ปชป. ย้ำจุดยืน ‘4 ทำ 3 ไม่’ จับมือตั้งรัฐบาลแบบมีเงื่อนไข ยันไม่แก้ม.112 ประชานิยมสุดโต่ง

ปชป. ย้ำ จุดยืน 4 ไม่ 3 ทำ ลั่นจับมือตั้งรัฐบาลแบบมีเงื่อนไข ไม่แก้ม. 112 ประชานิยมสุดโต่ง เหน็บส.ว. มีวุฒิภาวะ ต้องฟังเสียงประชาชน 

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 พฤษภาคม ที่รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้า สยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มติชนxเดลินิวส์ ร่วมจัดดีเบตเป็นครั้งแรกในเวที “สงคราม 9 พรรค THE LAST WAR” โดยยกทัพพรรคการเมืองชั้นนำครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งขุนพลเลือดใหม่ (Young blood) ขุนศึกตัวตึง-ตัวเก๋า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชันนโยบายเพื่อนับถอยหลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ต่อมาเวลา 15.45 น.เข้าสู่รอบที่ 3 เวที “แม่ทัพ วิสัยทัศน์และสัญญาประชาคม” โดยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคขึ้นเวทีปล่อยของ เรียกคะแนนให้ได้มากที่สุด ว่าถ้าได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จะทำอะไร อย่างไร ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่บทใหม่ที่เข้มแข็งและยั่งยืน

Advertisement

โดย นายเกียรติ สิทธีอมร ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขึ้นเวทีแทน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ติดภารกิจงานศพบิดาที่จ.พังงา โดย นายเกียรติ กล่าวว่า เราให้สัญญาประชาคมในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย วันนี้เมืองไทยยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืน “4 ทำ 3 ไม่”

4 ทำ คือจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเท่านั้น มีประชาธิปไตยที่สุจริต มีประชาธิปไตยที่ตอบโจทย์ประชาชน ท้องอิ่มด้วยนโยบายสร้างเงิน สร้างคนสร้างชาติ จะปราบปรามยาเสพติดจะเอากัญชาทางการแพทย์เท่านั้น

ส่วน 3 ไม่ คือ ไม่ยกเลิก 112 ไม่เอายาเสพติด ไม่เอาทุจริตคอร์รัปชั่น นี่คือจุดยืนทางการเมืองที่สำคัญ แน่นอนที่สุดปัญหาส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งยืนยันว่าสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี ส.ส.ร. เป็นผู้แทนของประชาชน และขอยืนยันผ่านเวทีนี้ว่าไม่อยากเห็นมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองเพราะสร้างความแตกแยกในประเทศไทย

Advertisement

นายเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนเผชิญอยู่วันนี้ นโยบายสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ จ้างคนด้วยการศึกษาและดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชน สร้างชาติที่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ที่ผ่านมาเราเคยประกาศนโยบายพรรคแล้ว 16 ข้อ อาทิ ธนาคารชุมชน ทุกหมู่บ้าน ด้วยทุน 2 ล้านบาท ช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ หรือเป็นทุนในการกู้ยืมสำหรับทำธุรกิจต่อไป มีเงินทุน SME 300,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจปรับโครงสร้างธุรกิจ

ทั้งนี้ ปชป. เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ใช่การพักหนี้ เพราะจะทำให้คนที่ไม่จำเป็นตรงนี้เข้ามาใช้งบประมาณที่ยังมีจำกัดด้วย ดังนั้นต้องทำให้พอดี เหมาะสม ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนนโยบายด้านการเกษตร คงการประกันรายได้ ต่อยอดดูแลเรื่องของผลผลิตภาคการเกษตร รวมถึงประมง ท้องถิ่นและประมงพาณิชย์ ปลดล็อค IUU ช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน ดูและชาวบ้านไม่ให้ถูกเนินคดี เช่น ที่ดินกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับสปก. รวมถึงส่งเสริมการวิจัย ส่งเสริมเขตเศรษฐกิจ จับมือกันในฐานะหุ้นส่วน

“หลายเรื่องที่เราสามารถทำได้ เช่น การลดค่าไฟเราสามารถลดได้ ทันที 2-3 บาท ค่าไฟลดได้ทันที 1 บาทถึงบาท 50 ต่อหน่วย เรื่องโครงสร้างภาษี ต้องปรับต้นทุนขนส่ง เรื่องปุ๋ย ถ้าแพงก็เจรจาแหล่งใหม่ ปรับตัวเป็นครัวของโลก ชาวนาขายข้าวกำไรกระสอบละ 3% ปรับมาทำข้าวพร้อมรับประทาน กำไร 40% อย่างไรก็ตาม เรื่องต้นทุนการเงินก็เป็นปัญหาของประเทศไทย ณ วันนี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่ที่ 4-5 % 7% 8% นับว่าสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก

ขณะที่ประเทศอื่นอยู่ที่ 1% 2% 3% เรื่องนี้ถ้าประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเห็นหน้าเห็นหลังภายใน 3 เดือนเลย ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมายไม่ต้องเกี่ยงกัน ย้ำว่าเราต้องเติบโตด้วยความเก่งของเรา ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก เรียนฟรี 12 สาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จนจบปริญญาตรี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนมาตรการทางภาษี มีระบบการเงินใหม่ๆ นำมาใช้ ปรับบทบาทเอ็กซิมแบ้งค์ เจรจาเปิดตลาดเพิ่มหลายแห่งหลังจากชะงักไปเพราะมีการรัฐประหาร เป็นต้น”นายเกียรติ กล่าว

จากนั้นเป็นคำถามจากกองบรรณาธิการ โดยคำถามแรกคือมีหลายโพลที่จะชี้ให้เห็นความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ระดับกลาง มั่นใจว่าจะทวงคืนพื้นที่ภาคใต้กับกทม.ได้หรือไม่ นายเกียรติ กล่าวว่า ผลโพล สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราทำดีที่สุดทุกวัน ผลเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ประชาชนตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ตนหวั่นว่า เวลาประชาชนเข้าคูหาไม่ใช่เลือกตามกระแส เลือกตามโพลแต่ให้เลือกจากการพินิจพิเคราะห์นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองว่า ตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้หรือไม่ สำคัญกับประชาชนหรือไม่ มั่นใจว่าปชป.ออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์กับประชาชนทุกส่วน และที่ผ่านมาตอนลงพื้นที่ภาคใต้ มีประชาชนมาหาและบอกขอโทษที่ครั้งที่แล้วไม่ได้เลือก แต่ครั้งนี้จะเลือกประชาธิปัตย์

ส่วน กทม. นั้น เรามีความหวัง เพราะการเลือกตั้งส.ก. เราได้มา 9 คน และได้ลำดับที่ 2 ถึง 7 คน เพราะฉะนั้นเชื่อว่ากทม.ถึงอย่างไรครั้งนี้ก็ไม่เป็น 0 และเชื่อว่านโยบายของประชาธิปัตย์ ก็ช่วยประชาชนภูมิภาคอื่นให้ได้รับประโยชน์ด้วย

ส่วนคำถามที่สอง ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะร่วมฟอร์มทีมกับพรรคการเมืองพรรครัฐบาลเดิมหรือไม่ หากท่าทีของส.ว.ยังยืนยันสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายเกียรติ กล่าวว่า ไม่ตกหลุมของกองบรรณาธิการ ที่ชอบให้เราเป็นหมอดู ถามเอามันได้เรตติ้ง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ เราต้องให้เกียรติกับประชาชน ต้องรอผลการเลือกตั้ง เมื่อเห็นผลการเลือกตั้ง เห็นจำนวนส.ส. แล้ว จะชัดเองว่าใครจะต้องดำเนินการหรือจะไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอย่างไร

“ปชป.จะร่วมรัฐบาลแบบมีเงื่อนไข คือแก้รัฐธรรมนูญโดยมี ส.ส.ร.ไม่ยกเลิกการประกันรายได้ พรรคที่มีนโยบายประชานิยมสุดโต่งเราก็ไม่เอาเพราะเสี่ยงต่อประเทศ ผลักดันนโยบายพลังงาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ส่วนเรื่ออำนาจส.ว. คิดว่าตอนนี้เมื่อเทียบกับปี 62 การเมืองเปลี่ยนไปพอสมควร ถ้าคิดว่ายังเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ ผมคิดว่าทุกคนที่เป็นส.ว.เป็นผู้ใหญ่แล้วมีวุฒิภาวะอยู่ระดับหนึ่ง เราต้องเคารพบทบาทในแต่ละฝ่าย ส.ว. ก็มาตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ซึ่งผมไม่ชอบ นี่คือเหตุผลที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านส.ส.ร.แต่ถึงจุดนี้ไม่มีใครเป็นหนี้ใครแล้ว ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชน”นายเกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image