บทนำ : รัฐบาลจากเลือกตั้ง

บทนำ : รัฐบาลจากเลือกตั้ง

การเปิดรับสมัคร ส.ส.ดำเนินไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ 3 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตทั่วประเทศ และการเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ วันแรก 4 เมษายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ตัวเลข เฉพาะวันแรก ระบบ ส.ส.เขต มีผู้ลงสมัครทั้งสิ้น 3,990 คน จาก 60 พรรคการเมือง ขณะที่ระบบปาร์ตี้ลิสต์ มีพรรคการเมืองยื่นบั6ญชีรายชื่อผู้สมัคร 56 พรรค รวม 1,698 คน และมีพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ หรือแคนดิเดตนายกฯ 24 พรรค 35 รายชื่อ

การเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั้งสองระบบของ กกต.นั้น สิ้นสุดพร้อมกันในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน พรรคการเมืองที่ประสงค์แจ้งรายชื่อบุคคลที่มีมติจะเสนอสภาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้แจ้งรายชื่อไม่เกิน 3 ราย ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้งเช่นกัน ทั้งนี้เมื่อสิ้นสุดเวลาการรับสมัคร จำนวนผู้สมัคร ไม่ว่าแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบบบัญชีรายชื่อ และรวมถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแน่นอน แม้ว่าไม่มากเท่าวันแรก เนื่องจากยังมีบางพรรคที่มิได้แจ้งแคนดิเดตนายกฯต่อ กกต.

การเลือกตั้งครั้งนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ต้นสังกัดส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ออกมาแสดงท่าทีว่า จะยอมรับผลเลือกตั้ง เคารพการตัดสินใจของประชาชน ตามหลักการประชาธิปไตยสากล พรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด ต้องได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากไม่สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งได้ จึงเป็นคิวของพรรคที่มีที่นั่งลำดับรองลงมา และสุดท้ายต้องได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งที่เป็นหลักการขั้นพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ การเลือกนายกฯ กระทำในรัฐสภา ใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิก ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เป็นเกณฑ์ตัดสิน

ADVERTISMENT

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือก่อนหน้านั้น บัญญัติให้การโหวตเลือกนายกฯ ดำเนินการในสภาผู้แทนราษฎร ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก จากจำนวน ส.ส. 500 คนเป็นเกณฑ์การตัดสิน ภายหลังรัฐประหารปี 2557 มีการร่างกฎหมายแม่บทการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มีหน้าที่ อำนาจร่วมกับ ส.ส.โหวตเลือกนายกฯด้วย นำมาซึ่งความวิตก แม้มีการเลือกตั้ง แต่อาจไม่ให้ความสำคัญกับเสียงของ ส.ส.ตัวแทนประชาชน แต่ยึดการรวบรวมเสียงในรัฐสภาเป็นหลักตัดสิน การแสดงจุดยืนจะยึดหลักการประชาธิปไตยสากลของพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การลงหลักปักฐานประชาธิปไตยนั้น
เมื่อเริ่มจากเจตนารมณ์การใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นทางออก คืนอำนาจแก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ที่ถูกควรต้องฟังเสียงประชาชนที่สะท้อนผ่านผลเลือกตั้ง มอบความไว้วางใจแก่ใครในขั้นตอนสุดท้ายเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image