สำรวจความเห็นโลกออนไลน์ หนุน-ค้าน กระหึ่ม! หลัง สนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.คอมพ์

จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค.) ท่ามกลางเสียงคัดค้าน มีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องให้คว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างหนัก แต่ก็ไม่เป็นผล

สำรวจความเห็นโลกออนไลน์ หลังจากมติดังกล่าวผ่านฉลุย พบว่ามีคนดัง นักเขียน นักวิชาการทั้งค้านและหนุน ดังนี้

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าว พีพีทีวี ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมากว่า 30 ปี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก Vanchai Tantivitayapitak ระบุว่า

เมื่อคนแก่ในโลกยุคอนาล็อกมาตัดสิน พ.ร.บ.คอมพ์ ที่ใช้กับเด็กรุ่นใหม่ในโลกดิจิทัล ดูบรรยากาศถ่ายทอดสดการพิจารณาพรบ.คอมพ์ของสภาแล้ว

Advertisement

บรรดาสนช.ที่มีอำนาจในการตัดสินใจพรบ.คอมพ์ ส่วนใหญ่น่าจะอายุหกสิบปีขึ้นไป เรียกได้ว่าอยู่ในโลกการสื่อสารยุคเก่า แบบอนาล็อก ที่อาจจะไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของการสื่อสารยุคใหม่แบบดิจิทัล

และเกินครึ่งของสนช.ก็เป็นบุคคลในเครื่องแบบ ที่ไม่เคยคิดอะไรนอกกรอบเลย นอกจากรับคำสั่งมาตลอดชีวิต
ขณะที่โลกออนไลน์ โลกดิจิทัล เป็นโลกของความคิดสร้างสรรค์ โลกของการคิดนอกกรอบ โลกของเสรีภาพ

ถามจริง ๆ สนช.จะมีสักกี่คนที่รู้จัก Startup Fintech อย่างถ่องแท้ หรืออยู่ในโลกออนไลน์ตลอดเวลา สิ่งที่น่าเสียดายคือ เมื่อไม่ค่อยเข้าใจแล้ว ยังไม่สนใจต่อข้อเรียกร้องและเสียงคัดค้าน 3 แสนกว่าเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่ใช้สื่อดิจิทัลแทบทั้งวัน แต่ใช้ทัศนคติส่วนตัว ใช้อำนาจของผู้ใหญ่ ใช้แนวคิดแบบ คุณพ่อรู้ดี มาตัดสินกติกาที่ใช้กับคนรุ่นใหม่

Advertisement

ทราบดีว่า สนช.ผ่านพรบ.คอมพ์แน่นอน เพราะอำนาจอยู่ที่พวกเขา แต่อีกไม่นาน คลื่นของคนรุ่นใหม่ จะซัดกลับมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่พวกเขาคิด ไม่มีใครฝืนกงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงได้หรอก

สุดท้ายพรบ.คอมพ์ สมัยประยุทธ์ก็ไม่ต่างจาก พรบ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์ ที่อาศัยเสียงข้างมากในสภาลากไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน
จนเป็น เผด็จการรัฐสภา และเป็นข้ออ้างให้ผู้คนออกมาเดินขบวน จนเกิดรัฐประหาร

การผ่านพรบ.คอมพ์แบบไม่มีเสียงค้านสักเสียง ทั้งๆที่มีคนค้าน3แสนกว่า ก็เป็นเผด็จการรัฐสภาเหมือนกัน. ที่บรรดาสนช.ในสภา เคยก่นด่า สส.สมัยยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา และออกมาเดินขบวนประท้วงด้วย

ต่างกันตรงไหน

หากวันหนึ่งมีคนออกมาเดินเต็มถนนบ้างก็อย่าประหลาดใจ

และว่า “ในอนาคตหากมีคนออกมาประท้วงรัฐบาล คนอยู่เบื้องหลังไม่ใช่นักการเมือง หรือพวกคลั่งสีเสื้ออีกต่อไป แต่เป็นคนรุ่นใหม่ คนธรรมดาที่อยู่ในโลกดิจิทัล ที่รู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม และกำลังหารูระบายกันแล้ว”

ขณะที่นาย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์ข้อความตอบสเตตัสดังกล่าว ในเชิงเห็นค้าน โดยระบุว่า

ถ้าจะสรุปแบบนี้ผมก็ขอเติมว่า ‘โลกของคนรุ่นใหม่คือโลกของการบิดเบือนข้อมูล ใส่ร้ายป้ายสี สร้างความเกลียดชังและเป็นโลกของเสรีภาพที่ทำร้ายเสรีภาพคนอื่น’ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องมี พรบ.คอมฯ

ด้าน อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทวีตข้อความระบุว่า

เป็นวันที่คนไทยและคนรุ่นใหม่ที่ห่วงใยอนาคตของสังคมตนเองได้เข้าใจความหมายของคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” อย่างลึกซึ้งและกระจ่างชัด

และ ความเงียบงันของสื่อกระแสหลักต่อประเด็นสำคัญอย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยิ่งสะท้อน+ตอกย้ำว่าเหตุใดพื้นที่สื่อสารในโลกออนไลน์จึงสำคัญ และเหตุใดรัฐจึงอยากควบคุม

และ ทุกครั้งที่รัฐมีอำนาจมากขึ้น รัฐฟังประชาชนน้อยลงเสมอ อำนาจเด็ดขาดมาพร้อมกับความสามารถในการรับฟังที่บกพร่อง ประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้เสมอมา

ขณะที่ อ.ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า

ถ้ารัฐใช้อำนาจบังคับ ติดตั้งกล้องวงจรปิดในห้องนอนของท่าน ท่านจะพูดไหมครับว่า เมื่อเราไม่ได้ทำผิดก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร

และ อย่าเข้าใจผิด เผด็จการรัฐสภามีเฉพาะรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image