ผู้ว่า ธปท.ห่วงพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียง เน้นประชานิยมกระทุ้ง ‘หนี้โต’

ผู้ว่า ธปท.ห่วงพรรคการเมืองชูนโยบายหาเสียง เน้นประชานิยมกระทุ้ง ‘หนี้โต’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานพบสื่อมวลชน Meet the Press ช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องพรรคการเมืองที่หาเสียงโดยชูนโยบายประชานิยมว่า ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งตัวเลขขยับตัวที่ระดับ 3% ใกล้เคียงกับเสถียรภาพระยะยาวของการเติบโตเศรษฐกิจ หากโตเร็วเกินไปอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในแง่ของเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ จึงมองว่าการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่มีความจำเป็น

ซึ่งจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจระดับ 3% เกิดจากเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีแรก โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นคาดว่านักท่องเที่ยวเข้าไทยถึง 12 ล้านคน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งภาคการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ 4.4% ทำให้ความเสี่ยงจะเกิดกับเศรษฐกิจหายไป สะท้อนว่าความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากขนาดนั้น

“วันนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไม่เหมือนกับตอนโควิดอีกแล้ว การดำเนินนโยบายจึงควรเข้าสู่ภาวะปกติ โดยใช้นโยบายการคลังแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการนโยบายใดที่จะสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเสถียรภาพเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

Advertisement

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจระยะยาวเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะในอดีตได้ทำนโยบายดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าได้ผลแค่ชั่วคราว และมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องหนี้โตขึ้น ดังนั้น นโยบายตอนดำเนินการต้องพิจารณารอบครอบ เพราะทำช่วงระยะสั้น ค่าเสียโอกาส และงบประมาณที่มีอย่างจำกัด

ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมของไทย เช่น การดูแลตั้งเด็กจนแก่ แต่ไม่ควรมีระดับที่มากเกินไป ควรบูรณาการให้ยั่งยืน เพราะอาจแก้ไขปัญหาได้ไม่ตรงจุด หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน แล้วทำให้มั่นใจว่าช่วยเหลือได้ผลจริง

เมื่อเทียบกับต่างประเทศจะเห็นนโยบายช่วยเหลือเด็กมีผลที่ยั่งยืนต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยต้องใช้ข้อมูลมาทำให้ตรงจุด มุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคล ไม่ใช่นโยบายทอดแห หากนำเงินที่มีจำกัดไปช่วยคนรวยก็ไม่สมเหตุสมผล จึงควรนำเงินไปช่วยเหลือคนจนให้ตรงกลุ่ม

Advertisement

ทั้งนี้ ลักษณะนโยบายที่อาจสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ หากพิจารณาจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ 4 ด้าน คือ 1.บางประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเรื่องเสถียรภาพด้านราคา (เงินเฟ้อ) หายไปจากระบบการเงิน ซึ่งมีบางประเทศที่เจอวิกฤตเงินเฟ้อขยายตัวรุนแรง ดังนั้น การทำนโยบายการเงินต้องตอบสนองนโยบายการคลัง

2.เสถียรภาพที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศผันผวน เงินทุนสำรองลดลง และมีเงินทุนไหลออกนอกประเทศ คล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยปี 2540

3.ปัญหาหนี้สาธารณะจนเข้าขั้นวิกฤตจากเสถียรภาพทางการเงินและการคลังมีปัญหา เช่น วิกฤติหนี้สาธารณะกรีซ และ 4.เสถียรภาพระบบทางการเงินของสถาบันการเงินจากปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น กระทบระบบภาคการเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image