‘สนธิรัตน์’ ชู ‘พปชร.’ มือประสาน ‘ตั้งรบ.’

หมายเหตุนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมและการปรับยุทธศาสตร์ในการหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายของพรรค รวมทั้งวิเคราะห์ทิศทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง

ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประเมินช่วงโค้งสุดท้ายของพรรค พปชร.ต้องมีการปรับกลยุทธ์ใดหรือไม่ เพื่อให้ชนะเลือกตั้งตามเป้าหมาย

โค้งสุดท้าย แน่นอนว่าทุกพรรคไม่เพียงเฉพาะพรรค พปชร.ต้องใส่เต็ม ในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อจะดึงคะแนนจากฐานเสียง พรรค พปชร.มีนโยบายชัดเจนในการที่จะจับฐานเสียงที่จะให้ความไว้วางใจกับพรรค ดังนั้นในช่วงโค้งสุดท้ายการดีเบตเป็นสิ่งหนึ่งที่พรรคใช้เป็นวิธีการในการคัดบุคลากร เพื่อสร้างความเข้าใจกับฐานเสียงของพรรค เห็นได้จากการปราศรัยใหญ่ที่เป็นการปราศรัยเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การเปิดเวทีปราศรัยในภาคใต้ เป็นจุดยุทธศาสตร์ของพรรค เช่น จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช ส่วนในภาคอีสาน มีการเดินสายทั้งใน จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น ในเร็วๆ นี้ สิ่งเหล่านี้คือการเคลื่อนตัวในเชิงการปราศรัยภาพรวมของพรรค พปชร. ร่วมไปกับการปราศรัยย่อยในพื้นที่ เรารู้ว่าที่ใดเป็นฐานเสียงของพรรค ดังนั้นจะต้องตรึงฐานเสียงไว้ แต่ผลการเลือกตั้งอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ เนื่องจากพรรคการเมืองนั้นแตกออกมาเยอะ ซึ่งก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วงชิงกันในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง

แม่ทัพของพรรคจะเข้าไปช่วยในพื้นที่เป้าหมาย เพราะพรรคทราบว่าที่ใดคือพื้นที่เป้าหมาย และพรรคอาจจะออกนโยบายของพรรคที่จะเก็บคะแนนในโค้งสุดท้าย อยู่ในช่วงการพูดคุยภายในพรรค ดังนั้นคิดว่าในเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคนั้นชัดเจน แล้วจะย้ำจุดยืนจุดแข็งของพรรคเพื่อให้พี่น้องตัดสินใจในช่วงโค้งสุดท้าย

Advertisement

จุดแข็งหรือจุดยืนที่จะนำมาปล่อยในช่วงโค้งสุดท้าย

พรรค พปชร.มีจุดยืนที่แข็งแรงมาก ในบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นว่าพรรคได้พูดถึงจุดยืนคือก้าวข้ามความขัดแย้งจุดยืนนี้ไม่ได้พูดเพื่อการหาเสียงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นจุดยืนที่เป็นตำแหน่งของพรรค พปชร.ในสนามการเมืองครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างความสุดขั้วของความเชื่อมั่นทางการเมืองระหว่าง 2 ขั้ว จะเห็นได้ว่าทิศทางของการปราศรัยขยายความเป็น 2 ขั้ว อย่างชัดเจน เช่น การมีแคมเปญแลนด์สไลด์ หรือการปิดสวิตช์ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงการเมือง 2 ขั้วอย่างชัดเจน

ที่พรรค พปชร.ชูนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง มาจากการเห็นทิศทางของการเมืองไทยที่ผ่านมา เชื่อว่าแทบจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะหาสมดุลทางความคิดของ 2 ฝ่ายไว้ได้ เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะมีข้อจำกัดในการจัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสที่หลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลจะมีข้อจำกัด อาจจะไม่เป็นอย่างที่ทุกคนคิด เพราะยังคงมีข้อจำกัดในระหว่างพรรคการเมืองหลายเรื่องที่ต้องจัดการ 

Advertisement

ด้วยสิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดยืนของพรรค พปชร.ในการนำพาสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งให้เดินไปได้อย่างราบรื่น หากถามว่าจุดแข็งของพรรคนั้นมีพอหรือไม่ อาจจะไม่เพียงพอ หากผู้นำของพรรคไม่ได้ชื่อ พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เนื่องจากในทางการเมือง ผู้นำมีความสำคัญที่จะเป็นตัวแปรในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องมีผู้นำที่สามารถทำหน้าที่ในการเป็นตัวแปร เป็นคนกลาง เป็นคนที่พูดแล้วทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับได้ ซึ่งในสถานการณ์วันนี้ หากลองไล่รายชื่อคนที่สามารถจะทำหน้าที่นี้ได้ดี เชื่อว่าชื่อของ พล..ประวิตรนั้นจะอยู่ในลำดับต้นๆ

หมายความว่าทั้งปัจจัยด้านนโยบายและจุดยืนทางการเมือง ต้องเดินคู่ขนานกัน

พูดเสมอว่า ถ้าหากเป็นรัฐบาลผสมแล้วไม่ตกลงนโยบายให้ลงตัวเสียก่อน จะกลายเป็นรัฐบาลแยกส่วน ทิศทางเช่นนี้จะทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลที่เกิดขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ในช่วงนี้ทำให้เราต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ หรือสังคมก็ดี เนื่องจากมีหลายเรื่องที่รอการแก้ไขอยู่ ดังนั้น นโยบายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเชื่อมโยงรัฐบาล

วันนี้คิดว่านโยบายของพรรคไหนตรงกับพรรค พปชร.มากที่สุด?

นโยบายที่ตรงกับกับพรรค พปชร.เกือบทั้งหมด หรือไม่แตกต่างกันคือในเรื่องของการแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาเฉพาะกิจ มีความตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคใดก็ตามที่ออกมาใช้วิธีการอัดฉีดเม็ดเงินลงมาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งพรรค พปชร.เองก็มีบัตรประชารัฐ 700 บาท เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นโยบายเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ทุกพรรคพูดเหมือนกันหมด นโยบายเรื่องการอยู่ดีกินดีและมีสังคมที่เกื้อกูล โดยในเนื้อของนโยบายไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก แต่แตกต่างกันในวิธีการของเนื้อนโยบาย ดังนั้นเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วต้องปรับเข้าหากัน ต้องตกลงกันเพื่อให้เข้าใจร่วมกันในนโยบาย

จุดยืนเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง แสดงว่าสถานะของพรรค พปชร.หลังการเลือกตั้ง ทุกขั้วการเมืองต้องให้ความสำคัญกับพรรค พปชร.ในการจัดตั้งรัฐบาล

หากผลการเลือกตั้งไม่สามารถมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวบรวมเสียงจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคที่มีลักษณะเป็นตัวแปรก็มีอยู่ไม่กี่พรรค และพรรค พปชร.เป็นหนึ่งในนั้น ฉะนั้นพรรค พปชร.จึงอาสาทำหน้าที่ในการเป็นพรรคที่ทำให้เกิดรัฐบาลที่สามารถบริหารประเทศได้ สิ่งหนึ่งที่พรรค พปชร.มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนนโยบายคือบุคลากรด้านเศรษฐกิจ หลายคนพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่พรรค พปชร.รวบรวมขุนพลด้านเศรษฐกิจมากที่สุดพรรคหนึ่ง แต่ละคนก็มีความสามารถที่พร้อมทำงานให้ประเทศ ถือว่าได้รวมดาราผู้บริหารทางด้านเศรษฐกิจไว้

แสดงว่าจะชูความเป็นเทคโนแครต เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้

หากพูดอย่างตรงไปตรงมา สิ่งนี้ถือเป็นจุดขาย เนื่องจากพรรค พปชร.มีความพร้อมมากในเรื่องเทคโนแครตที่จะมาขับเคลื่อนนโยบาย เวลาดำเนินนโยบายพรรคการเมืองที่สำคัญ อย่างแรก คือ นโยบายที่ดี และสองคือใครเป็นผู้ทำ เพราะนโยบายอยู่ที่การขับเคลื่อน ในบางครั้งนโยบายอาจไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ผู้ขับเคลื่อน ซึ่งพรรค พปชร.มีความพร้อมในเรื่องขุนพลที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้

หลายพรรคพยายามช่วงชิงฐานเสียงจากกลุ่มนิวโหวตเตอร์ พรรค พปชร.จะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้อย่างไร 

กลุ่มนิวโหวตเตอร์เป็นกลุ่มที่โตมาในยุคใหม่ ในการรับสื่ออยากให้มองภาพที่กว้างขึ้น ว่าประเทศต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีทั้งคนรุ่นใหม่ รวมถึงคนรุ่นก่อนที่จะประคับประคองคนรุ่นใหม่ ต้องทำให้ประเทศไม่นำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิด สุดโต่ง หรือเห็นโลกในมิติเดียว จำเป็นต้องมองให้ครบ จึงอยากสื่อสารถึงน้องๆ รุ่นใหม่ว่า บ้านเมืองนั้นมีรากของวัฒนธรรม กติกา ที่ทำให้ประเทศเป็นประเทศในลักษณะนี้ เป็นองค์ประกอบของการผสมผสาน การรับวัฒนธรรมใหม่และวัฒนธรรมเก่าไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ซึ่งพรรค พปชร.พร้อมเป็นฐานทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่

พรรค พปชร.ต้องถอดบทเรียนจากการเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อเสริมจุดแข็งที่จะมาทำต่อในรัฐบาลหน้า

พรรค พปชร.วันนี้ไม่เหมือนเดิม พรรค พปชร.ในวันนี้คือพรรค พปชร.ใหม่ ผู้นำใหม่ จุดยืนผู้นำใหม่ บุคลากรแยกออกไปเยอะ บุคลากรในวันนี้เป็นบุคลากรอีกแบบหนึ่ง ในช่วงโค้งสุดท้ายเทคโนแครตเข้ามาเยอะมาก และนี่คือพลังประชารัฐที่พร้อมจะเป็นพลังประชารัฐของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้

มองทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร

ผมฟันธงว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสม โดยเป็นรัฐบาลผสมที่ร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ในเมื่อเป็นรัฐบาลผสมอาจมีจุดอ่อนเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล

ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของรัฐบาลและพรรคแกนนำ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายส่วนที่จะต้องจัดการ แต่รัฐบาลผสมเป็นเรื่องปกติ อย่าไปรังเกียจรัฐบาลผสม แต่ว่าจะต้องเป็นรัฐบาลผสมที่มีทักษะในการบริหารที่ดี เพื่อให้ภาพใหญ่ราบรื่น

จะต้องมีผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง หรือมีบารมีเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล

นั่นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องเข้มแข็ง หรือมีบารมีเป็นเรื่องสำคัญมาก พล.. ประวิตรมีความเหมาะสม ทางพรรคจึงผลักดันแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พปชร.ให้เป็น พล..ประวิตร เนื่องจากมีความเหมาะสมมากที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

แม้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล จะประกาศชัดเจนว่าจะไม่ร่วมมือด้วย

ทุกคนทราบดีว่าพรรคการเมืองต้องสร้างความประทับใจให้กับประชาชน เป็นไปตามหน้าที่ในการหาเสียง ทุกคนก็ทำเต็มที่ นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย แต่ต้องใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ เพราะบ้านเมืองไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว เมื่อถึงเวลาต้องมานั่งคุยกันด้วยเหตุและผล

ทุกขั้วจะมีการแย่งชิงหรือดึงฐานเสียงภายในขั้วกันเองด้วยใช่หรือไม่

ชัดเจนครับ ครั้งนี้เป็นครั้งที่จะมีความแตกต่างจากทุกครั้ง คือมีการช่วงชิงฐานเสียงกันค่อนข้างมาก แต่ยุทธศาสตร์ในพรรค พปชร.คือการดึงฐานเสียงให้มาอยู่กับพรรคมากที่สุด

กังวลในเรื่องของความนิยมของพรรค พปชร.ที่ตามหลัง พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หรือไม่

เป็นหน้าที่ของพรรคในการดึงคะแนนนิยมของพรรค พปชร.ให้ยังอยู่ ส่วนการแย่งชิงฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ในเชิงการทำงาน ต่างพรรคต่างมีแฟนคลับของตัวเอง พรรคก็มีหน้าที่ทำให้แฟนคลับไว้วางใจในตัวพรรค พปชร. บางอย่างทับซ้อนกัน บางอย่างไม่ทับซ้อนกัน เป็นหน้าที่ของการจัดการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือฐานเสียงทั้งประเทศ และในพื้นที่

หากผลการเลือกตั้งออกมา พรรค พปชร.จะเคารพหลักการที่ว่า ให้สิทธิพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน

นั่นเป็นหลักการสากล อันดับ 1 ย่อมเป็นพรรคแรกที่มีโอกาสมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะรวบรวมได้หรือไม่นั้น ต้องไปดูตัวเลขและเงื่อนไขของพรรค แต่ในกรณีที่ว่าพรรคใดได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จะให้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนนั้นไม่ใช่หลักการ เพียงแค่มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีเสียงมากที่สุด เพียงแค่หาเสียงมาเติมให้เกินกว่ากึ่งหนึ่งก็จะได้เป็นรัฐบาล นั่นเป็นความชอบธรรม ยกเว้นว่าไม่สามารถรวบรวมเสียงได้มากพอ ไม่สามารถตอบได้ในวันนี้ ต้องดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาเป็นเช่นไร

ปัจจัยที่จะชี้ขาดก็คือผลการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งคือเจตนารมณ์ของประชาชน ผลจะเป็นอย่างไร ทุกพรรคการเมืองต้องเคารพผลการเลือกตั้ง หน้าที่ของพรรคการเมืองหลังเห็นผลการเลือกตั้งแล้ว คือการบริหารผลการเลือกตั้งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลอย่างมีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน

การร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคมีจุดยืนว่าจะไม่ประกาศร่วมมือกับพรรคใดในการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง 

การประกาศก่อนว่าจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือกับพรรคใด ส่วนตัวมองว่าเป็นการไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน ถ้าประกาศออกไปว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร ก็จะหมายความว่าถ้าไม่เป็นอย่างใจก็จะไม่เอา แต่ถ้าประชาชนได้ตัดสินใจมาแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ต้องทำหน้าที่ การประกาศว่าไม่เอาคือการสร้างเงื่อนไข จะทำให้เกิดอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งการที่พรรคไม่ประกาศ ถือเป็นการเคารพการตัดสินใจของประชาชน เมื่อประชาชนตัดสินใจแล้ว ค่อยเอาฉันทามตินั้นมาดำเนินการทางการเมืองในฐานะพรรคการเมือง 

พรรคสามารถอธิบายเหตุผลในการตัดสินใจให้กับประชาชนได้

แน่นอน ถ้าไม่สามารถขับเคลื่อนสิ่งที่ตั้งใจจะทำได้ ไม่ว่าจะเชิงหลักการหรือเชิงนโยบายทางการเมือง ก็ไม่มีความจำเป็นในการเข้าร่วมรัฐบาล เพราะถ้าเข้าไปแล้วไม่สามารถทำให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่แก้ปัญหาประเทศได้ ก็อาจจะไม่ใช่จุดยืนของพรรค

มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะได้เห็นพรรค พปชร.ร่วมงานกับพรรค รทสช.

ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง มีโอกาสทุกพรรค ถ้าเงื่อนไขทุกอย่างได้ สถานการณ์ได้ นโนบายได้ การทำงานได้ ก็มีโอกาสทุกพรรค เพราะหน้าที่ของพรรคการเมืองคือการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

ธนภูมิ กุลไพบูลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image