ไม่ไหวอย่าฝืน ธำรงศักดิ์ ดักคอ ‘รบ.เสียงข้างน้อย’ ยก ปวศ.ชี้ ความโกรธของ ปชช. ‘มิอาจประเมินค่า’

ไม่ไหวอย่าฝืน ธำรงศักดิ์ ดักคอ ‘รัฐบาลเสียงข้างน้อย’ ยก ปวศ.ชี้ ความโกรธของประชาชน ‘มิอาจประเมินค่า’

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน X เดลินิวส์ จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 10.10 น. มีการเสวนา หัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ มติชน-เดลินิวส์ โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด มหาชน, ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เวลา 10.45 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์โพลมติชน-เดลินิวส์ และแนวโน้มการเลือกตั้งโค้งสุดท้าย” โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์

Advertisement

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวว่า ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ หม่อมราชวงค์เสนีย์ ปราโมช เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2518 แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยของหม่อมเสนีย์ ปราโมช ไม่เอาพรรคนั้น ไม่เอาพรรคนี้ จับมือกับอีก 2 พรรคเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เมื่อจะต้องเสนอแนวนโยบาย ต้องมีการโหวตว่าจะผ่านแนวนโยบายหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2517 ปรากฏว่าการเสนอแนวนโยบายและโหวตไม่ผ่าน

“ตอนนั้นอยู่ได้ 1 เดือน ยังไม่ได้ทำงานเลย นี่คือประวัติศาสตร์ของเสียงรัฐบาลข้างน้อย ครั้งนี้ก็จะมีสถานภาพที่ย่ำแย่ยิ่งกว่า เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยครั้งนี้ จะต้องไปใช้ ส.ว.ในการหนุน ซึ่งจากผลโพลชี้ว่า ประชาชนทั้งหมด 82.5% ไม่ให้ ส.ว.โหวตตามใจตนเอง ให้ ส.ว.โหวตตามพรรคการเมืองที่ได้เสียงลำดับที่ 1 เป็นเจตจำนงที่หากประชาชนถูกข้ามหัวหรือว่าถูกไม่แคร์เสียง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความโกรธ และจะเป็นความโกรธที่ประเมินค่าไม่ได้” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์อธิบายเพิ่มว่า ไทยเคยมีพลังประชาชนในการหยุดยั้งระบอบรัฐทหาร 2 ครั้ง คือ 14 ตุลาคม 2516 ที่หยุดยั้งการสืบอำนาจของ 3 จอมพล ได้แก่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร อยู่กับมา 25 ปี เจอพลังนักศึกษาและประชาชนไป ต้องหยุดชะงัก แม้ว่าจะได้กลับมาด้วยการรัฐประหารอีก แต่ก็เจอพลังประชาชนอีก

“ครั้งหนึ่งตอนปี 2535 เวลาพลังประชาชนโกรธมักจะนำไปสู่การรื้อโครงสร้างและระบบกลไกการเมืองของเดิมทั้งหมด พลังประชาชนปี 2535 ก่อให้เกิดการกระจายอำนาจทั่วแผ่นดิน ก่อให้เกิดการจัดตั้ง อบต.ขึ้นมา ซึ่งเป็นความฝันของคณะราษฎรที่ต้องการสร้างเทศบาลทั้งหมดและกระจายอำนาจ

“ครั้งนี้อาจจะเป็นพลังประชาชนครั้งที่ 3 หากฝืนเสียงของประชาชน ดังนั้นรัฐบาลเสียงข้างน้อยของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.ต้องตระหนักไว้ว่า คะแนนนิยมของตนเองตกต่ำมาก ขนาด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอนนี้ยังเหลือแค่ 1-2% ถ้าผู้นำทางการเมืองตกต่ำขนาดนี้ ผมคิดว่าน่าจะพอเถอะ” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ธำรงศักดิ์’ ชี้ผลโพลสะท้อน คนอัดอั้น ‘ไม่เอาแล้วระบอบทหาร’ ยันเพื่อไทย-ก้าวไกลเจาะป้อมค่ายภาคใต้แน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image