สถานีคิดเลขที่ 12 : โพล ‘มติชน x เดลินิวส์’

โพล ‘มติชน x เดลินิวส์’

สถานีคิดเลขที่ 12 : โพล ‘มติชน x เดลินิวส์’ 

อีกเดือนนิดๆ ก็จะถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม
ในช่วงนี้ เราจึงได้เห็นบรรยากาศการรณรงค์หาเสียงที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น หลังพรรคการเมืองที่ลงแข่งได้เบอร์พรรคกันแล้วเรียบร้อย เช่นเดียวกับเบอร์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต

แม้กฎกติกาที่มีอยู่จะนำไปสู่ “ระบบสองเบ (ล) อร์” ที่ชวนให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิสับสนงงงวยมากก็ตาม

ในบรรยากาศที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่เช่นนี้ สื่อมวลชนคงจะต้องทำหน้าที่สำคัญอยู่ 2-3 อย่าง

ADVERTISMENT

อย่างแรก คือ พยายามรายงานข่าวสารของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ อย่างรอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่นำไปสู่การต้องคว้าจับให้ได้ทั้งลีลา สีสัน อารมณ์ความรู้สึก ที่บังเกิดขึ้นในการแข่งขันทางการเมือง

ADVERTISMENT

รวมทั้งต้องเจาะลึก นำเสนอ และเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน

อย่างที่สอง คือ การเปิด “เวที” ที่รูปแบบในปัจจุบันจะผสมผสานกันระหว่างการเป็นเวทีดีเบต เวทีประชันวิสัยทัศน์ ไปจนกระทั่งถึงรายการเกมโชว์ ทั้งที่มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ทั้งที่ดำเนินการในโลกออฟไลน์และเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้จะออกไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้ง มีโอกาสได้รับฟังนโยบาย จุดยืน วิสัยทัศน์ ของพรรคการเมืองและนักการเมือง

ดูเหมือนภารกิจประการที่สองนี้จะเป็นกิจกรรมที่สื่อแทบทุกสำนักพร้อมใจกันทำอย่างคึกคัก ส่งผลให้นักการเมือง-ผู้นำการเมืองได้เปิดจุดเด่น เผยจุดด้อย ของตนเองออกมา ทั้งด้วยการขึ้นเวทีและการไม่ยอมขึ้นเวที

อย่างสุดท้ายที่สื่อพึงทำได้ คือ “โพล”

กลายเป็นว่า ณ ปี 2566 สังคมไทยได้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อ “โพลการเมือง” อยู่พอสมควร เมื่อหลงเหลือสำนักโพลที่ผู้คนรู้สึกว่าน่าเชื่อถืออยู่น้อยราย ขณะที่ผลโพลของบางสำนักกลับดูจะย้อนแย้งกับความคิดความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ตลอดเวลา

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักข่าวจำนวนมากจะทดลองทำโพลสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของผู้อ่าน ด้วยรูปแบบ “โพลออนไลน์” แต่หลายฝ่ายมักพยายามลดทอน “ความชอบธรรม” ของโพลเหล่านั้น

ผ่านมุมมองหลักๆ ที่ว่าสื่อแต่ละสำนักล้วนมีจุดยืนที่โน้มเอียงไปยังข้างใดข้างหนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ) ดังนั้น กลุ่มคนอ่านที่เข้ามาทำโพล จึงอาจเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ไหลเทไปทางพรรค/ขั้วอุดมการณ์หนึ่งอย่างชัดเจน ค่าเบี่ยงเบนของโพลจึงอยู่ในระดับสูง

เงื่อนไขเช่นนี้ นำมาสู่การจับมือกันระหว่างสื่อ “เครือมติชน” และ “เดลินิวส์” เพื่อร่วมกันทำโพลเลือกตั้ง 2566

โดยโพลรอบแรกที่เริ่มเปิดรับคำตอบตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา นั้นถามผู้อ่านในสองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ใครคือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียอดนิยม และพรรคใดคือพรรคการเมืองยอดนิยม ในทรรศนะของคุณ

ต้องยอมรับก่อนว่า โพลครั้งนี้คือการมุ่งสำรวจกระแสนิยมในภาพรวม ภาพกว้าง ระดับประเทศ ผ่านสื่อกลางอย่างอินเตอร์เน็ต จึงอาจยังไม่ได้มีความละเอียดแม่นยำพอจะชี้ชัดไปถึงผลเลือกตั้งของ ส.ส. ในระบบแบ่งเขตได้

(นั่นเป็นหน้าที่ของสำนักโพลที่มีเครื่องมือ วิธีวิทยา และเครือข่ายกลุ่มตัวอย่างครบถ้วนกว่า ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละสำนักจะปฏิบัติภารกิจของตนอย่างสุจริตแค่ไหน)

แต่อย่างน้อยที่สุด คณะทำงานของทั้งสองสื่อใหญ่ ก็มีความเชื่อมั่นว่าผลโพลที่ปรากฏออกมา น่าจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของผลคะแนนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อได้ดีพอสมควร

ยิ่งกว่านั้น การจับมือกันระหว่าง “เครือมติชน” กับ “เดลินิวส์” ยังมุ่งหนุนเสริมให้
“โพลการเมืองออนไลน์” ที่จัดทำโดยสำนักข่าว มี “ความชอบธรรม” สูงขึ้น เพราะได้วางฐานอยู่บนจุดสมดุลทางอุดมการณ์-ความคิดความเชื่อ ระหว่างผู้อ่านสองกลุ่ม/ตลาดใหญ่ มิได้โน้มเอียงหรือไหลเทไปทางด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว

ทุกท่านยังสามารถร่วมทำโพลดังกล่าวได้ทาง https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ หรือ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll/

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image