ปลัดมท.แจงมติครม.แก้คนไร้รัฐ-สัญชาติ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยว่า มติครม.วันที่ 7 ธันวาคม อนุมัติแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ตามข้อเสนอกรมการปกครอง มท. เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะของเด็กนักเรียนและบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักรไทย นั้นชี้แจงว่า 1.เพื่อแก้ปัญหาเด็กที่เกิดในไทย แต่ต้องกลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยครม.ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้ “บุตรของคนต่างด้าวทุกกลุ่มที่เกิดในประเทศไทย” สามารถอาศัยอยู่ในไทยได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ว่าบิดาหรือมารดาจะเข้ามาอยู่ในไทยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม โดย “สิทธิอาศัย” ของบุตรจะเป็นไปตามสิทธิของบิดาหรือมารดา และสิทธิอาศัยนั้นก็จะติดตัวเด็กต่อไปตราบเท่าที่ยังอาศัยอยู่ในไทยโดยไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยการให้สิทธิอยู่อาศัยตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จึงไม่เกี่ยวกับการ “ให้ถิ่นที่อยู่” และ “ให้สัญชาติไทย” กับบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิ

“สาระสำคัญของกฎกระทรวงจึงเป็นเพียงการรับรองสิทธิอาศัยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นบุตรที่เกิดในประเทศไทย มิให้ต้องตกเป็นผู้กระทำความผิดฐานเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการได้สัญชาติไทยซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติและหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นการเฉพาะ”นายกฤษฎากล่าว และว่า เพื่อจะได้แยกแยะว่าเด็กจะอยู่อาศัยในฐานะใด เช่น บิดามารดาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ทางราชการได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้ซึ่งถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวโดยต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุม บุตรของคนกลุ่มนี้ก็จะได้สิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยเหมือนบิดามารดาเช่นกัน หรือในกรณีที่บิดามารดาเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง บุตรที่เกิดในประเทศไทยก็จะมีฐานะเช่นเดียวกับบิดามารดา แต่อนุญาตให้เด็กอาศัยอยู่ได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการดำเนินการตามกฎหมายหรือรอนโยบายของรัฐที่จะดำเนินการกับผู้เป็นบิดามารดา และเมื่อบิดามารดาเดินทางออกไปนอกประเทศไทย หรือถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ 3 ด็กก็จะเดินทางออกไปพร้อมกับบิดามารดาด้วย

นายกฤษฎากล่าวว่า เป็นการแก้ไขปัญหา “คนที่เกิดในประเทศไทยแต่ไร้สัญชาติ”โดยครม.ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายสัญชาติมีมติอนุมัติให้เด็กที่เกิดในไทยซึ่ง “เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว” และ อยู่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียน หรือเป็นกรณีที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ให้มีสิทธิขอมีสัญชาติไทยเป็นการทั่วไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติได้ 2 กรณี ได้แก่ 1.บุตรของคนต่างด้าวกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำทะเบียนและออกบัตรประจำตัวไว้แล้วกับสำนักทะเบียนอำเภอ ซึ่งคนที่เป็นบิดาหรือมารดาจะต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี 2.บุตรของคนต่างด้าวอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย ที่เกิดและเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีแล้ว เท่ากับว่าเป็นคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน หรือถ้าเป็นกรณีเด็กที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์จนไม่สามารถพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงได้ว่าใครเป็นบิดามารดา เด็กจะใช้สิทธินี้ได้ต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงจะขอมีสัญชาติไทยได้ โดยทั้งสองกลุ่มจะต้องมี “สูติบัตร” หรือ “หนังสือรับรองการเกิด” ขณะนี้มีกลุ่มมีนักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่เกิดในประเทศไทยที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทยจำนวนประมาณ 80,000 คน

“ดังนั้นจะเห็นได้ว่าข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐและไร้สัญชาติพื่อให้สิทธิเฉพาะเด็กที่เกิดในประเทศไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานไม่น้อยกว่า10-20 ปี จนมีวิถีการดำเนินชีวิตเหมือนคนไทยทั่วไป และประการสำคัญเด็กหรือบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาหรือจบการศึกษาระดับปริญญาตรีตามระบบการศึกษาของไทยแล้ว ประกอบกรมการปกครอง มีฐานข้อมูลรายการบุคคลสำหรับตรวจสอบป้องกันการสวมสิทธิไว้แล้ว มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นไปตามหลักการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนทางด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายสัญชาติที่ได้ประกาศใช้มานานแล้ว แต่ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสัญชาติให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(CRC)ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีมาตั้งแต่ปี 2539

Advertisement

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเป็นการกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายสัญชาติให้ถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดฐานะและเงื่อนไขการอยู่ในราชอาณาจักรไทยของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทย พ.ศ…. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image