ไทย ชู “ยุทธการฟ้าใส” แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ไทย ชู “ยุทธการฟ้าใส” แก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

การประชุมระดับผู้นำ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

 

ADVERTISMENT

โดยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับผู้นำสามฝ่ายระหว่างไทย–สปป.ลาว–เมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา เข้าร่วมการประชุม ซึ่งที่ประชุมรับทราบสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค และแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

ADVERTISMENT

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติและจัดทำแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พร้อมจัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567 – 2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษ ในระดับทวิภาคี ไทยร่วมมือกับมิตรประเทศมาโดยตลอดและในโอกาสนี้ ได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017 2. L (Leveraging Mechanisms) ไทยจะส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่อินโดนีเซียด้วย

3. E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อควบคุมปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน 4. A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค R (Effective Response) นายกรัฐมนตรี เสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศประชุมหารือในบ่ายวันเดียวกัน เพื่อต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำ

ขณะที่นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่า สปป.ลาวเห็นด้วยที่ต้องมีความร่วมมือหาทางออกร่วมกัน โดยที่ลาวเห็นด้วยกับความร่วมมือในระดับอาเซียน และการเพิ่มการตระหนักรู้เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุ และปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน

ด้านพล.อ.อาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีเมียนมา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มความร่วมมือเพื่อควบคุม บริหารจัดการร่วมกัน เมียนมาจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และเชื่อว่าความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และส่งผลเพื่อประโยชน์ในภูมิภาค

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า การประชุมผู้นำสามฝ่ายครั้งนี้ เป็นข้อริเริ่มของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ซึ่งเสนอให้ผู้นำทั้งสามประเทศหารือแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน เนื่องจากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยปัญหาหมอกควันข้ามแดน สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯ มีจุดความร้อนสูง

ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ไปแก้ไขอย่างเร่งด่วนและขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยหันดูแลไม่ให้มีการเผาและการจับกุมผู้ทำความผิดหลายราย ซึ่งการเผาป่ากระทบกับพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เพราะฉะนั้นต้องเลิกเผา ส่วนนโยบายของ ทส.จะเข้าไปดูแลเรื่องการใช้พื้นที่ของประชาชน ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีการอนุญาติให้ประชาชนเข้าไปใช้ ถ้ามีการเผาจะมีการทบทวนว่าจะมีการให้ใช้พื้นที่ต่อไปหรือไม่ เช่น ในพื้นที่ คทช.หรือในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตอนุญาตไปแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขชัดเจนเลยว่าเมื่อมีการให้ไปแล้วจะต้องไม่มีการเผา ส่วนวัสดุในพื้นที่ป่าที่เป็นเชื้อเพลิง ขณะนี้ ทส.กำลังหารือกับภาคเอกชนเพื่อนำออกมาเพื่อนำเชื้อเพลิงจากขยะจะช่วยแก้ปัญหาไฟป่าได้ เพราะฉะนั้น อยากฝากพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าเข้าไปเผาป่า

ต่อมานายจตุพร มอบให้นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัด ทส.เป็นประธานการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้ง 3 ประเทศ โดยมีนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ น.ส.อุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน และผู้แทนจากกรมเอเชียตะวันออก เป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมฯ ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับ ผู้แทน สปป.ลาว และเมียนมา

โดยนายปิ่นศักดิ์ กล่าวหลังประชุมว่า ทั้ง 3 ประเทศ ตกลงร่วมกันที่จะร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฟ้าใส โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ไทย ลาว เมียนร์มา เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยประเทศไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการเกษตรในพื้นที่สูง ต่อลาว เมียนร์มา ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image