ส่อง‘วาทกรรม’การเมือง ดึงแต้มต่อเชิงยุทธศาสตร์
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อนโยบายและวาทกรรมหาเสียงเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ส.ส. 2566
วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ถ้าพูดถึงความเป็นมา เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ สมัย 1983 และ 1987 ตอนนั้นเกิดปรากฏการณ์จับมือกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือพรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคเสรีนิยม โดย 2 พรรคนี้มองว่าตกเป็นรองคะแนนนิยมของพรรคหนึ่ง ซึ่งก็เป็นพรรคใหญ่ในระบบการเมืองอังกฤษ คือพรรคอนุรักษนิยม ของนางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เขาก็เลยกำหนดยุทธศาสตร์ประมาณว่า “ถ้าไม่เลือกเรา (ผู้สมัครพรรคสังคมประชาธิปไตย) เขา (ผู้สมัครพรรคอนุรักษนิยม) มาแน่” เกิดการวิเคราะห์กันจนเกิดปรากฏการณ์ (strategic voting) ขึ้นเมื่อนานมาแล้ว และปรากฏมาเรื่อยๆ
ล่าสุด ที่เด่นชัดและคนไทยพอจะจำความได้ คือ การแข่งขันกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดนซึ่งก็มีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ ใช้การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าไม่เลือกไบเดน ทรัมป์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
ย้อนกลับมาดูที่เมืองไทย ปรากฏการณ์นี้ผมเข้าใจว่าน่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร ที่มีการต่อสู้ทางการเมืองเป็นต้นมา กับฝ่ายตรงข้ามที่ทราบกันดี นำมาสู่การก่อรัฐประหารหลายครั้ง ซึ่งจะใช้วาทกรรมแบบนี้ ไม่เลือกฝ่ายที่บอกว่าจะมากำจัดระบอบทักษิณ เขา (ระบอบทักษิณ) จะกลับมา จนมาถึงปัจจุบันนี้ เส้นสายเรื่องราวเดียวกัน เพียงแต่คราวนี้กลับกัน ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเองก็ออกมาประกาศนโยบายเชิงยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่เลือกเราเขามาแน่ เขาในที่นี้คือระบอบประยุทธ์ จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็ใช้เหมือนกัน
ผมว่าใช้ได้ผลไม่มากก็น้อย จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาสมัยแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามพรรคพลังประชารัฐเดิม ซึ่งตอนนี้ก็ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนอยู่พรรคพลังประชารัฐก็แนวทางแบบนี้ คือกำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงการโหวตด้วยการมีวาทกรรม ไม่เลือกเราระบอบทักษิณมาแน่
ถามว่าวาทกรรมนี้ ผลประโยชน์จะไปตกที่ใคร ผมว่าบ้านใหญ่ก็มีผล แต่ต่างฝ่ายต่างก็ใช้โต้ตอบซึ่งกันและกัน อยู่ที่ว่าบ้านใหญ่จะสังกัดพรรคไหนและฝ่ายไหนมากกว่า ถ้าเขาสังกัดฝ่ายที่ใช้วาทกรรมนี้ก็อาจจะมีผลทำให้เขาเหล่านั้นที่สังกัดบ้านใหญ่ อยู่ในกลุ่มผู้มีอิทธิพลไทยในแต่ละจังหวัดหรือโซนพื้นที่ ได้รับประโยชน์ด้วยการรับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนนั่นเอง
ดังนั้น ผมมองว่าในการเลือกตั้งที่งวดเข้ามาวาทกรรมแบบนี้จะปรากฏขึ้นเพื่อหวังดึงคะแนนเสียงให้พรรคตัวเองมีความกระเตื้องขึ้น
อย่างไรก็ดี การเลือกเชิงยุทธศาสตร์ มีผลเสียคือทำให้ความเป็นประชาธิปไตยบิดเบี้ยวไปส่วนหนึ่ง เพราะวาทกรรมนี้ผลิตออกมาเพื่อจูงใจโน้มน้าวผู้ที่อาจจะอยู่ในโซน “สะวิงโหวต” ลังเลว่าจะเลือกพรรคไหน หากมีวาทกรรมนี้ก็อาจสร้างโจทย์ขึ้นในใจว่า ตกลงตัวเราเองควรจะเห็นด้วยกับคำนี้ไหม พิจารณาไปที่คำว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” คนที่คิดว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยดีไหม นอกจากดูจากนโยบายแล้ว ยังดูว่าหากมีวาทกรรมนี้ขึ้นมา ถ้าไม่เลือกทางพรรคเพื่อไทย ระบอบประยุทธ์กลับมาสานอำนาจต่อแน่
ในทางตรงข้าม ประชาชนคนไทยที่กำลังตัดสินใจอยู่ และเห็นวาทกรรมไม่เลือกเราเขามาแน่ ระบอบทักษิณก็จะกลับมาอีกครั้ง ถ้าเช่นนั้นแล้ว ก็อาจจะคิดว่าเราควรเลือกฝั่งพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติไว้ จะอุ่นใจ มันจึงมีทั้ง 2 ฝ่าย 2 ฝั่ง และประชาชนก็ใช้มุมนี้มาตัดสินใจ แทนที่จะดูนโยบายเป็นหลักว่ามีความเหมาะสม หรือดีงามมากน้อยแค่ไหน
แต่กลับไปมองเรื่องของการ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” การโหวตเชิงยุทธศาสตร์กลายเป็นตัวตัดสินใจที่จะเดินเข้าคูหาหย่อนบัตร อาจจะมองได้ในแง่ของการขาดการใช้หลักเหตุผล ใช้อารมณ์ของตัวเองเป็นตัวตั้ง ทำให้ในภาพรวมกระทบกับความเป็นระบอบประชาธิปไตย
ส่วนกระแสการเลือก จะเทไปในทางยุทธศาสตร์หรือเลือกตามใจชอบ ในมุมนักวิชาการอย่างผมก็อยากเห็นภาพการโหวตโดยใช้เหตุผลเป็นหลัก คือการมองไปที่นโยบาย มากกว่าที่จะฟังวาทกรรมทางการเมือง สวนกระแสการเลือกของประชาชนก็อาจมีผลส่วนหนึ่งจากวาทกรรมนี้ แต่จะมีนัยยะสำคัญถึงขนาดผลพลิกหรือไม่ ผมว่าตอนนี้ทางฝ่ายพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเอง น่าจับตามองว่าจะเริ่มมีวาทกรรมเช่นนี้ออกมา เพื่อดึงคะแนนให้พรรคของตัวเองกระเตื้องขึ้น ภาพรวมอาจส่งผลให้ประชาชนเลือกเชิงยุทธศาสตร์มากระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่เฟื่องฟูเป็นที่คาดหวังได้เหมือนสมัย 4 ปีที่แล้ว สมัยนี้เนื่องจากความสร่างซาในคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ลดน้อยถอยลงค่อนข้างมาก ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์และวาทกรรมเพื่อการโหวตของฝั่งที่ครองอำนาจเดิมในปัจจุบันอาจจะได้ผลระดับหนึ่งแต่ไม่มากเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ปฐวี โชติอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จากผลโพลที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมลดลง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมในการเป็นนายกฯ แซงหน้าแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยในหลายโพล รวมถึงความนิยมที่ลดลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะได้ความนิยมเป็นอันดับสามก็ตาม
การปรับตัวของพรรคการเมืองหลังจากนี้น่าจะออกนโยบายที่ฉีกแนวสร้างความสนใจให้กับประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยทำสำเร็จมากจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท สร้างความสนใจให้ประชาชนอย่างมากและได้พื้นที่สื่อในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำ คือ เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหา PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาและส่งผลต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก, ปัญหาค่าไฟที่แพงขึ้นอย่างมากจากปีที่แล้ว การเข้ามาจับปัญหาเฉพาะและรีบเสนอทางแก้ไขในช่วงที่ประชาชนกำลังเผชิญปัญหาจะยิ่งได้รับความสนใจจากประชาชนยิ่งขึ้น
คิดว่าหลายพรรคน่าจะปรับแผนลงพื้นที่ จัดเวทีปราศรัยใหญ่ในจังหวัดต่างๆ สนับสนุนผู้สมัครรายเขต พบปะให้ประชาชนเห็นหน้าและนำเสนอนโยบายของพรรค การคัดเลือกสมาชิกพรรคเข้าร่วมเวทีดีเบต ที่มีความรู้ความสามารถ สามารถถ่ายทอดแนวทางการทำงานและนโยบายของพรรคได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้สำคัญ จะทำให้ผู้ฟังตัดสินใจในการเลือกพรรคจากทั้งอุดมการณ์และนโยบายในการหาเสียง
ในเรื่องการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ หลังจากนี้พรรคต่างๆ จะสร้างวาทกรรมลักษณะ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” คิดว่าทุกพรรคอยากให้ประชาชนเลือกตนและผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคมากที่สุด โดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ เข้าไปมีอำนาจรัฐเพื่อออกนโยบายตอบสนองและแก้ปัญหาให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่เลือกตนเข้าไปทำงาน ดังนั้นพรรคจึงต้องแข่งกันขายนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคให้ประชาชนได้รับทราบและตัดสินใจเลือกกัน
พรรคเพื่อไทยชูวาทกรรม “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” หรือ “เลือกเพื่อไทยปิดสวิตช์ ส.ว.” มาตลอด ด้านหนึ่งถูกมองว่าในช่วงแรกต้องการสร้างกระแสพรรคเพื่อป้องกัน ส.ส.ย้ายออกจากพรรค อีกด้านหนึ่ง คือ สร้างความกลัวให้ประชาชนได้เห็นว่าถ้าไม่เลือก เพื่อไทยให้ได้มากที่สุด จะได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
ที่สำคัญ คือ ความต้องการดึงคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ถูกเทไปให้พรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ ให้กลับมาเลือกเพื่อไทยอีกครั้ง
คิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยต้องการใช้กิมมิคหรือวาทกรรมเพื่อไทยแลนด์สไลด์เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่จะดึงคะแนนจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน หรือดึงคะแนนจากประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจ พรรคเพื่อไทยอาจเสนอว่า แลนด์สไลด์ไม่ใช่แค่ปิดสวิตช์ ส.ว. แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าการได้ ส.ส.จำนวนมากจะนำไปสู่การนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติและแก้ปัญหาประชาชนได้จริง
ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอนโยบายเชิงอุดมการณ์ในการเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศโดดเด่นและชัดเจนกว่าพรรคเพื่อไทย เช่น การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือแก้ไข ม.112 นำมาสู่กิมมิคของพรรคก้าวไกล “ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจจะดีไปด้วย” เป็นจุดขายของพรรคก้าวไกล นอกจากนี้พรรคก้าวไกลมีการเซตเกมเรื่องของความชัดเจนในการปฏิเสธร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้หลายคนที่ชื่นชอบอุดมการณ์ประชาธิปไตยและไม่อยากเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะมองว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล หันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลมากขึ้น
พรรคพลังประชารัฐเองสร้างกิมมิคเหมือนกัน ในลักษณะพรรคที่จะก้าวข้ามความขัดแย้ง พร้อมจับมือกับทุกฝ่ายในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความเป็นไปได้จะได้รับเสียงจากฝ่ายอนุรักษนิยมที่อยู่กลางๆ ยังตัดสินใจไม่ได้ และไม่อยากเผชิญความขัดแย้งเหมือนที่ คสช.เคยใช้ตอนรัฐบาลต้องการขอคืนความสุขให้ประชาชน มากกว่านั้นด้วยบุคลิกของ พล.อ.ประวิตร มีลักษณะประนีประนอม ท่าทีที่ไม่ปิดประตูในการร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ยิ่งสะท้อนออกมาในกิมมิคที่ใช้หาเสียงมากขึ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเน้นขายนโยบายกุมฐานเสียงคะแนน คงไม่มีอะไรใหม่ โดยพรรคประชาธิปัตย์ขายนโยบายเก่า ส่วนพรรคภูมิใจไทยเน้นเชิงนโยบายสุขภาพและการแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา
สุดท้ายพรรคที่มีโอกาสสร้างกิมมิคในแนวไม่เลือกเราเขามาแน่มากที่สุดอีกพรรคหนึ่ง คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกจัดว่าเป็นพรรคขวาสุดขั้ว ชูประเด็นเรื่องการไม่แก้ไขกฎหมาย ม.112 ที่ชัดเจน ยึดอุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน มีความเป็นไปได้ที่จะชูวาทกรรมไม่เลือกพรรคนี้เพื่อรวมคะแนนเสียงของฝ่ายอนุรักษนิยม
การโหวตเชิงยุทธศาสตร์ มีประโยชน์ตอนที่พรรคต่างๆ และผู้สมัครของพรรคมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน ถ้าผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยแข่งขันกันเอง อาจนำไปสู่การตัดคะแนนกัน ทำให้ผู้สมัครจากฝ่ายอนุรักษนิยมได้รับการเลือกตั้งไปก็ได้ ดังนั้นต้องโหวตเชิงยุทธศาสตร์ คิดว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลในปัจจุบันเพราะแต่ละพรรคนำเสนอนโยบาย และอยากได้ ส.ส.เพื่อเป็นรัฐบาล จึงไม่มีใครยอมใคร หรือยกเสียงให้ใคร ถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุการเมืองเหมือนตอนพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ สุดท้ายใครโดดเด่นอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามใครจะเป็นนายกฯคนต่อไป อยู่ที่ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม หลังจากนั้นจะได้เห็นภาพนายกรัฐมนตรีและแนวโน้มของการเมืองไทยในอนาคตชัดเจนขึ้น
วันชัย จึงวิบูลย์สถิตย์
นักวิชาการอิสระและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย
การนำโพลมาปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคการเมือง ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองสามารถตรวจวัดคะแนนนิยมของตนได้ ส่วนกระแสของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หากมองไปแล้วอาจมีคะแนนนิยมของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความนิยมพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบายยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ทำให้ถูกใจวัยรุ่น หากพรรคก้าวไกลไม่ไปยุ่งมาตรา 112 เชื่อว่าคะแนนความนิยมจะมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าปกติจะวางเฉยเกี่ยวกับการเมือง แต่เมื่อมีการกระตุ้นในเรื่องมาตรา 112 ทำให้มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น
ส่วนการโหวตในเชิงยุทธศาสตร์ การใช้คำกล่าว “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เชื่อว่าคงไม่มีใครนำมาใช้แล้ว ฟังแล้วโบราณมาก คงไม่มีผู้สมัครคนใดนำมาใช้ ถ้ากล่าวว่า “หากเลือกเรา ประเทศชาติเจริญแน่” ยังเป็นวลีที่น่าสนใจมากกว่า เพราะยังแสดงเจตนาว่าจะมาทำงานเพื่อประเทศ
กรณีที่ต้องเลือกให้เด็ดขาด เช่น พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ ผมยังมองว่าพรรคเพื่อไทยคงได้ ส.ส.ไม่เกิน 200 คน ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีทั้งกระแสและกระสุน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ ถือว่าต้องใช้พลังบวก ในมุมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน หากมอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่ายังมีฐานความเชื่อมั่นในเรื่องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือว่ามีโปรไฟล์ดี ที่สำคัญยังสามารถประคับประคองประเทศชาติมาได้ถึงทุกวันนี้
อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยอมรับว่าช่วงนี้ถูกโจมตีเกี่ยวกับนโยบายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือเป็นจริงได้น้อยมาก ถือว่าหวือหวามาก ยังไม่รู้ว่าจะถูก กกต.เล่นงานหรือไม่ โดยเฉพาะแจกคนละ 10,000 บาท ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน มองว่ากลายเป็นตัวตลกทางการเมือง เพราะพูดไปเปลี่ยนไปทุกวัน เหมือนพลิ้วไปเรื่อยๆ เมื่อถูกต่อต้าน
สำหรับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มองดูแล้วควรเป็นคนหนุนฝ่ายรัฐบาลจะดีกว่า หรือที่ปรึกษา เป็นรองนายกรัฐมนตรีจะดีกว่า
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล ช่วงนี้อาจจะเงียบไปหน่อย ซึ่งอาจจะใช้กลยุทธ์ “เงียบสงบ สยบความเคลื่อนไหว” หากมองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ในความเห็นส่วนตัวยอมรับว่าฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบฝ่ายค้านนิดหน่อยคือ 55 ต่อ 45
การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 10 เสียง ปรากฏว่าช่วงการจัดตั้งรัฐบาลหากขาดอีก 10 คะแนนก็จะเกินครึ่ง เชื่อว่าพรรคชาติไทยพัฒนากระโดดใส่พรรคที่กำลังรวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน ในที่สุดการเมืองก็ต้องอยู่ที่ผลประโยชน์ที่ลงตัว