‘แสวง’ กางภารกิจแม่บ้านกกต. บทพิสูจน์จัดเลือกตั้งส.ส.

หมายเหตุ – นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงความพร้อมการเตรียมจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566

•การเตรียมความพร้อมของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นอย่างไร

ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้ โดยภายหลังการปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ กกต.ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขเวลา ส่วนไทม์ไลน์หลังจากนี้ไปจนถึงเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 จากการสอบถามทีมงานและหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการซักซ้อมแผนการทำงานก็ได้รับคำตอบว่ามีความพร้อมที่จะทำให้การเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม หรือการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม รวมทั้งการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปตามแผนงานทุกอย่าง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องนำบัตรเลือกตั้งส่งกลับมานับที่ประเทศไทย ได้ซักซ้อมแผนงานและเตรียมระบบเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ตามแผนงานคือจะต้องนำบัตรเลือกตั้งของทุกประเทศกลับเข้ามาภายในประเทศก่อนวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

•การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.เตรียมอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้อย่างไรบ้าง

Advertisement

การเลือกตั้ง 2566 กกต.ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง หรือช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมและโปร่งใส ปีนี้ กกต.ได้นำภาคประชาชนเข้ามาทำงานเพื่อช่วยตรวจสอบการเลือกตั้ง ตรวจสอบการทำงานของ กกต.และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และตรวจสอบการนับคะแนน ส่วนการอํานวยความสะดวกสําหรับผู้พิการ หรือทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ทาง กกต.จัดหน่วยเลือกตั้งแบบพิเศษไว้ให้ นอกจากนี้ ยังเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเปิดสายด่วน 1444 ส่วนบัตรเลือกตั้งที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าจะเกิดความสับสนนั้น กกต.ได้คิดแก้ไขปัญหาไว้ให้แล้ว โดยคิดบนพื้นฐานของกฎหมายและช่วยอำนวยความสะดวกประชาชน เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้บัตรเสียน่าจะน้อยที่สุด เพราะภายในหน่วยเลือกตั้งจะติดแผ่นไวนิล ขนาด 1X2 เมตร ณ จุดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมองจากคูหาเลือกตั้ง เป็นข้อมูลแบบเดียวกันเหมือนที่ติดหน้าหน่วย ซึ่งจะมีข้อมูลของผู้สมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อครบถ้วนทั้งชื่อ ภาพ หมายเลขหรือเบอร์ ชื่อพรรค โลโก้ ถ้าไม่มั่นใจหรือจำไม่ได้สามารถเงยหน้าขึ้นจากคูหาเลือกตั้งป้ายก็จะอยู่ระดับสายตาที่มองเห็นได้ชัดเจน นี่คือสิ่งที่ กกต.ช่วยอำนวยความสะดวก ดังนั้น โอกาสผิดพลาดแทบจะไม่มีเลย ยืนยันว่าการทำแบบนี้จะไม่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ

•การเลือกตั้งครั้งนี้กติกาเปลี่ยนแปลงไป จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวกลับมาเป็นสองใบ กังวลว่าจะเกิดความสับสนหรือไม่

ระบบบัตรสองใบคนไทยมีความคุ้นเคยพอสมควร ยกเว้นการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นบัตรใบเดียว แถมยังเป็นแบบผสมระหว่างแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ แต่การเลือกตั้งในปี 2566 จะเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงแต่ไม่ใช่เบอร์เดียวกัน ซึ่งความไม่ใช่เบอร์เดียวกัน กกต.จึงพยายามแยกบัตรให้มีความต่างกัน ทั้งสี ขนาด องค์ประกอบ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำไม่ได้ว่าจะกาผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดก็เงยหน้าดูแผ่นไวนิล ดังนั้น ไม่มีอะไรน่ากังวล ส่วนช่องกาเครื่องหมายขอเน้นย้ำว่าอย่าไปกาทับสัญลักษณ์ หรือโลโก้พรรค รวมทั้งการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อกดดันก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น อยากให้ใช้เหตุและผลกันมากกว่า

Advertisement

•ทุกฝ่ายจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องความเป็นกลางและความโปร่งใส

เรารู้อยู่แล้วว่าบริบทการเมืองเป็นแบบนี้ ส่วนตัวผมไม่ได้มีความกดดันอะไร พร้อมรับฟังความเห็นทุกความเห็นที่เสนอเข้ามาทั้งตัว กกต.เองและขั้นตอนกระบวนการทำงาน เพียงแต่ว่าคนชนชั้นนำในสังคมที่ชอบไปพูดออกรายการต่างๆ เวลาพูดนั้นอยากให้ศึกษาข้อกฎหมายไปด้วย เพราะว่าเมื่อทำงานบนตัวกฎหมายก็ต้องดูว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไรก่อน หากกฎหมายเขียนแบบนี้แล้วเหตุใด กกต.ดำเนินการแบบนี้ ไม่ใช่อยู่ๆ มาบอกว่า กกต.ทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนี้ โดยไม่ได้ดูเนื้อหาสาระของกฎหมาย แบบนี้สร้างความสับสน ถ้าต่างคนต่างพูดก็ทำให้ กกต.ทำงานลำบาก เพราะต้องเสียเวลาชี้แจง ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นยืนยันว่าไม่มีความกดดันอะไร ไม่ว่าการหาเสียงของผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งกระแสข่าวที่เกี่ยวกับการทำงานของ กกต. เนื่องจากมีกฎหมายรองรับการทำงานในแต่ละเรื่องอยู่แล้ว

•กกต.จะควบคุมกติกาอย่างไรเพื่อให้การแข่งขันของผู้สมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ผมเรียกว่าการบริหารสถานการณ์จนถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม กกต.อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าทุกคนร่วมมือกันก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเกิดการแข่งขันที่มีแต่คนอยากเอาชนะ โอกาสที่จะเลยเถิดจากตัวบทกฎหมายก็จะมีสูง ซึ่ง กกต.มีมาตรการรองรับไว้ เช่นเดียวกับการซื้อสิทธิขายเสียงก็มีมาตรการควบคุมไว้หลายขั้น กรณีที่มีการให้เบาะแสการซื้อสิทธิขายเสียง กกต.จะเชิญมาชี้แจงและนำข้อมูลมาพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนการพูดจา ใส่ร้ายป้ายสี หรือใส่ความเท็จ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางมิชอบก็มีมาตรการอยู่ ดังนั้น ด้วยกลไกและเครื่องมือที่ กกต.มีไว้อยู่นั้นหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ขณะนี้ยังไม่มีข่าว แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไปการหาเสียงจะเข้มข้นขึ้นเพราะมีข่าวเรื่องนโยบายประชานิยม

“สำหรับนโยบายที่จะต้องใช้งบประมาณต้องยืนยันก่อนว่า นโยบายไม่ใช่สัญญาว่าจะให้ ถ้าเป็นสัญญาว่าจะให้มันจะมีเส้นแบ่งของนโยบายตามแนวทางของ กกต.และคำพิพากษาของศาล คือ 1.เรื่องนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ หรือคนทำมีอำนาจหน้าที่ ยกตัวอย่างรัฐบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2.ใช้งบประมาณแผ่นดิน และ 3.ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ นี่คือนโยบาย ส่วนจะดีหรือไม่ดีประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ กกต. ถ้าทุกพรรคทำตามเงื่อนไขนี้ก็สามารถนำนโยบายไปเสนอกับประชาชนได้เพื่อให้ประชาชนตัดสิน ตามระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เกิดความเป็นธรรม ทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขัน แต่อย่าเอาคนออกจากสนามเพราะคิดว่า กกต.เอาออกจากสนามได้ ต้องต่อสู้กันด้วยนโยบาย

ส่วนสัญญาว่าจะให้คือ 1.ไม่มีอำนาจ 2.ใช้เงินส่วนตัว และ 3.ดำเนินการในนามตนเอง มันชัดเจน ดังนั้น ผมจึงกล้าพูดว่าเรื่องนี้ (นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ) คือนโยบาย เพราะกฎหมายเขียนรองรับไว้อยู่แล้ว แต่ดีไม่ดีให้ประชาชนตัดสินกันเอง ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ทั้งนี้ เมื่อประชาชนดูว่าครบตามกฎหมายแล้วจะเลือกหรือไม่เลือก อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีคนมาสนใจเรื่องแบบนี้ เพราะไม่ได้ทำแค่พรรคเดียว แต่เท่าที่มีข้อมูลทุกพรรคทำนโยบายประชานิยม เพียงแต่ทำแล้วถ้าไม่ดีก็สามารถวิจารณ์พรรคการเมืองอื่นได้เพราะมันคือการแข่งขัน แต่อย่ามาบอกว่าให้ กกต.ทำแบบนั้นแบบนี้ มันผิดกฎหมาย ทำไม่ได้

ถ้าทุกพรรคทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็คือนโยบายใช้หาเสียงได้ เราไม่ทราบว่าดีหรือไม่ดี ทุกคนตอนนี้พูดแทนประชาชน ทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกหรือไม่ ประชาชนอยากเห็นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของ กกต. เมื่อทำถูกตามเงื่อนไข หรือกฎหมาย กกต.ไม่มีสิทธิทำอะไรได้ นอกจากไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อแต่ไปเข้าเกณฑ์สัญญาว่าจะให้ กกต.ค่อยมาพิจารณา แต่ถ้าพรรคไม่ทำตามเงื่อนไข ไม่ส่งวงเงินหรือวิธีการ อาจจะเข้าข่ายหลอกลวง ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

•สรุปแล้ววันเลือกตั้งที่ 14 พฤษภาคม กกต.จะมีการรายงานผลการลงคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์หรือไม่

เรียลไทม์ผมไม่ทราบความหมายของคนพูด แต่ประเทศไทยตั้งแต่มีการรายงานผลไม่เคยมีเรียลไทม์ แต่ถ้ารายงานแบบใบลงคะแนน ส.ส.5/18 เราทำแบบนี้มาตลอด การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้และทำเหมือนเดิม ครั้งนี้จะไม่ให้ผิดแม้แต่คะแนนเดียวเลย จะเร็วขึ้น แต่จะไม่นำเสนอเอง โดยจะทำให้สื่อมวลชนแล้วนำเสนอประชาชนตามรูปแบบที่สื่อแต่ละช่องจะนำไปใช้ ช่วงหลังสงกรานต์ กกต.จะเชิญสื่อมวลชนมาหารือว่าทางเทคนิคจะเชื่อมข้อมูลกันอย่างไร สรุปแล้วประชาชนจะทราบผลคะแนน แนวโน้มและผลประมาณ 22.00 น. โดยจะเห็นผลคะแนนเป็นระยะๆ ไม่ใช่จู่ๆ มาเห็นคะแนนตอนครั้งสุดท้าย ยืนยันว่ามีการรายงานผลคะแนนและทุกคนสามารถติดตามผ่านสื่อได้

•กกต.เคยมีบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แล้ว จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก

วิธีการคงไม่ได้บอก แต่เราได้ทำงานร่วมกัน นำสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อย่าให้เสียไป นำมาแก้ไข ยกตัวอย่างการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องนำบัตรเลือกตั้งกลับเข้ามานับในประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ไปรษณีย์ไทย การท่าอากาศยาน ได้มานั่งคุยกันว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนสบายใจ รวมทั้งมีเวลาจ่ายบัตรเลือกตั้งไปตามเขตต่างๆ ที่ประชาชนลงคะแนนไว้ทันเวลา ส่วนการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจริงๆ การขยายเวลาสามารถทำได้ แต่วันนี้ต้องประกาศหน่วย ใครที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วจะไปลงคะแนนวันที่ 14 พฤษภาคมไม่ได้แล้ว เพราะบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะแยกกัน ด้วยกระบวนการนี้เมื่อปิดการลงทะเบียน สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องประมวลและพิมพ์บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อนำไปทำหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถขยายเวลาออกไปได้เนื่องจากต้องมีระยะเวลาทำงาน ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 18 เมษายน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสตรวจสอบรายชื่อ

•ภารกิจการเลือกตั้ง 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในฐานะแม่บ้าน กกต. มีความกดดันหรือไม่ กับหน้าที่สำคัญครั้งนี้

งานที่ทำเป็นงานของท่าน กกต. ส่วนสำนักงาน กกต.เป็นคนที่ทำงานให้ เป็นหน่วยงานธุรการ เป็นหน่วยงานบริหาร เรามีบทเรียนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาพอสมควร จริงๆ อยากให้การเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยและได้รับการยอมรับ กระบวนการที่ทำมาต่างๆ อาจไม่มีใครเห็น ผมได้ทำกับทีมงาน จนมาถึงวันนี้ก็มีความมั่นใจว่าการเลือกตั้งน่าจะเป็นที่ยอมรับ ระหว่างทางอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างให้แก้ไข ซึ่งก็มีการแก้ไขหน้างานมาอยู่ตลอด แต่ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงานที่เราวางไว้ มีการซักซ้อม มีการวางระบบงาน การประสานงานเป็นไปด้วยดี จนปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรที่ทำให้เกิดความกังวลใจในทางการบริหารของเรา ส่วนทางการเมือง พรรคการเมืองและผู้สมัครต้องหาเสียง ก็เป็นเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ก็จะมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ มีการ
กล่าวหากันไปมา เราก็ต้องมาดูว่ากฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มันไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอะไร เพราะมีครบทุกอย่างแล้ว จึงไม่ได้มีความกังวล หรือมีความหนักใจอะไรเลย

•การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ตั้งเป้าหมายยอดจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไว้อย่างไรบ้าง

เป้าหมายการเลือกตั้งของคนออกมาใช้สิทธิเป็นเรื่องรอง เพราะเรื่องแรกเป้าหมายคือการเลือกตั้งประชาชนยอมรับได้ โดยยอมรับทั้งกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง นั่นหมายถึงว่าการเลือกตั้งมีคุณภาพ ประชาชนคิดอยากเลือกใครก็ได้เลือกคนนั้น โดยไม่มีเงื่อนไขติดอามิสสินจ้างใดๆ เป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพ ส่วนเชิงปริมาณ การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 74 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ จึงให้นโยบายกับผู้อำนวยการการเลือกตั้งทุกจังหวัดให้ทำเพิ่ม 5 เปอร์เซ็นต์ ของตัวเองก็จะได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน่าจะอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ เพราะได้ย้ำกับ ผอ.กกต.จังหวัดว่าไม่ต้องไปแข่งกับจังหวัดอื่น ให้แข่งกับตัวเอง ทำของตัวเองให้เพิ่มจากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่จะได้เพิ่มเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่น่ากังวลอะไรหรือเป็นปัญหาอะไร

•ในฐานะผู้ปฏิบัติมีอะไรอยากฝากทิ้งท้ายถึงประชาชนและนักการเมืองในการเลือกตั้ง 2566

ผมคิดว่าทั้งนักการเมือง ประชาชน รวมทั้ง กกต.ไม่ได้คิดต่างกัน คืออยากเห็นการเลือกตั้งออกมาดี เป็นที่ยอมรับและเป็นทางออกของประเทศ เหมือนใช้การเลือกตั้งเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า แต่ว่าเวลามีการแข่งขันทุกคนอยากได้รับชัยชนะ รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส. ผู้สนับสนุน หรือหัวคะแนน
จึงอาจจะไม่ได้ศึกษากฎหมายให้ถี่ถ้วน อาจทำให้เกินเลยตัวบทกฎหมายไป
ดังนั้น ต้องศึกษากฎหมายให้ดี เพราะนอกจากผลคะแนนที่จะได้แล้วยังมีโทษด้วย มีการพิจารณาการให้ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ส่วนของประชาชนไม่ได้กังวลอะไร เพราะประชาชนมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลาแล้ว แต่ต้องการให้พรรคเสนอนโยบายให้ประชาชนว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ส่วนของกรรมการจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมที่สุด

ศิริภา บุญเถื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image