นโยบายหาเสียง งบมโหฬาร-ทำได้จริง?

ชำแหละนโยบายหาเสียง งบมโหฬาร-ทำได้จริง?

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคการเมืองชี้แจงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงรายละเอียดนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พบมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Advertisement

เมื่อมีการติดป้ายราคานโยบาย ผ่านการชี้แจงรายละเอียดของนโยบายพรรคถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่ทำให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยมองเห็นรายละเอียดการใช้จ่ายเงินในแต่ละโครงการว่าเป็นโครงการที่สร้างภาระ หรือเป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ อย่างน้อยคุณูปการ ทำให้ประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งเห็นภาพมากขึ้น แฟร์มากขึ้นว่าเมื่อพรรคเหล่านี้จะเข้ามาบริหารประเทศ จะทำอะไรบ้าง ทำแล้วได้อะไร เอาเงินที่ไหนมาใช้ และใช้เงินเป็นหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยลบภาพศักยภาพนักการเมืองรุ่นเก่าที่คิดง่ายๆ ว่าเอาเงินไปแจกจ่ายแต่ไม่ได้สร้างศักยภาพให้กับคน

โดยโครงการที่สร้างภาระทางการคลังสำรวจจากป้ายโฆษณาชวนเชื่อของพรรคการเมืองจะอยู่ในโครงการที่เรียกว่าสวัสดิการ ผ่านคีย์เวิร์ดที่สำคัญได้แก่ ค่าแรง สวัสดิการ เงินเดือน เกษตรกร ผ่านวิธีการเดิมๆ คือ การมีเงินกองทุนให้กู้ยืม หรือสร้างรายได้ หรือพักหนี้ ซึ่งน่าจะเป็นคำสำคัญที่พรรคการเมืองนำไปวางเพื่อเขียนโยบาย เพราะถ้อยคำเหล่านี้เน้นไปที่กระเป๋าเงินของประชาชนเป็นหลัก

เมื่อความสว่างลงไปความชัดเจนก็มีมากขึ้น จากการสแกนจากรายละเอียดทีละพรรค โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ชี้แจงมาก็พบว่า 70 โครงการที่ใช้งบประมาณ 3 ล้านล้าน มีหลายโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม เช่น โครงการเงินสมทบสร้างตัว สวัสดิการผู้สูงอายุ สนับสนุนเอสเอ็มอี หรือยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

Advertisement

ขณะที่พรรคก้าวไกลที่หลายนโยบายเปลี่ยนประเทศได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เพียงแต่การปรับโครงสร้างต่างๆ ของกลไกภาคสังคมหรือภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโครงการที่ใช้เงินหนึ่งล้านล้าน โดยเงินส่วนใหญ่จะหมดไปกับโครงการสวัสดิการสังคมจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งไม่ใช่การยัดเงินใส่มือโดยตรง แต่จะจ่ายต่อเมื่อเงินนั้นยกระดับสวัสดิภาพ หรือพรรคพลังประชารัฐที่ใช้เงินสนับสนุนโครงการบัตรสวัสดิการ 700 บาทต่อเดือน และฟรีประกันชีวิตประชารัฐ แม่-บุตร-ธิดาประชารัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ สุขภาพครบวงจร ซึ่งโครงการเบ็ดเสร็จติดป้ายราคาไว้ที่กว่า 1 ล้านล้าน ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติใช้เงินไปกับสวัสดิการรวมทุกนโยบายประมาณ 2.5 แสนล้านล้านบาท

หากพิจารณาต้นทุนโครงการต่างๆ เทียบกับตามนโยบายที่พรรคการเมืองแจกแจงออกมาก็จะเห็นได้ว่าโครงการต่างๆ มีต้นทุนมหาศาล เช่น เงินช่วยเหลือชาวนา 30,000 บาทต้องใช้เงิน 130,000 กว่าบาท หรือเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท ต้องใช้เงิน 500,000 กว่าล้านบาท ในขณะที่คนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น ต้องจ่ายเงินนี้นานขึ้นคิดง่ายๆ แค่ 2 โครงการนี้ก็ต้องใช้จ่ายเงินร่วม 800,000 ล้านล้านเข้าไปแล้ว

ในขณะที่งบประมาณใช้จ่าย เช่น ในปี 2566 ประเทศไทยมีงบใช้จ่าย 3.19 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้หมดไปกับรายจ่ายประจำ 2.34 ล้านล้านบาทเสียแล้ว และจ่ายอื่นๆ เกือบแสนล้านล้าน เช่นนี้ จึงเท่ากับว่ามีเงินเหลือเพียง 8 แสนล้านล้านบาท หากเทียบกับนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ชี้แจงมาก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ของโครงการจึงเกิดขึ้นได้ยากพอสมควร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มีต้นทุนติดป้ายราคานโยบายถึง 3 ล้านล้านบาท และแน่นอนความเป็นไปได้สำหรับพรรคการเมืองที่ใช้จ่ายน้อยลง จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะของพรรครวมไทยสร้างชาติที่หากคำนวณตัวเลขไม่ผิดและใช้จ่ายเพียง 2.5 แสนล้านบาท น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ส่วนเส้นทางการหาเงิน ยังไม่ชัดมากนักนอกจากการหันกลับมารีดภาษี ที่ว่าไม่ชัดเพราะนโยบายที่ทำให้คนไทย หรือประเทศไทยรวยขึ้นยังมองไม่เห็น หรือมีน้อยจนภาพเบลอๆ เช่น นโยบายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทักษะฝีมือหรือการศึกษาการพัฒนานวัตกรรม หรือการปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกและภาพของนโยบายสะท้อนภาพนักการเมืองที่ใช้เงินเก่ง มากกว่านักการเมืองที่หาเงินเก่ง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ขณะนี้หลายพรรคการเมืองได้มีการประกาศนโยบายหาเสียง และจะต้องใช้งบประมาณหลายล้านล้านบาท มองว่าในข้อดีพรรคการเมืองพยายามจะสร้างนโยบายเป็นสัญญาใจ สัญญาประชาคมกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดนโยบายพบว่า ทุกพรรคจะใช้เม็ดเงินไปจำนวนมาก เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมืองระยะสั้น ถ้าวางแผนไม่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติก็จะกระทบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และกระทบการเงินการคลังของประเทศ ก็กังวลใจอยู่เหมือนกัน แต่พรรคการเมืองไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าผลประโยชน์ ที่พรรคของตนเองจะได้รับก็คือชัยชนะทางการเมือง เพื่อไปจัดตั้งรัฐบาล คิดว่าทางพรรการเมืองคนอ่านเกมขาดว่า นโยบายที่อ้างไปนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เยอะ เพราะบรรทัดฐานในอดีตที่ผ่านมาก็คือ รัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายที่สัญญาอะไรเอาไว้ ก็ไม่มีผลทางด้านการปฏิบัติ และกกต.ก็ไม่ดำเนินการอะไร จึงกลายเป็นบรรทัดฐาน จึงกลายเป็นว่าพรรคการเมืองจะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่ปัญหา เพราะ กกต.ไม่มีความสามารถที่จะติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม

ประการต่อมาในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าจะเป็นรัฐบาลผสม ก็จะมีข้ออ้างได้ว่าไม่สามารถผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนได้ทั้งหมดเนื่องจากต้องไปหลอมรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อไกล่เกลี่ยนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลนั้นๆ ได้หาเสียงเอาไว้ จึงทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายลด แลก แจก แถม เพื่อให้ได้คะแนนในระยะสั้น

กรณีที่พรรคเพื่อไทยจะต้องใช้งบประมาณไปกับโครงการต่างๆ กว่า 70 โครงการ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท ต้องยอมรับว่านโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล หลายคนจึงกังวลใจว่าจะกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ แต่ทุกพรรคการเมืองก็รู้ดีกว่านโยบายที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถทำได้หมด ดีไม่ดีสามารถทำตามนโยบายได้ 1-2 นโยบายเท่านั้น เนื่องมาจากยากมากที่จะมีพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว เมื่อเกิดรัฐบาลผสมก็สามารถอ้างได้ว่านโยบายที่เสนอไว้นั้นจะต้องไปรวมกับนโยบายกับพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งเป็นทางลงและเป็นบรรทัดฐานคือ ไม่ต้องทำนโยบายทั้งหมดก็ได้ ถามว่ามีความผิดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีความผิด แต่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่มีความจริงจัง ก็คือ กกต.และนี่คือเทคนิคและเป็นเกมทางการเมือง เพื่อดึงคะแนนเสียงจากประชาชนเท่านั้นเอง

ส่วนกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอไปเพียง 2.5 แสนล้านบาท คิดว่าคงประเมินจากงบประมาณสัดส่วนที่มีอยู่จริง จึงมองได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ทันกลเกมทางการเมืองที่มีชั้นเชิงมากกว่าอย่างพรรคเพื่อไทย เพราะรู้อยู่ว่ามีงบประมาณที่จะใช้จริงประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จึงได้วางนโยบายตามจำนวนเงินที่มีอยู่จริง ถือว่าไม่ทันเกมทางการเมืองสู้กับพรรคเพื่อไทยไม่ได้

การปฏิบัติงานของ กกต.เปรียบเสมือนตรายางหรือไม่ ในเรื่องนี้ส่วนตัวมองว่าแก้ไขปัญหาไม่ได้ เนื่องมาจากพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายลดแลกแจกแถม และใช้เงินจำนวนมหาศาลหลายล้านล้านบาท ก็มีผลมาจากการที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายแล้วไม่ยอมทำตามนโยบาย แล้วก็มีบรรทัดฐานของ กกต.สมัยตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐมาแล้ว ตอนที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็เสนอนโยบายสัญญาประชาคมไว้กับประชาชนหลายนโยบาย และก็ไม่ทำด้วย ซึ่งเป็นความผิด และกกต.ก็ไม่ดำเนินการเอาผิด ปล่อยให้บริหารประเทศจนครบวาระ นี่คือบรรทัดฐาน ที่ใครก็ได้ที่จะเป็นรัฐบาลตอนนี้ พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ประชาชนคล้อยตามและเชื่อ พร้อมทั้งเลือกพรรคการเมืองต่างๆ เหล่านั้นเข้าไปเป็นรัฐบาล เมื่อไม่ทำก็ไม่มีโทษ และไม่มีผลในทางปฏิบัติ ทั้งที่มีความผิด

หากถามว่ามี กกต.ไว้ทำอะไร บอกแล้วว่า กกต.ชุดนี้เป็นที่จับตามองของสังคม และทำหน้าที่เหมือนกับหน่วยงานราชการประจำบริหารงานเลือกตั้ง และไม่สามารถปฏิบัติงานในเชิงรุกในการรักษา หรือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม รวมทั้งติดตามกำกับนโยบายของพรรคการเมืองได้ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและประชาชนอย่างเข้มข้น เพราะเห็นชัดเจนว่าไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของพรรคการเมือง

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในเรื่องนโยบายของพรรคการเมือง แน่นอนว่าต้องเสนอมุมที่มองไปข้างหน้า แน่นอนว่าบางครั้งอาจจะดูเกินจริงไปบ้าง และในบางเรื่องอาจจะไม่สามารถทำได้จริง ซึ่งถ้าเราย้อนไปดู 4 ปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้ง 2562 ถ้ารวบรวมนโยบายต่างๆ ของพรรคที่ได้เข้าสู่สภา ในเวลานั้น มีอยู่ประมาณ 200 กว่าเรื่อง แต่ท้ายที่สุดทำสำเร็จอยู่แค่ 8 เรื่อง

สะท้อนให้เห็นว่า ด้วยกลไกของระบบรัฐสภาและระบบราชการ ไม่ง่ายที่จะทำได้จริง แต่แน่นอนว่านโยบายเหล่านี้พรรคการเมืองต่างนำเสนอเพื่อดึงคะแนนเสียง เรียกความสนใจจากสังคม อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ระบบปกติของประเทศไทยมีปัญหา จึงทำให้การเสนอนโยบายเหล่านี้เป็นที่สนอกสนใจของประชาชน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ก็ยังมีอยู่สูง โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะของภาครัฐก็ต้องมีปัญหา เพราะถ้าไม่มีปัญหาเราคงไม่เห็นพรรคการเมืองเสนอสารพัดลด แลก แจก แถม หรือ นโยบายช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง 2566 จะเห็นได้ว่า นโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคเสนอ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง หรือการให้เงินกับประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม ล้วนสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติที่พรรคจะเสนอ แต่ กกต.ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า นโยบายไหนทำได้/ไม่ได้ อันไหนเกินจริง เว่อร์วังอลังการเกินไปหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ต้องใช้กลไกทางการเมือง

ข้อมูลข่าวสารไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ไกลตัวประชาชน เพราะในโลกแห่งอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาตรวจสอบกันเอง ถูกเอามาเปิดเผย ถกแถลง ดีเบต นั่นคือข้อมูลที่ประชาชนจะได้รับอยู่แล้ว ยิ่งทุกวันนี้เวทีดีเบตแทบจะลงไปทุกเขตเลือกตั้งแล้ว สื่อจัดกันทุกสำนัก ดังนั้น เวทีดีเบตเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในช่องทางให้ประชาชนใช้พิจารณา ติดตามข่าวสาร ว่าใครทำได้จริง/ไม่จริง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ร่วมกับข้อมูลบนโลกของอินเตอร์เน็ตด้วย

ส่วนการชี้แจงรายละเอียดงบประมาณในการทำนโยบายถึง กกต. บางพรรคชี้แจงได้เคลียร์แล้ว บางพรรคยังไม่เคลียร์ แต่สำหรับพรรคการเมืองใหญ่ๆ ค่อนข้างมีความชัดเจนว่าจะมีที่มาที่ไปของเงินงบประมาณอย่างไร ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราไปกำกับด้วยกลไกทางกฎหมายมากมายแบบนี้ สุดท้ายมันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อที่จะเอามายุบพรรค ลงโทษ ปรับ สารพัดวิธี

รอบนี้นโยบายที่แข่งขันกันมากที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรง ให้เงินประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทุกพรรคมีหมด เป็นจุดเด่น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาเฉพาะหน้า และใกล้ตัวประชาชนมากที่สุดในเวลานี้ จึงถูกหยิบจับขึ้นมาชูเป็นอันดับต้นๆ

ส่วนนโยบายที่น่าสนใจสำหรับผม คือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ของพรรคเพื่อไทย หลายคนอาจจะมองว่า เป็นเพียงการแจกเงินให้ประชาชน ซึ่งจริงๆ ถ้าเราดูตัวเนื้อหานโยบายอย่างละเอียด จะพบได้ว่านโยบายนี้คือการกระจายเงินลงสู่ชุมชน เพราะดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถใช้ได้ทั่วไป ใช้ได้แค่รัศมี 4 กม. ในชุมชน นี่คือการเอาเงินกระจายลงสู่ชุมชนของภาครัฐ เพราะปกติที่ผ่านมา นโยบายลดแลกแจกแถม อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออะไรก็ตาม ท้ายที่สุดวนกลับไปสู่กลุ่มทุน

ดังนั้น คิดว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจ มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มีในเรื่องของบล็อกเชนที่เข้ามาขับเคลื่อนด้วย ทำให้สังคมได้เรียนรู้เรื่องบล็อกเชน และอาจจะนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีในมิติอื่นๆ ที่รออยู่ข้างหน้าเยอะมาก

ความจริง ผมไม่คิดว่านโยบายที่มากมายจะส่งผลดีอะไรต่อการเลือกตั้ง ประการแรก ในการรณรงค์หาเสียงก็ทำได้ยาก นโยบายที่มากพรรคก็จำยาก บางครั้งนโยบายที่มากเกินไปแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดกับสังคม ก็จะกลายเป็นกระแสมุมกลับสู่พรรค ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเยอะ เอาที่ไฮไลต์ควรจะมี 3 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเร่งด่วน นโยบายด้านการเมือง แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จะขับเคลื่อนอย่างไรให้การเมืองเป็นของประชาชน และสะท้อนเจตจำนงได้ เช่น การแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ 3 คือ นโยบายทางด้านสังคม ทำอย่างไรที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

สิ่งที่แต่ละพรรคการเมืองตั้งเอาไว้ เอาเข้าจริงแล้ว ทำตามนั้นไม่ได้ทั้งหมด เพราะถ้าทำตามทั้งหมด เงินทั้งประเทศคงไม่พอ และเป็นนโยบาย 4 ปี ไม่ใช่ทำแค่ปี 2 ปีเท่านั้น บางนโยบายอาจจะต่อเนื่องไปเกินกว่าวาระ 4 ปีของสภา ก็มีเหมือนกัน ผมไม่ได้เป็นห่วงเรื่องเงิน เพราะขั้นตอนในการขับเคลื่อนนโยบายยังมีอีกมาก ถ้าหากพรรคใดได้เข้าไปเป็นรัฐบาล ต้องเสนอกฎหมายเข้าสู่ ส.ส. และ ส.ว.แถลงผ่านสภา ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หากจะทำอะไรต้องเสนอเป็นกฎหมาย หรือต้องออกเป็นมติ ครม. ไหนจะยังมีการตรวจสอบจากกลไกอื่นๆ อีก ทั้งตรวจสอบการใช้เงินงบ จากฝ่ายการเมือง การตรวจสอบโดยระบบราชการ การตรวจเงินแผ่นดิน การทุจริตคอร์รัปชั่น มีกลไกอีกเยอะแยะมาก จึงไม่กังวลเลยว่าถ้าพรรคนี้ได้เดี๋ยวเงินจะไม่พอในประเทศนี้ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างนั้น

ผมว่าแต่ละพรรคที่เสนอนโยบาย ตลอดระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้ ไม่ว่าพรรคไหนได้เป็นรัฐบาล ทำได้สัก 5 เรื่องที่เป็นไฮไลต์ของพรรค ผมว่าเก่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image