ญาติเหยื่อสลายชุมนุมปี 53 เรียกร้องรบ.ใหม่ ‘ทำความจริงให้ปรากฏ’ ลงนาม ICC สางคดีการเมือง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ศาลาชัยสินธพ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดานางสาวกมนเกด อัคฮาด หรือ น้องเกด พยาบาลอาสา และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ หรือน้องเฌอ ร่วมด้วยญาติผู้สายชนม์ โดยมีผู้เข้าร่วมอาทิ นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำนปช., นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล,นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา, นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ว่าที่ ส.ส.เขตพระโขนง-บางนา พรรคก้าวไกล, นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลชื่อดัง และนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เป็นต้น

หลังจบพิธีสงฆ์ มีการอ่านแถลงการณ์โดยผู้ร่วมกิจกรรมยืนถือป้ายข้อความต่างๆ ได้แก่  ยุติการพ้นผิดลอยนวล และเอาคนผิดไปขึ้นศาล รัฐบาลต้องลงนาม ICC

นายพันธ์ศักดิ์ พ่อน้องเฌอ อ่านแถลงการณ์ ความว่า

แถลงการณ์ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง 2553

Advertisement

ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล เอาคนผิดไปขึ้นศาล รัฐบาลต้องลงนาม ICC

วันนี้ วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2566 นับเป็นเวลา 13 ปีแล้วที่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมจากการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินอันผิดพลาดได้แปรเปลี่ยนเป็นการสังหารหมู่ประชาชนในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553

เหตุการณ์ดังกล่าว มีการสังหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 1 เดือน 9 วัน มีผู้เสียชีวิต 94 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 1,283 คน ทั้งพลเรือและทหาร ไม่นับทรัพย์สินเอกสารที่เสียหายไปเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์สังหารหมู่นี้เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ความตายในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 การล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน 6 ตุลา 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2515 กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ และจุดอื่นๆ

เหตุการณ์จับกุม จนนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากในกรณีตากใบ เมื่อปี 2547 ตลอดจนเหตุการณ์ประชาชนที่ถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิตในค่ายทหาร รวมถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 ก็ไม่เคยปรากฏความผิดของของผู้กระทำในกระบวนการยุติธรรมไทยเลย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีองค์กรที่เข้ามามีบทบาทอุปถัมภ์การพ้นผิดลอยนวลของอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้น

…..

เราจะเห็นตั้งแต่ความขัดแย้งหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา จนคำว่า สองมาตรฐาน กลายเป็นคำที่เข้าใจกันดีของสังคมไทย

พวกเรา ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 มีความเห็นต่อกระบวนการและความจำเป็นในการยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลประชาธิปไตยด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ถูกละเลย นำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

รื้อฟื้นคดีก่อนหน้า ที่องค์กรอิสระและศาลได้ตัดสินไปแล้ว แต่สังคมยังกังขาขึ้นมาพิจารณาใหม่ มีมาตรการที่ทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่กระทำความรุนแรงกับประชาชนเกิดขึ้นอีกในอนาคต

เร่งสะสางและนิรโทษกรรมจากคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ลงนามให้สัตยาบันรับรองเขตอำนาจศาลาอาญาระหว่างประเทศ นำกองทัพออกไปจากการเมืองตลอดกาล

เราขอยืนยันว่าหากปล่อยให้องค์กร บุคคลเหล่านั้น พ้นผิดลอยนวลต่อไป สังคมย่อมมีข้อกังขา และไม่อาจสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏได้อย่างแท้จริง

กลับจะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ลบลืมต้นเหตุของความขัดแย้งซึ่งพวกเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

รัฐมักจะบอกประชาชนว่า เสรีภาพต้องมีขอบเขต ประชาชนก็อยากจะบอกรัฐเช่นกันว่า ต้องมีขอบเขตในการใช้อำนาจและรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจเช่นกัน

สุดท้ายนี้ เรา ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ขอประกาศให้วันนี้ 19 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลแห่งชาติ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นของเราในฐานะผู้ได้รับความสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏและยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย

ด้วยความเคารพ ญาติผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553

19 พฤษภาคม 2566

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image