ประจักษ์ ชี้ 3 ปัจจัย กำหนดผล ‘เลือกตั้ง66’ เมื่อ พรรคขั้วอนุรักษ์นิยม แยกเดิน บนกติกาใหม่

ประจักษ์ ชี้ 3 ปัจจัยสำคัญ กำหนดผล ‘เลือกตั้ง 66’ เมื่อพรรคอนุรักษ์นิยม แยกกันเดิน บนกติกาใหม่

เลือกตั้งใหญ่ ประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

มิเพียงน่าจับตาถึงผลการเลือกตั้ง ที่จะเปลี่ยวขั้ว เปลี่ยนผู้นำ ที่นั่งบริหารประเทศมานาน 8 ปีกว่า

แต่ยังน่าจับตา ในแง่ระบบการเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทั้งการเปลี่ยนจากบัตร 1 ใบ มาเป็นบัตร 2 ใบ รวมถึงการที่พรรคอนุรักษ์นิยม แตกแบงก์ แยกกันเดิน

Advertisement

หลายปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากการเลือกตั้งปี 2562 นี่เอง ที่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึง 3 ปัจจัย ที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจับตามอง

รศ.ดร.ประจักษ์ ได้ชวนวิเคราะห์ “3 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลการเลือกตั้ง” ใน Direk Interview Ep.16 : ภูมิทัศน์การเมืองไทย – เลือกตั้ง’66 ของ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยว่า 3 ปัจจัยสำคัญ ที่จะกำหนดการเลือกตั้ง 2566 นี้ ก็คือ 1.ระบบเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนกลับไปใช้แบบบัตร 2 ใบแบบปี 2540 , 2. การที่พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ แยกทางกันเดิน และตั้งพรรคคนละพรรคมาแข่งกันเอง และ 3.ผลงานบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระบบที่พรรคใหญ่ได้เปรียบ

“ใครที่ศึกษาทางรัฐศาสตร์จะทราบ ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร มันถูกกำหนดโดยกติกา พรรคการเมืองไหนจะได้เปรียบ เสียเปรียบ มันขึ้นอยู่กับระบบเลือกตั้ง”

ประจักษ์ ระบุ ก่อนอธิบายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ กติกาเปลี่ยนใหญ่ ซึ่งมันเป็นการกำหนดผลการเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว เกือบจะครึ่งหนึ่ง ระบบเลือกตั้งที่แตกต่าง สร้างความได้เปรียบ เสียเปรียบให้แก่บางพรรค ระบบที่นำมาใช้ในครั้งนี้ เป็นระบบที่เคยใช้มาก่อนตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกว่า บัตร 2 ใบ มีทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.เขต ประชาชนสามารถเลือกแยกกันได้ ส.ส. 1 ใบ ปาร์ตี้ลิสต์อีก 1 ใบ ส.ส.เขต มีถึง 400 คน และปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน คำนวณแยกจากกัน

ซึ่งระบบแบบนี้เอง ที่อ.ประจักษ์ มองว่า ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ

“ระบบแบบนี้ ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ฉะนั้น พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 ในระบบ และเป็นพรรคที่คุ้นเคยกับระบบนี้มาตลอด ตั้งแต่ปี 2544 เป็นพรรคที่ทำผลงานได้ดีมาโดยตลอด พรรคเพื่อไทย มีแบรนด์พรรคแข็งแกร่ง ฉะนั้นปาร์ตี้ลิสต์ก็เยอะ ระบบเขตก็จะได้เยอะ เพราะมีฐานเสียงที่แน่นหนาอยู่แล้ว โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ซึ่ง มีส.ส.เยอะ แค่ภาคเหนือ และอีสานรวมกัน ก็รวมกัน 200 กว่าคน ฉะนั้น พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่ได้เปรียบมากในระบบบัตรเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้”

ทั้งยังว่า ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ภาษาวิชาการเรียกว่า ระบบผสมแบบเสียงข้างมาก พรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดกลาง เสียเปรียบ เพราะในเขตเลือกตั้ง แม้คนเลือกคุณเยอะ แต่ไม่ได้มาเป็นอันดับ 1 ก็ไม่ได้ส.ส.เลย คะแนนก็จะตกน้ำเยอะไปมาก มันก็จะไม่ได้สะท้อนความเป็นสัดส่วน หรือความนิยมที่มีต่อพรรคการเมืองนั้นๆ จริงๆ

“ง่ายๆก็คือว่า ครั้งที่แล้ว มีพรรคการเมืองเข้ามาถึง 27 พรรคในสภา แต่ด้วยระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนี้ ถ้าลองคำนวณดู จะเหลือพรรคการเมืองประมาณ 10-12 พรรคเท่านั้น”

พรรคขั้วอนุรักษ์นิยม อ่อนแรง ฐานเสียงถูกหาร 2

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. มองว่า พรรคฝ่ายรัฐบาล ที่เรียกว่า พรรคขั้วอนุรักษ์นิยม มันอ่อนแรงลง โดยธรรมชาติ เพราะมันมาแข่งกันเอง มาตัดคะแนนกันเอง คราวที่แล้ว รวมกันอยู่เป็นพรรคเดียว คือ พลังประชารัฐ ส่งพรรคเดียวมีโอกาสชนะในเขตเลือกตั้งต่างๆ พอคราวนี้แตกกัน ทรัพยากรก็แยกกัน ตัวบุคคลแยกกัน ไม่ต้องพูดถึงกลไกรัฐ คราวนี้จะไปหนุนพรรคไหน คราวที่แล้วทุกคนคงทราบ ใครทำวิจัยในพื้นที่ กลไกรัฐ ตำรวจ ทหาร ผู้ว่าฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทไปช่วยพลังประชารัฐหมด คะแนนเสียงก็เป็นกอบเป็นกำ

ครั้งนี้กลไกรัฐก็ต้องลำบากใจแล้ว ว่าจะช่วยพลังประชารัฐ หรือ จะช่วยรวมไทยสร้างชาติ จะช่วยลุงตู่ หรือลุงป้อม

และว่า ประชาชนเองที่เป็นฐานเสียงของอนุรักษ์นิยม คราวนี้ต้องลำบากใจจะเทคะแนนให้ใคร ในแต่ละเขตก็จะตัดคะแนนกันเอง ในปาร์ตี้ลิสต์ก็จะตัดคะแนนกันเอง แล้วแต่ละคนมีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน พล.อ.ประยุทธ์ มีภาพของผู้นำที่เข้มแข็ง รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็จะได้เสียงอนุรักษ์นิยมไปเต็มๆ แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีภาพของการเป็นนักการเมือง หาเสียงไม่เป็น ไม่ขึ้นเวทีดีเบต ไม่ลงสมัครส.ส. ไม่ทำงานคลุกคลีกับพรรคการเมือง สมาชิกพรรค ก็ไม่มีเครือข่ายทางการเมือง

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ภาพลักษณ์ไม่เข้มแข็ง ไม่มีภาพของอนุรักษ์นิยมจัดเท่าพล.อ.ประยุทธ์ ฐานเสียงอนุรักษ์นิยมจะไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยไว้ใจ พล.อ.ประวิตร ที่ดูเหมือนเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ เราจะเห็นโพล คะแนนนิยมในแง่การเป็นแคนดิเดตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่สูงกว่าพล.อ.ประวิตรเยอะ แต่ พล.อ.ประวิตร เก่งในแง่การสร้างเครือข่าย ดึงทรัพยากรเข้ามาสู่พรรค เลี้ยงดูลูกพรรค ทำงานการเมืองติดดินกว่า

“พอมาแยกกัน จุดแข็งมันก็เลยแยกออกจากกัน”

“พูดง่ายๆ คะแนนที่พลังประชารัฐเคยได้ก็จะหาร 2 แต่ละพรรค รวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐ อาจจะได้พรรคละ 30-40 ที่นั่ง หรืออย่างเก่งก็คือ 50 ที่นั่ง อันนี้ทำให้โอกาสที่พรรครัฐบาลเอง จะจัดตั้งรัฐบาลมันไม่ง่าย” ประจักษ์ กล่าว

ผลงาน ‘รัฐบาล’ เกณฑ์หลัก คนใช้ตัดสินใจ

ประจักษ์ เปิดเผยว่า หากเริ่มดูตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่เริ่มเปิดประเทศ หลายประเทศมีการจัดการเลือกตั้ง จนถึงปีนี้ พรรคไหนจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ประชาชนดูว่า ช่วงโควิด ถ้าใครเป็นรัฐบาลแล้วบริหารจัดการโควิดได้ดี ประเทศไม่บอบช้ำ เศรษฐกิจยังโอเคอยู่ พรรคที่บริหาร ก็จะมีโอกาสได้รับความไว้วางใจและได้ทำงานต่อ ก็ชนะเลือกตั้ง ส่วนพรรคไหนที่เป็นรัฐบาลในช่วงโควิด และบริหารจัดการไม่ดี ส่วนใหญ่พอมาถึงการเลือกตั้ง ก็จะแพ้การเลือกตั้ง

“อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ที่งานวิจัยและผลการเลือกตั้งทั่วโลก มันชี้ให้เห็นในทางนี้”

อาจารย์รัฐศาสตร์ยังว่า ประเทศไทยก็เหมือนกัน ประชาชนก็จะตัดสินว่า ผลงานบริหารประเทศที่ผ่านมา เป็นอย่างไรในช่วง 4 ปี พูดง่ายๆ ถ้าประชานส่วนใหญ่ รู้สึกว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และพรรคขั้วรัฐบาล บริหารประเทศได้ดีมาก บริหารจัดการได้ดีในทุกด้าน เศรษฐกิจก็ดี ก็มีโอกาสที่จะชนะกลับมา แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่ ประเมินแล้วว่า ไม่ประทับใจ บริหารล้มเหลว ไม่เข้าตา

“พูดง่ายๆ ประชาชนก็จะหันไปโหวต ให้โอกาสฝ่ายค้านได้แสดงฝีมือ มันก็ง่ายๆแค่นี้” ประจักษ์ ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image