หนังสือพิมพ์มติชนได้รวบรวมบทวิเคราะห์ของสื่อมวลชนต่างประเทศสำนักต่างๆ ที่มองการเลือกตั้งของประเทศไทยที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ยังมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในวังวนเดิมๆ คือมีความขัดแย้งระหว่างขั้วอนุรักษนิยมกับขั้วเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยให้จับตาที่บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการกลับประเทศ รวมไปถึงความเสี่ยงในการปฏิวัติรัฐประหาร
ในสายตาของสื่อต่างประเทศยังคงเห็นว่าสังคมไทยขัดแย้ง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีโอกาสได้ ส.ส.มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล เพราะมีกลไกที่ไม่ได้เอื้อให้พรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีการจับตามองว่าพรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคการเมืองที่ความสัมพันธ์กับกองทัพหรือไม่ และถ้าจับมือกันจะทำให้คนที่เลือกไม่พอใจมากน้อยเพียงใด
การที่สื่อต่างประเทศมองว่าประเทศไทยยังอยู่ในความขัดแย้งย่อมไม่ส่งผลดีต่อการลงทุน เพราะข่าวสารต่างๆ มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่ตัดสินใจมาลงทุนในไทย อย่างไรก็ตาม มุมมองของสื่อต่างประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก และแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะเลือกอนาคตประเทศเช่นไร
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เสียงของประชาชนสำคัญมาก จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมไปถึงผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ปัจจัยเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงมุมมองของสื่อต่างประเทศจากที่เคยเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในความเสี่ยงต่อความขัดแย้งและการรัฐประหาร เป็นมุมที่มองไทยว่ามีอนาคต หากผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม มีความชัดเจนจนสามารถบ่งบอกได้ว่าประชาชนต้องการอะไร เชื่อว่านักการเมืองและพรรคการเมือง รวมไปถึงวุฒิสภาจะยอมรับเจตจำนงนั้นๆ และการเคารพประชาชนจะทำให้อนาคตของประเทศชัดแจ้ง สื่อต่างประเทศมั่นใจ และถ่ายทอดความมั่นใจนั้นต่อไปให้นักลงทุนชาวต่างชาติให้หันมาลงทุนในประเทศไทย