เอกชนถาม ‘เพื่อไทย’ แจกเงินดิจิทัล 10,000 คาดใช้งบ 5 แสนล้าน คุ้มค่าลงทุนแค่ไหน?

เอกชนตั้งคำถาม ‘เพื่อไทย’ แจกเงินดิจิทัล 10,000 คาดใช้งบ 5 แสนล้าน คุ้มค่าต่อการลงทุนแค่ไหน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ของพรรคเพื่อไทย นั้น

นายธนวรรธน์กล่าวว่า นโยบายเงินดิจิทัลเป็นนโยบายที่สอดรับกับแนวคิดธุรกิจการเงินในอนาคต จึงไม่เป็นนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การออกเงินดิจิทัลไม่เป็นปัญหาทางเทคนิคเพราะประเทศไทยมีการพัฒนาระบบเงินดิจิทัลในหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคืองบประมาณและจำนวนเงินที่ใช้

ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้นประมาณ 5 แสนล้านบาท จึงเกิดการตั้งคำถามว่าเงินงบประมาณที่ใช้มาจากแหล่งใด แม้ปกติแล้วงบสามารถนำมาจากฐานเงินงบทั่วไปที่จะมีการใช้ปีละ 3 ล้านล้านกว่าบาท เพื่อนำมาใช้ในการทำนโยบาย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ยังไม่มีข้อมูลที่เด่นชัดและชัดเจนว่ารูปแบบการใช้เงินเป็นอย่างไร และจะสร้างประโยชน์ได้แค่ไหน จึงจะไม่ทำให้เป็นผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์กล่าว

นอกจากนี้ รูปแบบการถูกใช้เงินดิจิทัลจะมีการใช้จริงและถูกใช้โดยที่ไม่คุ้มค่า และจะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว เพราะหากเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพราะว่าใช้ฐานงบประมาณในส่วนนี้และไม่มีการพัฒนาส่วนอื่น เบื้องต้นไม่ควรจะเป็น

Advertisement

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต แต่จะเป็นทางเลือกการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะการใช้เงินดิจิทัลเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การโยนเงิน 5 แสนล้านบาท ภายใน 6 เดือน คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 2-3%

ดังนั้น หากมีการใช้นโยบายนี้เร็วจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึง 4% และปี 2567 จะขยายตัวได้ถึง 4-5% ก็มีความเป็นไปได้ แต่มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น

และรูปแบบเงินภาษีที่ได้กลับมาคือเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าคนรับประโยชน์คือร้านค้าอยู่ในระบบภาษีและจ่ายคืนในรูปแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะจะมีเงินรายได้เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาททันทีทั้งระบบ หากมีกำไรประมาณ 5% จะมีกำไรรวมทั้งระบบประมาณ 25,000 ล้านบาท และนำไปเสียภาษีอีก 20% ก็จะได้เงินภาษีกลับมาอาจจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับเงิน 5 แสนล้านบาทที่จ่ายไป

แต่ถ้า 5 แสนล้านบาทที่จ่ายไป ถ้าทุกบัญชีมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีรายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มครบทั้งหมด เพราะสินค้าทางการเกษตรไม่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จะทำให้มีเม็ดเงินคืนกลับมาประมาณ 35,000 ล้านบาทในระบบเศรษฐกิจ และเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอาจอยู่ในจำนวน 10,000 ล้านบาท

“เมื่อนำภาษีรายการต่างๆ มารวมกันคิดคร่าวๆ จะมีเงินนำกลับรัฐตกที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท แต่อาจจะตกอยู่ที่ปีเดียวหรือไม่ เมื่อเทียบกับการนำงบประมาณไปใช้ในรายการอื่นที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสร้างการเจริญเติบโตในระยะยาว” นายธนวรรธน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image