เศรษฐาชี้ แม้เปิดกว้าง แต่ LGBTQIA+ ยังถูกปิดกั้น ชู 3 นโยบาย เพื่อความเท่าเทียม สมรสเท่าเทียมต้องสำเร็จใน 6 เดือน
เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้ทวิตข้อความลงในโซเชียลมีเดีย ถึงจุดยืนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยว่า
“ผมแปลกใจ ที่ในการสนทนาการเมืองช่วงที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น และถกกันอย่างเข้มข้นทางจุดยืน แต่หนึ่งในประเด็นที่ไม่มีใครแสดงจุดยืนเลยคือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แม้รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 27 จะกำหนดไว้ว่า “… ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน … ” ที่ผมเองก็ยังสงสัยว่าถ้อยคำนี้ถูกต้องหรือไม่? ผมขอชวนคิดถึงวลีนี้ต่อไปในบทความนี้
ในสายตาประชาคมโลก ประเทศไทยถือเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับ LGBTQIA+ ที่สังคมยอมรับความหลากหลาย เราเองก็ส่งออกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวของกับ LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ หรือการแพทย์จนทั่วโลกต่างยกย่อง แต่ภายใต้ความ “เปิดกว้าง” นั้น ยังมีเรื่องที่ถือเป็นเรื่อง “ปิดกั้น” กลุ่มคน LGBTQIA+ ยังไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเหตุเกิดจากตัวบทกฏหมายที่ไม่ถูกแก้ไขให้เหมาะสม
ในอดีต ผมได้เห็นความพยายามผลักดัน พรบ. สมรสเท่าเทียม แต่ผู้นำยุคก่อนไม่ได้ใส่ใจ ซ้ำยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มคัดค้านก็ได้ออกมากล่าวถึงเหตุผลที่ผมฟังแล้วก็รู้เศร้าใจ ผมจึงอยากให้เหตุผลจากมุมมองของผมให้ทุกท่านพิจารณาอีกครั้ง (re-consider) ดังนี้
ข้อแรก มีข้ออ้างว่า ปัจจุบันมีพรบ.คู่ชีวิตแล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่าน พรบ.สมรสเท่าเทียมก็ได้ แต่ผมมองว่าด้วยรายละเอียดที่แตกต่างในตัวบทกฏหมาย ทำให้สิทธิหายไป เช่น สวัสดิการข้าราชการ สิทธิการขอสัญชาติ ในคู่สมรสที่ไม่ใช่ “ชาย-หญิง” เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ “คู่สมรส” ต้องเป็นระหว่าง “ชาย-หญิง” เท่านั้น จึงทำให้คู่สมรสระหว่าง “บุคคล” ไม่ถูกครอบคลุม เช่น “ชาย-ชาย” หรือ “หญิง-หญิง (เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจตรงกัน ขออภัยที่ต้องยกตัวอย่าง) และหากเขาเป็นคู่สมรสกัน ทำไมถึงจะไม่ให้สิทธิตามกฎหมายเหล่านี้ล่ะ?
ข้อถัดมา มีการให้เหตุผลว่าสังคมไทยยังมีกลุ่มที่อนุรักษ์นิยมอยู่มาก พรบ.สมรสเท่าเทียมจะนำไปสู่การต่อต้านในสังคม สำหรับผมนั่นไม่ใช่ข้ออ้าง มันเป็นหน้าที่ของผู้นำที่จะสร้างความเข้าใจ อธิบายเหตุผลและชี้แจง ไม่ใช่ถอยหลังทุกครั้งและอ้างการต่อต้าน ทีซื้อเรือดำน้ำ ท่านไม่เห็นถอยตอนประชาชนท้วง เดินหน้าเต็มตัวแถมได้เครื่องยนต์ไม่ตรงสเป็คอีก
ผมมีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันกับคนทุกกลุ่มโดยมีความตั้งใจ 3 ประการดังนี้ ข้อที่หนึ่ง ผมตั้งเป้าที่จะผลักดันพรบ.สมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายใน 6 เดือนหากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ผ่านกฎหมายให้โดยเร็ว ก้าวข้ามผ่านคำว่าเพศชายหรือเพศหญิง
ข้อสอง ผมจะศึกษาสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยา การแพทย์ การรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้นำในอดีตไม่ได้ใส่ใจ
และข้อสุดท้าย ผมจะจุดประกายห่วงโซ่การเจริญเติบโตที่จะตามมา (Spark Chain of Events) เริ่มตั้งแต่การสร้างบรรทัดฐานการยอมรับความหลากหลาย (Diversity & Inclusion) ในภาคเอกชนข้าราชการ นำไปสู่ขยายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลักดันอุตสาหกรรม Creative ดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ให้มาเปิดสำนักงานหรือลงทุน เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ และทำให้ประเทศไทยกลายเป็น Global Destination ของโลกได้สำหรับคนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
ผมแปลกใจ ที่ในการสนทนาการเมืองช่วงที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันหลายประเด็น และถกกันอยากเข้มข้นทางจุดยืน แต่หนึ่งในประเด็นที่ไม่มีใครแสดงจุดยืนเลยคือเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แม้รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 27 จะกำหนดไว้ว่า
“… ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน … ”…— Srettha Thavisin (@Thavisin) April 21, 2023