‘ไอลอว์’ กลัวเสียสิทธิ ลิสต์ฮาวทู ‘เช็กให้ชัด’ ก่อนกา แง้มเว็บส่องประวัติงูเห่าย้ายพรรค

แฟ้มภาพ

‘ไอลอว์’ ห่วงโดนตัดสิทธิ ลิสต์ฮาวทู เช็กทะเบียนบ้าน-เขตเลือกตั้งให้ชัด แง้มช่องส่องประวัติงูเห่าย้ายพรรค

เมื่อวันที่ 16 เมษายน โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ (iLaw) ย้ำเตือนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อของตนก่อนถึงวันใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากหากมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จะไม่สามารถเลือกตั้งได้ตามปกติ

ไอลอว์ระบุว่า ก่อนไปหย่อนบัตร ประชาชนทุกคนจะต้องตรวจสอบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะมีชื่ออยู่ในหน่วยเลือกตั้งใดขึ้นอยู่กับว่าภูมิลำเนาหรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบุคคลนั้นๆ จะอยู่ในพื้นที่ของเขตเลือกตั้งใด แม้การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปกติ แต่ไปมีชื่ออยู่ใน “ทะเบียนบ้านกลาง” ซึ่งจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ รวมถึงสิทธิในการเลือกตั้งด้วย

โดยกลุ่มที่อาจถูกใส่ชื่อใน “ทะเบียนบ้านกลาง” อาทิ

Advertisement

1.นักศึกษาที่ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามหาวิทยาลัย แล้วพ้นสภาพแต่ไม่ย้ายออก
2.คนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศนานแล้ว
3.คนที่มีชื่อในทะเบียนแต่ไม่ได้อยู่บ้านจริง จนเจ้าบ้านย้ายชื่อออก
4.คนถูกหมายจับแล้วหลบหนีเกิน 180 วัน

อย่างไรก็ดี วันที่ 18 เมษายนนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมเปิดเว็บไซต์ให้ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง โดยหากมีชื่อในทะเบียนบ้านกลาง ให้รีบไปดำเนินการย้ายออก ซึ่งถ้าย้ายออกก่อน 90 วันสามารถไปเลือกตั้งที่ใหม่ได้ แต่หากไม่ถึง 90 วัน ให้ไปเลือกตั้งตามที่อยู่เดิมที่เคยอยู่ติดต่อกันเกิน 90 วัน

Advertisement

ไอลอว์ เปิดเผยวิธีย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลาง เข้าทะเบียนบ้านปกติ รักษาสิทธิเลือกตั้ง โดยสรุปเป็น 5 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ผู้ที่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลาง นัดแนะกับเจ้าบ้านที่ต้องการจะย้ายชื่อเข้าไปยังทะเบียนบ้านนั้น เตรียมเอกสารสามอย่าง 1.เอกสารยืนยันตัวตนตัวจริงของผู้ที่จะย้ายเข้า (บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง) 2.เอกสารยืนยันตัวตนตัวจริงของของเจ้าบ้าน (บัตรประชาชน ใบขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง) 3.เล่มทะเบียนบ้านจริงที่จะย้ายเข้า ไปที่สำนักงานเขตในกรณีกรุงเทพฯ และสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรณีต่างจังหวัด

ขั้นตอนที่ 2: แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านที่โต๊ะหน้าของกองทะเบียนราษฎร ยื่นเอกสารทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับบัตรคิว

ขั้นตอนที่ 3: รอเรียกคิวและยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านให้

ขั้นตอนที่ 4: จ่ายค่าธรรมเนียม 20 บาท อย่าลืมพกเงินสดติดตัวไปด้วยเพื่อความรวดเร็ว

ขั้นตอนที่ 5: รับทะเบียนบ้านคืน แค่นี้ก็มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ใช้เวลาไม่นาน ไม่เกิน 15 นาที (หากคิวไม่ยาว)

กรณีที่เจ้าบ้านไม่สะดวกมาดำเนินการด้วยตัวเอง สามารถเขียนหนังสือมอบหมายและยินยอมให้ดำเนินการแทน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเซ็นรับรองมาให้ดำเนินการแทนได้

ดาวน์โหลด : หนังสือมอบหมายและยินยอมให้ดำเนินการแทน

อ่านรายเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การย้ายทะเบียนบ้านกลางในกรณีอื่นๆ เช่น อาศัยอยู่ต่างประเทศ, ผู้ทุพพลภาพหรือพิการ

 

ทั้งนี้ การเลือกตั้งปี 2566 เปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งด้วยระบบใหม่ที่แบ่งเขตใหม่หมดทั้งประเทศ ไอลอว์จึงชวนตรวจสอบทะเบียนบ้านของตัวเองว่านับเป็นเขตการเลือกตั้งที่เท่าไหร่ เพียงกรอกจังหวัด อำเภอ ตำบล ผ่านทางเว็บไซต์ vote62.com

นอกจากนี้ ไอลอว์ ยังทำโพลสำรวจความเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสอบถามประชาชนว่า “คุณรู้หรือยังว่า บ้านของตัวเองนับว่าเป็นเขตที่เท่าไร การแบ่งเขตครั้งใหม่ทำให้ต้องเลือกผู้สมัครคนไหนบ้าง?”

โดยมีผู้ร่วมโหวต แบ่งเป็น 1.รู้ เขตเปลี่ยน เช็กแล้ว 42.5 % 2.รู้เหมือนเดิมตลอด ไม่ยาก 27.7 % 3.ไม่รู้เขตเปลี่ยน ต้องเช็ก 21.7 % และ 4.ไม่รู้ ไม่เคยจำอยู่แล้ว 8 %

ล่าสุด ไอลอว์ชวนสำรวจชุดข้อมูล DEMO Thailand ที่จะเผยให้เห็นว่าใครเป็นใครในสนามการเลือกตั้ง 66 ใครบ้านใหญ่บ้านเล็ก? ใครหน้าเก่าหน้าใหม่?

โดยคลิกเลือกจังหวัดสำรวจพื้นที่บ้านตัวเอง ก่อนตัดสินใจว่าปีนี้จะเลือกพรรคไหน ผ่านทางเว็บไซต์ https://demothailand.rocketmedialab.co/politician-database

ทั้งนี้ ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้แบ่งผู้สมัครออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.สัญลักษณ์ ‘วงกลม’ หมายถึงผู้สมัคร ส.ส.ที่มาจากพรรคการเมืองเดิม
2.สัญลักษณ์ ‘สี่เหลี่ยม’ หมายถึง ผู้สมัคร ส.ส.ที่มาจากการย้ายพรรค โดยมีข้อมูลว่าย้ายมาจากพรรคใด
3.สัญลักษณ์ ‘สามเหลี่ยม’ หมายถึง ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่

นอกจากการแยกประเภทผู้สมัครแล้ว ไอลอว์ยังชวนติดตาม @rocketmedialab บทวิเคราะห์รายพรรค รายประเด็นว่าแต่ละพรรคมีผู้สมัคร ส.ส.มาจากไหน พรรคเดิม ย้ายพรรค หรือหน้าใหม่ เป็นสัดส่วนเท่าไร และข้อมูลที่ละเอียดลงไปอีกว่า คนที่ย้ายพรรค ย้ายมาจากพรรคไหนบ้าง เป็นอดีต ส.ส. ย้ายพรรคจำนวนเท่าไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image