ส่องนโยบายหาเสียง ที่ประชาชนต้องการ

ส่องนโยบายหาเสียง ที่ประชาชนต้องการ

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ อยากเห็นการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองที่น่าสนใจที่สามารถแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง นอกเหนือจากนโยบายประชานิยมและรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ADVERTISMENT

ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่พรรคการเมืองพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนมากขึ้นในช่วงการเลือกตั้งแต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล สิ่งที่น่ากังวลคือการใช้งบประมาณที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน และสิ่งที่อยากเห็นคือการพูดถึงนโยบายในฐานะการเป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้แต่แรก โดยที่ไม่ต้องพูดถึงว่าใครควรได้รับสวัสดิการใด เพราะอะไร หลายอย่างที่ควรจะย้ำคือเรื่องสิทธิพื้นฐาน เงินเลี้ยงดูเด็ก สิทธิในการเรียนมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกว่าพรรคการเมืองก็มีการพูดถึงแทบทุกพรรคแต่ไม่ได้นำส่วนนี้มาย้ำมากเท่าไร อยากให้พูดถึงคอนเซ็ปต์ของรัฐสวัสดิการที่ย้ำนโยบายสิทธิพื้นฐาน ถามว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของทุกพรรคนั้นจำเป็นหรือไม่ ผมคิดว่าจำเป็น แต่คิดว่ามีสิ่งที่ต้องวางรากฐานระยะยาวนั่นคือการสร้างรัฐสวัสดิการ

จริงๆ แล้วสังคมที่คนปลอดภัย สังคมที่คนไม่กังวลด้านเศรษฐกิจ มีความมั่นคงและรายได้ที่เหมาะสมจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น และทำให้ความขัดแย้งน้อยลง คิดว่ารูปธรรมง่ายมาก ไม่ได้เป็นนโยบายที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น คอนเซ็ปต์ใหญ่คือคำว่า ถ้วนหน้า การให้สวัสดิการแก่คนทุกคนไม่ได้จำกัดเพียงแค่อาชีพหรือต้องพิสูจน์ความจน เช่น เงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า มีบางพรรคการเมืองพูดถึงแต่จำนวนเงินยังน้อย และให้ถึงอายุ 6 ปี โดยหลายๆ นโยบายยังรู้สึกเป็นความกลัวกรอบวินัยทางการคลังมากเกินไป ทำให้เป็นนโยบายแบบกระมิดกระเมี้ยน แต่ผมคิดว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าคือเงินที่ปริมาณมากพอและสม่ำเสมอ สามารถคาดการณ์ได้กับชีวิตของเขา

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ เรื่องใหญ่ที่พูดกันมากคือเรื่องเงินบำนาญ ควรยกระดับให้เป็นอย่างน้อย 3,000 บาทถ้วนหน้าได้แล้ว ไม่ใช่แค่ให้คนจนหรือคนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอยากให้พูดถึงคอนเซ็ปต์ของประกันสังคมถ้วนหน้า ให้ทุกคนมีหลักประกันสังคมที่รัฐจัดสรรให้หรือให้เฉพาะคนที่อยู่ในระบบการจ้าง ส่วนเรื่องใหญ่ที่สุดในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือเรื่องสิทธิในการเรียนมหาวิทยาลัยฟรี ค่าครองชีพของคนในวัยเรียน รวมถึงปัญหาเรื่องหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผมคิดว่านโยบายหลักๆ นี้จำเป็นที่จะต้องพูดถึงกันให้มากขึ้น

คำว่า ประชานิยม เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมีปัญหาทั้งในบริบทโลกและบริบทสังคมไทย คือเรารู้สึกว่านโยบายใดถูกนำไปให้กลุ่มที่เราไม่ชอบหรือไม่คุ้นเคยเราก็ไปจั่วหัวว่าเป็นประชานิยม จริงๆ แล้วคำนี้ในทางสากลเลิกใช้กันไปสักพักหนึ่งแล้ว แต่ประเทศไทยยังฝังใจกันอยู่ สำหรับประเทศที่ยากจนและเหลื่อมล้ำอย่างไทยก็ยังจำเป็นต้องมีนโยบายที่ส่งตรงสู่ประชาชนทั้งในเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

การที่พรรคการเมืองพูดแบบนี้ก็มีอยู่สองอย่างคือ ประการแรก ประเทศยังมีความเหลื่อมล้ำและยากจนมากจึงต้องมีนโยบายเหล่านี้ออกมา ประการที่สองคือ ระดับของอุดมการณ์และความคิด ความเข้าใจของผู้คนในสังคมที่คิดว่าสิทธิพื้นฐานของเขา สิ่งที่เขาควรได้รับนั้นจะเป็นอย่างไรจึงมีการดันเพดานขึ้นไปมาก จะเห็นได้ว่าแม้แต่พรรคซ้ายจนกระทั่งถึงพรรคขวาในสังคมไทยก็จำเป็นต้องมีการพูดเรื่องนี้ ผมสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการยกระดับความเข้าใจของผู้คนในสังคม การเลือกตั้งในครั้งนี้คือการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค แกนกลางของนโยบาย รวมไปถึงกฎหมายใหญ่ต่างๆ แต่เราต้องอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับชีวิตประจำวันหลายอย่างคือการบริหารเมืองซึ่งอยู่ในอำนาจของท้องถิ่น ผมมองว่าถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ เช่น การปลดล็อกความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับชุมชน หรือการเกิดสวัสดิการพื้นฐานมั่นคงในระดับมหภาค คือหากเด็กสามารถเรียนมหาวิทยาลัยฟรี มีเงินบำนาญหรือเงินเลี้ยงดูเด็ก สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน

วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในเชิงบริบททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ช่วงเดือนถึง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง เป็นช่วงความหวังของประชาชน พรรคการเมืองนำแพคเกจนโยบายต่างๆ มาให้เลือกว่าในอนาคตอีก 3-4 ปี จะเดินไปทางไหน ก่อนเลือกตั้งพรรคการเมืองจะมีแพคเกจการดูแลชีวิตประชาชนที่หลากหลาย ต่างมีนโยบายไม่เหมือนกัน ในเชิงนโยบาย ผมอยากแยกคำออกเป็น 2 คำคือ คำว่า ประชานิยม กับ ระบบสวัสดิการ 2 คำนี้ไม่เหมือนกัน

คำว่าประชานิยม คือนโยบายในเชิงอุดมการณ์ในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นนโยบายฉาบฉวยมากๆ บางทีอาจเป็นนโยบายในลักษณะลดแลกแจกแถม หรือ บางทีอาจเป็นในเชิงอุดมการณ์ ก็ถือว่าเป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกัน เช่น เอามวยไทย ไม่เอากุนแขมร์ เป็นนโยบายฉาบฉวย หวังผลเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่หลายพรรคการเมืองก็นำเสนอสิ่งที่เป็นนโยบายสวัสดิการสังคม ขึ้นมา

แต่นโยบายลดแลกแจกแถม เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เสมอหน้ากัน ลดช่องว่างคนรวยคนจนน้อยลง เป็นช่องทางในการหางบประมาณเพื่อมาเติม ให้กับระบบสวัสดิการไม่ใช่แค่การแจกเงินอย่างเดียว เป็นการวางระบบสังคมใหม่ ให้คนที่มีฐานะนำทรัพยากรสังคมไปมาก เป็นคนรวยก็ต้องจ่ายคืนให้สังคมมากหน่อยเพื่อลดช่องว่าง ตรงนี้เป็นนโยบายสังคม มองในภาพรวม มีความยั่งยืนมากกว่า

ในช่วงการหาเสียง ช่วงการดีเบต นโยบายที่เป็นประชานิยมจะตื่นเต้นกว่า ซื้อใจคนได้มากกว่า เล่นกับอารมณ์คนได้มากกว่า แตกต่างจากนโยบายสวัสดิการเป็นเนื้อหามี คอนเทนต์มาก บางทีคนอาจไม่ตื่นเต้น เป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญในการรณรงค์หาเสียง นี่คือเรื่องที่ 2 ของเชิงนโยบาย

เรื่องสุดท้ายเรื่องที่ 3 คือ ต้องแยกอีกชั้นหนึ่งในเชิงเนื้อหา สมมุติว่ามีนโยบายแล้ว ต้องแยกอีกว่าเป็นนโยบายสังคมหรือเศรษฐกิจ บางพรรคอาจจะนำนโยบาย 2 อย่างนี้มาผสมรวมกัน เช่น การแจกสวัสดิการรัฐ บางคนบอกว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจ บางคนบอกว่าเป็นนโยบายสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ นโยบายของพรรคเพื่อไทย กับดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นนโยบายเศรษฐกิจไม่ใช่สังคม เพราะเป้าหมายคือการกระตุ้นการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ให้เงินสดหมุนเวียนในระบบ เศรษฐกิจโตขึ้น รัฐเก็บเงินภาษีได้มากขึ้น

แตกต่างจากนโยบายอีกกลุ่มเป็นนโยบายสังคม คือ การดูแลเบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ ดูแลคนกลุ่มล่างสุดของสังคมให้ลืมตาอ้าปากได้ อาจมองว่าใช้เงินงบประมาณค่อนข้างมาก แต่มีความจำเป็น เพราะไม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายตรงนี้ทำให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากที่สุด ตอนนี้ก็มีนโยบายสังคมหลายเรื่อง อย่างเรียนฟรีถึงปริญญาตรีจากหลายพรรคการเมือง การดูแลเบี้ยผู้สูงอายุ หวยบำเหน็จ จากหลายๆ พรรคการเมือง เป็นออปชั่นให้ประชาชนได้เลือก

ช่วงการหาเสียงตอนนี้อยากให้ประชาชนมองดูการหาเสียง ผ่านคอนเทนต์ของพรรคจะมีจุดยืนมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ลักษณะนโยบายที่พรรคหนึ่งเสนอมา อีกพรรคจะเกทับในตัวเลขที่สูงกว่า ถือว่าไม่ยั่งยืน

ภาพรวมรัฐบาลในยุคต่อไป ต้องมองเชิงนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นภาพใหญ่ หลายครั้งนโยบายเศรษฐกิจจะลืมคนด้านล่าง ซึ่งต้องควบคู่ไปกับนโยบายสังคม เพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามสภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากๆ อันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือเป้าหมายของรัฐบาลใหม่

ส่วนโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลเก่าๆ ที่รัฐบาลใหม่ควรสานต่อ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องล้มโครงการไป ทั้งนี้ การเมืองไทยจริงๆ ไม่ค่อยล้มนโยบายเก่า แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนชื่อมากกว่า อย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเปลี่ยนมาจากบัตรทอง ส่วนนโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะไม่เปลี่ยนนโยบายแบบล้มไปเลย ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เปลี่ยนรัฐบาลอาจเปลี่ยนชื่อเป็นดิจิทัลวอลเล็ต

เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครองคณะสังคมศาสตร์ มมร.วิทยาเขตล้านนา

สำหรับพรรคการเมืองที่ดันนโยบายหาเสียงแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ควรเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพราะปัญหาเกิดมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ได้แบบถาวร ส่วนใหญ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ดับไฟ ทำแนวกันไฟ ทำฝนเทียม แจกหน้ากากอนามัยป้องกันเท่านั้น แก้ปัญหาแบบปีต่อปี ใช้เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และงบประมาณจำนวนมาก พรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ฝุ่นควันและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือควรต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง ห้ามเผาทุกฤดูกาล ไม่ใช่ให้จังหวัดประกาศห้ามเผาช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี โดยเว้นระยะให้ชิงเผาก่อนได้

นโยบายพรรคการเมืองต้องประกาศชัดให้เกิดการแก้ปัญหาจริงจัง เด็ดขาด ไม่กลัวหน้าไหน ที่สำคัญต้องไม่กลัวเสียคะแนนเสียงเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และท่องเที่ยวในระยะยาว

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว เพียงแต่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการอย่างจริงจัง สุดท้ายต้องยกคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการไม่เผาอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ ที่เป็นวัฏจักรซ้ำซาก ไม่ประสบผลสำเร็จใดๆ เลย

สมหมาย ชินนาค
อาจารย์สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักเกิดอุทกภัยหลายพื้นที่ และในทุกลุ่มแม่น้ำ ทั้งลุ่มน้ำมูล ตั้งแต่ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนน้ำท่วมในแม่น้ำชี ตั้งแต่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เป็นความสูญเสียเกิดจากทั้งภัยธรรมชาติ และจากการบริหารงานที่มิอาจเลี่ยงความรับผิดชอบได้จากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา จึงขอเสนอให้พรรคการเมืองที่จะเข้าไปจัดตั้งเป็นรัฐบาลใหม่ ได้พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี

ส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่า เกิดจากรอยต่อการบริหารจัดการน้ำช่วงเปลี่ยนผู้บริหารของจังหวัดที่หยุดชะงัก และการเตรียมการที่ชะล่าใจเกินไป ล่าสุดปี 2565 จ.อุบลราชธานีประสบอุทกภัย วิกฤตอย่างหนัก เกิดน้ำท่วมสูงหนักที่สุดในรอบ 44 ปี มันหนักกว่าที่เป็นข่าว บางจุดน้ำท่วมเหลือแค่หลังคา

สาเหตุที่น้ำท่วมตัวเมืองอุบล เกิดจากพายุก่อให้เกิดฝนตกหนักตกในพื้นที่ปริมาณที่มาก และยังตกหนักตามพื้นที่ลุ่มต่ำ การระบายน้ำแบบธรรมชาติที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอที่จะรับมวลน้ำมาจากจังหวัดต่างๆ ผ่านแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลตอนบน ที่ไหลมาบรรจบกันในพื้นที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง ส่วนฝนที่ตกหนักในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำมูลไหลลงมาเติมในแม่น้ำมูลสายหลักทำให้อัตราการลดลงชะลอตัว ประกอบกับน้ำด้านท้ายตัวเมืองอุบล จาก อ.ดอนมดแดง และตระการพืชผล และมาจากลำโดมใหญ่ ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ อ.พิบูลมังสาหาร ตระการพืชผล ดอนมดแดง และ อ.นาเยีย ที่ระบายไหลลงสู่แม่น้ำมูล ทำให้น้ำมีระดับสูง และไปดันกับน้ำที่ระบายมาจากด้านบน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองอุบล

ผมขอเสนอแนะรัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นได้ช่วยถอดบทเรียนจากน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูน้ำแล้งและน้ำหลากอย่างเป็นระบบอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดที่กำหนดเป็นนโยบายการหาเสียงมุ่งนำเสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างชัดเจน จึงขอให้ช่วยพิจารณา หากได้ไปเป็นรัฐบาลช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วม ซึ่งโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐจำนวนมาก ยังไม่สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาได้ นอกจากทิ้งรอยบาดแผลไว้ให้เห็นถึงการบริหารจัดการน้ำที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งระบบเตือนภัย การเตรียมการ สั่งการและการบูรณาการหน่วยงานในภาวะวิกฤต จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาลใหม่ได้พิจารณาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image