ผู้เขียน | พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ |
---|
ประชาธิปัตย์ไปต่อหรือพอแค่นี้
เมื่อหลายปีก่อนตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2548 และอีกหลายครั้ง หลายท่านคงเคยได้ยิน คำกล่าวถึงประชาธิปัตย์ ว่า ประชาธิปัตย์ผลัดใบ ในช่วง พ.ศ.2548 วันที่คุณอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมกับคนรุ่นใหม่ รุ่นกลางเรียงแถวกันมาเป็นกรรมการบริหารพรรค ในสัดส่วนเกือบๆ 90 เปอร์เซ็นต์ จนหลายคนมองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ หรือยุคผลัดใบของประชาธิปัตย์ สร้างความหวังให้แก่ผู้สนับสนุนประชาธิปัตย์เป็นจำนวนมาก และต่างเฝ้ารอดูคำว่า “ผลัดใบ” ว่าจะผลัดกันจริงไหม และเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหนในพรรคประชาธิปัตย์ ผลจากการผลัดใบครั้งนั้นความจริงแล้วก็สำเร็จอยู่ ได้สมาชิกหน้าใหม่ที่เป็นบุคลากรรุ่นใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทน ของประชาธิปัตย์อยู่หลายคน ผลจากการผลัดใบยังช่วยให้ประชาธิปัตย์ยังคงครองที่นั่งจำนวนมากในกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ได้อยู่ด้วย
แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พ.ศ.2566 ที่จะมาถึง ประชาธิปัตย์น่าจะผลัดใบอีกครั้ง หากแต่เป็นการผลัดใบที่ไม่แน่ใจนักว่า ใบใหม่หรือส่วนใหม่ๆ จะงอกเงยมาหรือไม่ อย่างไร หรือผลัดใบแล้วยืนต้นตาย ที่แน่ๆ แฟนคลับจำนวนมากของพรรคคงไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น
สถานการณ์ของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าเป็นห่วงและยังอาจส่งผลต่ออำนาจในการต่อรองเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค หากมีโอกาสได้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
จำนวนสมาชิกพรรคซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ และเป็นแม่เหล็กดึงดูดคะแนนเสียง ถูกดูดออกไปเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อที่นั่ง ส.ส. และคะแนนเสียงที่พรรคจะได้รับอย่างแน่นอน แม้ว่าหัวหน้าพรรคและกลุ่มอีลีทซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในพรรคจะกล่าวว่า มีคนรุ่นใหม่หน้าใหม่เข้ามาเสริมทัพ เข้ามาเป็นสมาชิกและผู้สมัครของพรรคเป็นจำนวนมากหากแต่ กลุ่มใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้มาพร้อมกับฐานเสียงสนับสนุนที่มากและเข้มแข็งพอ จึงยากที่จะช่วยสนับสนุนให้พรรคได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในแต่ละพื้นที่
การเมืองไทยเรื่องของ “บ้านใหญ่” เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งทุกครั้ง และในทุกพื้นที่ รวมทั้งในกรุงเทพมหานครเองบางพื้นที่ด้วย ระบบอุปถัมภ์ระหว่างบ้านใหญ่และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ตัดออกจากกันยากมาก จึงเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและประชาธิปไตยเองต่างแข่งขันกันเพื่อดึงการเมืองบ้านใหญ่เข้ามาสังกัดพรรคของตนเอง อีกครั้ง แม้แต่ประธานที่ปรึกษาพรรค นายชวน หลีกภัย ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้การซื้อตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีฐานเสียงเข้มแข็งมีราคาสูงมากในบางพื้นที่ถึง 200 ล้านบาท การซื้อตัวไปมาระหว่างพรรคดังกล่าว น่าจะการันตีได้แล้วว่าอิทธิพลของบ้านใหญ่ในแต่ละพื้นยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่บ้านใหญ่ในแต่ละพื้นที่ พยายามส่งคนของตัวเองเข้าไปมีอำนาจในตำแหน่งท้องถิ่นต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ในการเลือกตั้งระดับชาติ ก็ยังเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าบ้านใหญ่กำลังเติบโตบนความอ่อนแอของพรรคการเมือง
ในยุคของรัฐบาลไทยรักไทยชุดแรก การเมืองบ้านใหญ่ดูจะมีบทบาทลดน้อยลง ทั้งนี้ เนื่องจากรูปแบบของการนำเสนอนโยบายเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อน ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทยชุดแรก การนำเสนอนโยบายประชานิยม และการนำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติได้จริง ช่วยให้ประชาชนหันมาเชื่อในรัฐบาลและสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้น นโยบายบางอย่างยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน ความโดดเด่นของนโยบายพรรค ส่งผลกระทบต่อบทบาทของบ้านใหญ่ก็ลดน้อยลงตามลำดับ
ประกอบกับรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2540 ในขณะนั้นได้ระบุว่า ผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน และหากมีการยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ข้อบังคับในกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้พรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคมีบทบาทมากกว่าบ้านใหญ่ที่เข้ามาสังกัดพรรค และบ้านใหญ่ไม่สามารถย้ายพรรคได้ง่ายเหมือนในการเลือกตั้งครั้งนี้
การจากไปของบ้านใหญ่จำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีนัยสำคัญ
บทบาทของหัวหน้าพรรคถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอันส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ คำพูดที่ว่า ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้าลงก็เลือก คงไม่ใช่อีกต่อไป ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งในอดีตนั้น บทบาทของท่านชวน หลีกภัยมีความสำคัญอย่างมากต่อผลการเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ หรือแม้แต่ในกรุงเทพมหานครเองสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ในปัจจุบันบทบาทของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของพรรคไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ หรือกรุงเทพมหานครเหมือนเช่นเคย การขาดตัวบุคคลที่มีบทบาทในการดึงคะแนนเสียงในลักษณะนี้ มีผลอย่างมากต่อฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์จะแก้เกมอย่างไร ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงเมื่อต้องแย่งคะแนนเสียงจากพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยม ด้วยกันเอง โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ
การแสดงจุดยืนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากยังมีแนวคิดที่ไม่เป็นไปตามทิศทางเดียวกับหัวหน้าพรรค และผู้บริหารพรรคในปัจจุบัน ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกภายในพรรค แต่การมาช่วยพรรคในการหาเสียงหรือไม่ของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ในครั้งนี้ คงไม่ส่งผลต่อคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์ที่จะได้มากขึ้นมากนัก และในขณะเดียวกันหากอภิสิทธิ์มาช่วยหาเสียงก็จะไม่ส่งผลดีต่อพรรคเช่นกันเนื่องจากแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้แฟนคลับของประชาธิปัตย์เองสับสนในจุดยืนของพรรคที่ไม่ชัดเจนต่อผู้สนับสนุน
แม้ว่าประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะอ่อนแอลงไปมากกว่าการเลือกตั้งทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา แต่ความเป็นองค์กรทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อันยาวนานย่อมจะช่วยประคับประคองพรรคให้อยู่รอดต่อไป ไม่ล่มสลายไปง่ายๆ แม้ว่าอาจจะได้ที่นั่งในรัฐสภาครั้งนี้น้อยกว่าครั้งที่แล้วก็ตาม
ความเป็นสถาบันอันเข้มแข็งของพรรค อาจจะช่วยให้พรรคมีโอกาสกลับมาผงาดอีกครั้ง หากการผลัดใบครั้งหน้า เป็นการผลัดใบที่ได้ใบใหม่ที่เข้มแข็งแท้จริง และใบเก่าที่ร่วงโรยไปกลายเป็นใบที่ปกป้องและสนับสนุนให้ใบใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถช่วยผลักดันให้ต้นไม้ประชาธิปัตย์เติบใหญ่ในสังคมไทยอีกครั้ง
พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์