เวทีผู้นำ “อาเซียน-มะกัน” กับเกมการเมืองโลก

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่มีขึ้นวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพราะเป็นครั้งแรกที่ทางการสหรัฐมีหนังสือเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ร่วมประชุมดังกล่าว โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐเป็นเจ้าภาพ

มีความพยายามจะตีความคำเชิญดังกล่าวว่าแฝงนัยทางการเมือง หรือเป็นการส่งสัญญาณท่าทีของสหรัฐที่มีต่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปในทางบวกมากขึ้น ใช่หรือไม่

แต่คำตอบก็เป็นไปตามที่ “แพทริค เมอร์ฟี” อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยว่าไว้ คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐครั้งนี้ สำหรับสหรัฐแล้วอาเซียนคือประชาคม ไม่ใช่ประเทศเดี่ยว จึงไม่มีการเน้นการเจรจากับประเทศใดเป็นการเฉพาะ

“แพทริค” ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายหันกลับให้ความสำคัญกับเอเชียอีกครั้งหนึ่งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ที่เป็นดังศูนย์กลางของการปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อีกทั้งอาเซียนยังเป็นคู่ค้าใหญ่ลำดับ 4 ของสหรัฐ ขณะที่สหรัฐเป็นประเทศที่มาลงทุนในอาเซียนมากที่สุด

Advertisement

เนื้อหาเดียวกันนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาระหว่างการบรรยายสรุปของ “จักรกฤษณ์ ศรีวลี” อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ที่ว่า การจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งแรกที่สหรัฐเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมว่าสหรัฐจริงจังในการยกระดับความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับอาเซียน และเน้นย้ำถึงนโยบายการปักหมุดเอเชียของสหรัฐอีกด้วย

อย่างไรก็ดี หากจะมองอีกมุมหนึ่ง ข้อเสนอในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐครั้งนี้ เพิ่งมีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จึงดูคล้ายกับว่าเป็นความพยายามในเชิงสัญลักษณ์ของประธานาธิบดีโอบามา ที่จะทิ้ง “ภาพแห่งความทรงจำ” อันสะท้อนถึงนโยบายหันกลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียที่โอบามาได้ประกาศไว้มากกว่าที่จะหวังให้เกิดมรรคผลใดๆ ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งใหม่กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ

ที่สำคัญการกำหนดให้การประชุมสุดยอดดังกล่าวมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ทำให้มองว่าเป็นเพียงการช่วงชิงโอกาสของมหาอำนาจที่จะแสดงบทบาทว่าตนเองต่างก็ให้ความสำคัญกับอาเซียน ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ในระดับสูงสุดของผู้นำนั่นเอง

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศสหรัฐไม่ได้เป็นเจ้าภาพ หากแต่เป็นการประชุมอาเซียน ซึ่ง สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่พร้อมจึงให้ประเทศสหรัฐช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่และบุคลากร

“ฉะนั้น การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการขอความช่วยเหลือจากสหรัฐ โดยอเมริกาไม่ได้เป็นประธานเอง เพียงแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่และสิ่งต่างๆ ให้ นั่นหมายถึงว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงตัวเท่าเดิม ในลักษณะเดิม ไม่อบอุ่นไปกว่านี้ หรืออาจไม่ได้แย่ลงมากไปกว่านี้ เพราะสหรัฐต้องระวังที่จะไม่ทำอะไรที่จะผลักให้รัฐบาล คสช.หันไปอิงประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่เขาระมัดระวังอยู่” ผศ.ดร.พวงทองให้มุมมอง

ขณะที่ ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่อเมริกา เป็นการประชุมปกติทุกปี เเต่เราจะเห็นว่าสหรัฐเริ่มสนใจอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งเเต่ปี 2552 เป็นต้นมา เเละเน้นมากขึ้นในปี 2554 ทั้งหมดเป็นผลมาจากสหรัฐหวาดกลัวการขยายตัวของจีน

ถ้ามองย้อนไปเเต่เดิม สรัฐเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเเต่สมัยสงครามเย็น กระทั่งเเพ้สงครามที่เวียดนามจึงถอนตัวออกไปหมด เเล้วสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนในปี 2514 เเล้วก็ไม่สนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกเลย ทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องสร้างพลังขึ้นด้วยการตั้งอาเซียนขึ้นมา เเต่สหรัฐก็ยังไม่สนใจ จนเห็นว่าจีนกำลังจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มอาเซียน มาเข้าเป็นสมาชิกเเละเริ่มเข้าประชุมด้วย ทั้งที่ในอดีตสหรัฐ ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยซ้ำ

ยิ่งเห็นจีนเพิ่มบทบาทด้านความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มอาเซียน สหรัฐเลยดำเนินนโยบายกลับมาให้ความสนใจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเตรียมสร้างฐานทัพในออสเตรเลีย เพื่อยืนยันว่าสหรัฐยังให้ความสำคัญ เเละให้ความสนใจภูมิภาคนี้

“รวมทั้งยังมีความพยายามจะปิดล้อมจีนไม่ให้ขยายอิทธิพลออกไป เนื่องจากจีนเมื่อประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจก็เริ่มสร้างกองทัพ เพื่อเรียกร้องดินเเดนต่างๆ ที่จีนคิดว่ามีสิทธิ เช่น เวียดนาม ไต้หวัน เกาหลี ฯลฯ ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีความขัดเเย้งกับจีน เปิดโอกาสให้สหรัฐเข้ามามีส่วนปิดล้อมจีน เป็นประเด็นที่ขัดเเย้งกันอยู่” ศ.ดร.สุรชัยอธิบาย

ศ.ดร.สุรชัยบอกว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการเเข่งขันที่ดุเดือดมาก ระหว่าง “พรรคเดโมแครต” กับ “พรรครีพับลิกัน” บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ พยายามยืนยันว่าการที่สหรัฐมีความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสำคัญต่อความมั่นคงเเละเศรษฐกิจของสหรัฐ เเละพยายามรักษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ขณะเดียวกันจีนก็พยายามขยายอิทธิพลผ่านกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค หรืออาเซป ที่มีอาเซียน 10 ประเทศ

ตอนนี้จึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างทีพีพีกับอาเซปในภูมิภาคนี้ อาเซียนจึงเป็นกลุ่มประเทศใหญ่ที่ทิ้งไม่ได้ ต้องรักษาความสัมพันธ์เเละกระชับให้เเน่นเเฟ้นขึ้น

การประชุมครั้งนี้จึงเป็นความพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐเเละอาเซียนให้เเน่นเเฟ้นขึ้น ขณะที่สมาชิกอาเซียนโดยเฉพาะไทย พยายามจะรักษาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ หรือรัสเซีย จุดยืนของเราคือต้องการส่งเสริมให้เกิดการเเก้ปัญหาทุกจุดอย่างสันติวิธี เราไม่สนับสนุนการปิดล้อม การสร้างสัมพันธมิตรผ่านทางทหาร เพราะจะนำไปสู่ความขัดเเย้ง เเละต้องการความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ เพียงเเต่มีผลประโยชน์ร่วมกันตรงไหนก็ทำที่ตรงนั้น

การประชุมครั้งนี้จะเป็นสัญลักษณ์กลายๆ ว่าสหรัฐยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ศ.ดร.สุรชัยบอกว่า “ใช่ เป็นการผ่อนปรนลง จากท่าทีที่เเข็งกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จากเดิมที่มีการต่อต้านการปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ เเละสนับสนุนรัฐบาลชุดที่เเล้ว เนื่องจากรัฐบาลชุดที่เเล้วสนับสนุนสหรัฐอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นผู้ลงนามบันทึกสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐ เเล้วอ้างเรื่องการปฏิวัติมากดดันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เเต่ขณะเดียวกันสหรัฐก็รู้ว่าถ้ากดดันเรามากเกินไป เราก็จะหันไปหาจีนหรือรัสเซียมากขึ้น เป็นสาเหตุที่สหรัฐเริ่มลดท่าทีลง”

“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าจีนมีความพยายามจะใกล้ชิดกับเรา เเต่เราพยายามจะละเว้นความร่วมมือทางการทหาร เเต่ปีที่เเล้วก็ให้จีนมาเเสดงการบิน เรื่องนี้สหรัฐตกใจมาก เเล้วเราก็พูดอีกว่าอาจจะซื้อรถถังจากรัสเซีย ทั้งหมดนี้ผมมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ของเราที่จะตอบโต้เเรงกดดันของสหรัฐ ส่งผลให้ท่าทีของสหรัฐผ่อนปรนลง ตรงนี้ก็เป็นเกมการเมือง เกมการทูตง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร” ศ.ดร.สุรชัยทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image