เปิดแผนปฏิบัติการ  สกัดโกงเลือกตั้ง

เปิดแผนปฏิบัติการ  สกัดโกงเลือกตั้ง

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน จะได้ใช้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง เข้าคูหากาเบอร์ที่รัก พรรคที่ชอบ ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม และวันเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม

แน่นอนว่า บทบาทของผู้มีส่วนรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งโดยตรงอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ย่อมถูกจับตามองและคาดหวังว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ลบข้อครหาช่วยเหลือเอื้อพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง

การเลือกตั้ง 2566 นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ กกต. ด้วยเหตุนี้ กกต.จึงนำข้อผิดพลาด ทุกจุดบกพร่อง จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาถอดบทเรียนเพื่อแก้ปัญหา ไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ผลออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ กกต.คาดหวังไว้

Advertisement

สำหรับความพร้อมของ กกต. ได้รับการการันตีว่ามีความพร้อม 100% ทุกกระบวนการขั้นตอน เริ่มจากบุคลากร โดยสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีการจัดติวเข้มเจ้าหน้าที่ วิทยากรเขตเลือกตั้ง ให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในแง่ทางวิชาการและแนวทางปฏิบัติ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ลดข้อผิดพลาดซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างทำงานได้

โดยเฉพาะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและมีความเป็นกลางทางการเมือง ฉะนั้น ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทาง กกต.จะมีการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติงานกับทาง กปน.ทุกขั้นตอน เพื่อให้การเลือกตั้งในวันจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่นไร้อุปสรรค หรือถูกร้องเรียนตามมาภายหลังได้

ขณะเดียวกัน บัตรเลือกตั้ง ที่มีกระแสดราม่าเริ่มตั้งแต่สีบัตร ขนาด โลโก้ ชื่อ ซีดจาง จัดวาง จนกระทั่งจำนวนที่จัดพิมพ์ เรื่องนี้ กกต.ชี้แจงชัดเจนว่าการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินกว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น เป็นการพิมพ์ลักษณะแบบนี้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง พร้อมยกเหตุผลด้านเทคนิค คือ กกต.ต้องนำจ่ายบัตรเลือกตั้งเป็นเล่ม ไม่ได้เป็นฉบับ ต้องจัดสรรไม่น้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วย

Advertisement

ยกตัวอย่าง บัตรเลือกตั้ง 1 เล่ม มี 20 บัตร ผู้มีสิทธิในบัญชีรายชื่อของหน่วยเลือกตั้ง 501 คน ต้องจัดสรรบัตรให้หน่วยเลือกตั้ง 26 เล่ม ซึ่งจะมีจำนวนบัตรเกินของหน่วยนี้ 19 บัตร ประกอบกับหากเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งหรือการเก็บรักษาก็ต้องมีการสำรองบัตรไว้เหตุฉุกเฉินเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีการจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว เริ่มจากภาคใต้ 12 จังหวัด 14 ปลายทาง หลังจากนั้นจะทยอยส่งตามภูมิภาคต่างๆ จนครบถ้วน ส่วนบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เริ่มมีถุงเมล์ทางการทูตที่ขนส่งบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกลับมาที่ไทยแล้วเช่นกัน คาดว่าจะส่งบัตรกลับมาถึงไทยภายในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้

ในส่วนของการเฝ้าระวังการกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้งนั้น กกต.วางมาตรการคุมเข้มสกัดขบวนการซื้อสิทธิขายเสียง นอกจากจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คนแล้ว ยังมีชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุด ประจำ 400 เขตเลือกตั้ง จำนวน 1,239 คน เจ้าหน้าที่สืบสวน ไต่สวน วินิจฉัย และดำเนินคดีในศาลและชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนกลาง) 11 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 66 คน และชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนจังหวัด) 77 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 231 คน ลงพื้นที่เจาะหาข่าวและเบาะแสเชิงลึก รวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิด ทั้งการบันทึกภาพทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว เสียง คลิปวิดีโอ เพื่อเอาผิดคนทุจริต โกงการเลือกตั้ง

ขณะที่การรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ใช้ระบบรายงานผลคะแนนเลือกตั้งผ่านECT Report โดยกระบวนการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ จะเริ่มต้นหลังจากปิดหีบบัตรเลือกตั้งและนับคะแนน เมื่อนับคะแนนเสร็จสิ้นประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (ปธ.กปน.) จะถ่ายรูปแบบรายงานผลการเลือกตั้งนับคะแนน ส.ส. 5/18 จากนั้นส่งมายังศูนย์รวมคะแนนอำเภอ หรือเขตปกครอง เพื่อทำการตรวจสอบอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ปธ.กปน.ก็จะนำแบบ ส.ส. 5/18 ติดหน้าหน่วยเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อศูนย์รวมคะแนนประจำอำเภอตรวจสอบเสร็จสิ้นก็จะส่งมายังระบบรายงานผลกลาง จากนั้นเข้าสู่ระบบของECT Report เพื่อนำคะแนนออกมาเผยแพร่ตามช่องทางต่างๆ และทราบผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ ครบทุกเขตไม่เกินเวลา 23.00 น.ของวันเลือกตั้ง

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง ตร.หรือ ศลต.ตร. โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศลต. พร้อมออกแผนความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง เรียกว่า แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66 มีการะดมกำลังตำรวจทั่วประเทศ 130,000 นาย บังคับใช้ข้อกฎหมายคุมเข้มการทุจริตและกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เลือกตั้ง กำชับพบทุจริต จับจริง โทษถึงจำคุก ปรับ และทั้งจำทั้งปรับ

ระหว่างวันที่ 1-4 พฤษภาคม ตร.ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ กกต. ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการขนส่งบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ไปยังหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ

ทั้งนี้ช่วงวันเลือกตั้งทั่วไป ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนทั่วประเทศต้องเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.จำนวนมาก ศลต.ตร.ได้จัดกำลังตำรวจดูแลหน่วยเลือกตั้ง 94,913 หน่วย หน่วยละอย่างน้อย 1 นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ

รวมถึงภารกิจอื่นๆ เช่น การจัดชุดสืบสวนหาข่าว ชุดรักษาความสงบเรียบร้อย ชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าระงับเหตุ ชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง
รวมทั้งตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกการจราจร จัดกำลังตำรวจดูแลความปลอดภัยทุกขั้นตอนการปฏิบัติ ตั้งแต่ก่อนเปิดหีบเลือกตั้ง จนถึงการนับคะแนน ณ หน่วยเลือกตั้งแล้วเสร็จ ตลอดจนนำส่งหีบบัตรเลือกตั้งไปยังที่เก็บรักษา

ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เน้นย้ำว่า การปฏิบัติและการวางตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ให้ดำเนินการตามกฎหมาย หากพบการกระทำความผิด ให้วางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด และให้หน่วยที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกร้องเรียนว่าวางตัวไม่เป็นกลาง เร่งรัดสืบสวนและสรุปข้อเท็จจริง แล้วรายงานมายัง ตร. วางมาตรการในการป้องกันเหตุความไม่สงบเรียบร้อย การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง หรือการจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองทุกพรรคในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดการระดมกวาดล้างอาชญากรรม ในระหว่างวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2566 รวม 7 วัน ให้เน้นกลุ่มผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง อาวุธสงคราม ตลอดจนการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดีในส่วนของการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ศลต.ตร. แจ้งเตือนถึงข้อกฎหมายสำคัญที่เคยพบการกระทำผิดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้ประชาชนกระทำผิด

1.การนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง โทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี 2.การนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.การเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน โทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่
20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

4.จงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

5.กรณีเผา ฉีก ทำลาย ทำให้เสียหาย มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

6.กรณีปลดป้ายหาเสียงไป มีความผิดฐานลักทรัพย์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อีกทั้งยังได้ขอความร่วมมือประชาชน แจ้งข้อมูล เบาะแส สอดส่องพฤติกรรม หรือการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้ที่สถานีตำรวจในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือโทร 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชม. หรือแจ้ง กกต.ในพื้นที่

เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image