดา อัศวเหม ว่าที่ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 5 พรรคภูมิใจไทย
น.ส.ชนม์ธิดา เป็นลูกสาวของ นายชนม์สวัสดิ์ กับ ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย เคยมีผลงานบันเทิง ภายหลังจาก แม่ของเธอได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกอบจ.สมุทรปราการ ได้เข้ามาในการเมืองท้องถิ่นเต็มตัวในฐานะเลขานุการนายกอบจ.สมุทรปราการ ปัจจุบันคบหาอยู่กับ นายเศรณี ชาญวีรกูล ลูกชายคนเล็กของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ น.ส.ชนม์ธิดา สร้างความฮือฮาด้วยการมาเปิดตัวพรรคภูมิใจไทย ที่สำคัญยังมีชื่อเป็นผู้สมัครอยู่ในลำดับที่ 5 ของบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคภูมิใจไทยด้วย
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง