วิเคราะห์ : เลือกตั้งจบ-เลือกนายกฯไม่จบ ผ่าเกมชิง 376 เสียง 2 ขั้วแย่งตั๋วคุมทำเนียบ
การเลือกตั้ง ส.ส.วาระทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านพ้นมาเรียบร้อย หลังจากการเมืองทั้ง 2 ขั้ว แข่งขันกันอย่างเข้มข้น ขั้วอนุรักษนิยม ที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่วงแคนดิเดตนายกฯพรรค พปชร.ในฐานะ “2 ป.” หรือ “2 ลุง”
ขณะที่ ขั้วเสรีนิยม ขั้วประชาธิปไตยเสรีนิยม นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกฯพรรค ก.ก. มาพร้อมกับจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน การสื่อสารแบบตรงไปตรงมา รวมทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่นำโดย “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯพรรค พท.
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาต้องถือว่าหักปากกาเซียน เพราะพรรค ก.ก.มากับกระแสความเปลี่ยนแปลงด้วยการชนะเลือกตั้งได้เสียง ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งที่152 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 113 เสียง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ39 เสียง กุมความชอบธรรมในการนำฉันทามติที่ประชาชนมอบให้กว่า 14 ล้านเสียง มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
โดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่รอช้าประกาศรวมเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่มีจุดยืนอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย ต่อสายไปยัง พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเสรีรวมไทย (สร.) พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) พรรคเป็นธรรม (ปธ.) พรรคพลังสังคมใหม่
รวมกัน 313 เสียง เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ปิดประตูตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งทุกพรรคร่วมจะมากำหนดรายละเอียดทั้งเรื่องคน นโยบาย แผนการทำงาน ผ่านเอ็มโอยูเหมือนกับสากล ให้ประชาชนเห็นได้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย 100 วัน และ 1 ปี จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พร้อมประกาศจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนร่วมกัน ภายใต้จุดยืนหลัก 3 ข้อ คือ 1.ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมาก ตามผลการเลือกตั้งของประชาชน 2.ทุกพรรคจะร่วมการจัดทำข้อตกลงร่วม หรือเอ็มโอยู ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
และ 3.ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วยความเคารพต่อเสียงข้างมากของประชาชน
เดยกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน แล้ว 95% หรือได้ ส.ส.จำนวน 475 คน จะต้องมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาทั้ง 2 คน จากนั้นภายใน 15 วัน ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมรัฐสภาซึ่งมี ส.ว.ทั้ง 250 คนมาร่วมประชุมด้วยเพื่อโหวตเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯคนที่ 30 ตามบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรคที่รวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ที่ชัดเจนในขณะนี้ คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯพรรค ก.ก. โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 376 เสียง ตามที่บทเฉพาะบาท มาตรา 272 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด
หากโฟกัสที่เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคที่มีพรรค ก.ก.เป็นแกนนำ ที่รวมได้ในขณะนี้ คือ 313 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 63 เสียงที่จะมาสนับสนุนให้ครบ 376 เสียง หากไม่มีเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันที่รวมเสียงกันอยู่ที่ 187 เสียง ข้ามขั้วมาโหวตสนับสนุนให้ จำเป็นต้องลุ้นให้ได้เสียงของ ส.ว.อย่างต่ำ 63 เสียง มาร่วมโหวตเลือกให้ “พิธา” เป็นนายกฯคนที่ 30
แต่จากท่าทีและสัญญาณของ 250 ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มักจะโหวตในวาระสำคัญๆ อาทิ การเลือกนายกฯ
เมื่อปี 2562 ออกมาเป็นทิศทางเดียวกันทั้ง 249 เสียง ได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ขณะที่การโหวตพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้มาร่วมโหวตเลือกนายกฯในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา มีเสียง ส.ว.สนับสนุนไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ ส.ว.ทั้งหมด จึงต้องติดตามว่าจากนี้จนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ ทิศทางของ ส.ว.ว่าจะมีเสียงสนับสนุน “พิธา” ครบ 63 เสียงหรือไม่
ขณะที่ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังคงสงวนท่าที พร้อมกับติดตามว่าพรรค ก.ก.ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะรวมเสียงโหวตเลือกนายกฯได้หรือไม่ หากตั้งนายกฯได้ จึงจะเป็นสเต็ปต่อไปในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเสียงที่รวมได้ในขณะนี้ที่ 313 เสียง ถือว่าไร้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล เนื่องจากมีเสียงในสภามากกว่าครึ่งหนึ่ง 250 เสียง ถึง 63 เสียง แต่ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้พรรค ก.ก.จะกุมความได้เปรียบเสียงข้างมากในสภาที่มีมากกว่า ขั้วพรรค พปชร.ที่รวมกันได้ 187 เสียง ถึง 126 เสียง แต่เมื่อพรรค ก.ก.รวมเสียงตั้งนายกฯไม่ได้ หากมีปัจจัยที่เหมาะสมและเอื้ออำนวย อาจเกิดเกมชิงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมาสู้ เพราะด้วยความสัมพันธ์แบบต่อสายตรงกับ ส.ว. หากได้ทั้ง 250 ส.ว. มาชิงตั้งนายกฯให้ได้ก่อน ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก จากนั้นจึงเดิมเกมดึงเสียงจากขั้วตรงข้ามที่มีพรรค ก.ก.เป็นแกนนำ ให้รัฐบาลมีเสียงเกิน 250 เสียง ซึ่งต้องแรงเยอะพอสมควร เพราะต้องได้ถึง 63 เสียงข้ามขั้วมาสนับสนุน แต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ในทางการเมือง
เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้งจับตาและคาดหวังกับการโหวตเลือกนายกฯของที่ประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว.ทั้ง 250 คน ที่ยังมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ก่อนครบวาระการทำหน้าที่ในช่วง 5 ปี ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ที่ควรจะเคารพฉันทามติของประชาชนผ่านผลการเลือกตั้ง ที่พรรคชนะการเลือกตั้งรวมเสียงข้างมากได้ และเสนอชื่อนายกฯให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือก เพื่อให้การเมืองเปลี่ยนผ่านไปตามทิศทางของระบอบประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 09.00 INDEX อ่าน อาฟเตอร์ช็อก ยุบพรรค ผ่านกระแส เทรนด์ ออนไลน์
- 09.00 INDEX การปรับเปลี่ยน ทหาร การเมือง แรงสะเทือน จากเลือกตั้ง 2566
- กกต.งัดข้อมูลโต้ ‘ส.ว.สมชาย’ เผยพิจารณาสำนวนเลือกตั้งเสร็จแล้ว 267 เรื่อง คงเหลือ 90
- ‘สมชาย’ ข้องใจ กกต.ไร้วี่แววสอย ส.ส.? ฝั่ง กกต.รีบโต้ ไม่ได้ลืม อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง