‘บิ๊กป้อม’ ดันกม.คุ้มครองวาฬบรูด้า หนุนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “สัตว์ทะเลหายาก” เป็นเรื่องที่สำคัญจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางในการอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วาฬบรูด้า” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้าได้สร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศปีละประมาณ 26.7 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมากกว่า ปีละ 8,000 คน มีผู้ประกอบการการท่องเที่ยวและเรือนำเที่ยวมากกว่า 38 ลำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับวาฬบรูด้า เนื่องจากวาฬบรูด้าเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการถูกรบกวน แต่จากการที่มีเรือนำเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเป็นประจำทุกวัน ทำให้วาฬเกิดความคุ้นเคย ซึ่งหลายครั้งพบว่าเรือนำเที่ยวเข้าไปใกล้ในระยะที่อาจเป็นอันตราย หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบและรบกวนพฤติกรรมของวาฬในธรรมชาติ นอกจากจะประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการแล้ว และเร่งขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ติดตามและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย รวบรวมข้อมูลสถานการณ์ สภาพปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยวชมวาฬบรูด้า พร้อมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว ให้เป็นกติกาที่มีผลบังคับตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่าย ขยายความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทุกมิติ

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองวาฬบรูด้าจากกิจกรรมท่องเที่ยว พ.ศ. … ต่อไป และพิจารณาเรื่องการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพทรัพยากรหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย โดยการกำหนดสถานีสำรวจติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเลประจำปีของประเทศไทย จำนวน 128 สถานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า มอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล นอกเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 สถานี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจติดตามสถานภาพฯ ในเขตอุทยานฯ 48 สถานี พร้อมทั้งได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจดังกล่าวบรรจุในรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยประจำปีด้วย

จากนั้น พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติทุก 3 ปี ซึ่งนโยบายป่าไม้แห่งชาติได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 จึงครบกำหนดที่ต้องมีการทบทวนตามระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยให้คงวัตถุประสงค์ของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 4 ประการ บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 24 ข้อ ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการจัดการป่าไม้
(2) ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ (3) ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ ไว้เช่นเดิม และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

Advertisement

นอกจากนี้ที่ประชุมฯได้เห็นชอบ การเพิกถอน (1) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี บางส่วน ในท้องที่ตำบลบ่อนอก ตำบลอ่าวน้อย ตำบลเกาะหลัก ตำบลคลองวาฬ ตำบลห้วยทราย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (2) ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ตาลและป่าแม่ยุย และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่หาด บางส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ในท้องที่ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image