หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการประเด็นร้อนในบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู ระหว่างพรรคก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคร่วมทั้งหมด
ปฐวี โชติอนันต์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เป้าหมายสำคัญของพรรคการเมืองคือการได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองที่ได้รับการจัดตั้งรัฐบาลจะได้นำนโยบายที่ตนหาเสียงไว้กับประชาชนมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในระบบรัฐสภา การที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นต้องรวมเสียงในสภาให้ได้กึ่งหนึ่งก่อน เพื่อสนับสนุนให้ตัวแทนของพรรคข้างมากได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลให้ได้สำเร็จ การเมืองไทยในตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการรวมเสียงข้างมากเพื่อที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้านับจำนวน ส.ส.ที่พรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมจากพรรคอื่นๆ ได้นั้นประมาณ 310 เสียง จาก 500 เสียง อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ.2557 กำหนดให้ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียงเนื่องจากนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ปัญหาอยู่ตรงที่พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรถึงจะรวบรวมเสียงได้ 376 เสียง เพื่อสนับสนุนแคนดิเดตของพรรค คือ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เกมหนึ่งที่พรรคก้าวไกลกำลังเล่นคือการกดดัน ส.ว.ให้หันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อีกเกมหนึ่งคือการเชิญพรรคการเมืองต่างๆ ให้เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม แต่ละพรรคการเมืองมีจุดยืนและความเห็นในเรื่องของนโยบายที่ต่างกัน ผลที่ตามมาคือเราจะเห็นว่า ประเด็นร้อนและอ่อนไหวในสังคมบางประเด็น เช่น การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ใน MOU ที่พรรคการเมืองจะตกลงกันว่าหลังจากที่ตั้งรัฐบาลได้แล้วจะดำเนินการเรื่องเหล่านี้ต่อไปอย่างไร
การไม่นำประเด็นเรื่องการแก้ ม.112 ขึ้นมาเขียนใน MOU ของพรรคที่จะเข้าร่วมรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากหลายพรรคการเมืองที่เข้าร่วมมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นนี้และเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในสังคมเพราะเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าหยิบยกประเด็นนี้เข้ามาใส่ MOU ที่ร่างขึ้นอาจจะทำให้หลายพรรคการเมืองถอนตัวจนทำให้การตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลยากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม การไม่ได้ใส่เรื่องการแก้ ม.112 ใน MOU ในตอนนี้ไม่ได้หมายความว่าจุดยืนและนโยบายในเรื่องของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของพรรคจะหายไป เมื่อสามารถตั้งรัฐบาลและเปิดสภาได้ การนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือและแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในสภายังไม่ถือว่าสายเกินไป ยิ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มีข้อถกเถียงหรือความเห็นต่างของ ส.ส.และประชาชนมากเท่าไร รัฐบาลยิ่งต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้และได้ถกเถียงกันถึงข้อดีและข้อด้อยของกฎหมายดังกล่าวและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์หรือการทำประชามติในขั้นตอนต่อไป
ถึงแม้ว่ากฎหมายมาตรานี้จะแก้ไขได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่พรรคก้าวไกลได้แสดงให้เห็นแล้วว่าได้ทำตามจุดยืนและนโยบายที่ตนหาเสียงไว้แล้ว
ส่วนในเรื่องของออกกฎหมายนิรโทษกรรม เกณฑ์ทหาร-ปฏิรูปกองทัพ-สุราก้าวหน้า-สมรสเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายหลักของพรรคและพรรคที่จะเข้าร่วมรัฐบาลมีความเห็นตรงกัน เราจะเห็นได้จากร่าง MOU ที่ออกมา มีเรื่องเหล่านี้อยู่ในร่างดังกล่าวด้วย เมื่อสามารถตั้งรัฐบาลและเปิดสภาได้ กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้น่าจะมีการเสนอให้สภาพิจารณาทันทีและผมเชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้จะสามารถผ่านสภาได้ เนื่องจากรัฐบาลสามารถคุมเสียงข้างมากในสภาได้อย่างมากและ ส.ว.ไม่มีสิทธิที่จะโหวตผ่านร่างกฎหมายเหมือนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
สุดท้ายนี้ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลกำลังแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อที่จะทำให้สามารถตั้งรัฐบาลและเอานโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนมาทำเกิดขึ้นจริง ผมเชื่อว่าพรรคกำลังจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ว่าสิ่งไหนควรทำก่อน ควรทำทีหลังเพื่อประคับประคองให้ระบอบการเมืองดำเนินต่อไปได้และหลุดพ้นจากมรดกที่คณะรัฐประหาร พ.ศ.2557 ได้วางเอาไว้
นี่เป็นก้าวย่างของการเปลี่ยนผ่านและการพัฒนาประชาธิปไตยที่สำคัญของสังคมไทย
อดิศร เนาวนนท์
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
“มีลุงไม่มีเรา กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” ต้องยอมรับว่า เป็นกลยุทธ์และนโยบายที่พรรคก้าวไกลนำเสนอในการเลือกตั้งที่ทำให้ได้คะแนนเสียง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ยังต้องใช้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลเองก็ยังไม่ได้จำนวน ส.ส.แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ยังต้องพึ่งพาอาศัยพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยซึ่งมีจำนวนเสียงใกล้เคียงกัน รวมถึงพรรคเล็กอีกจำนวนหนึ่ง มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ดังนั้น นโยบายแบบก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลจึงขับเคลื่อนได้ยากมาก ผมเชื่อว่า ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลคงจะมองเห็นทางหนีทีไล่ในการเล่นเกมนี้แบบ win-win คือจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องมีนโยบายหลักที่ขี่พรรคร่วมรัฐบาลและสามารถทำให้สำเร็จได้ในนโยบายสำคัญบางเรื่อง หากเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะได้รับความชอบธรรมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
กรณีการทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ ในคราวนี้ ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของพรรคก้าวไกลในเรื่องการเปิดเผยข้อตกลงกับสาธารณะ มีความชัดเจนเรื่องนโยบายการแก้ไข ม.112 ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึง ส.ว.ประกาศว่าจะไม่แตะในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลจึงพยายามเลี่ยงไม่ให้ปรากฏเรื่อง ม.112 เป็นการถอยตามกลยุทธ์ แพ้ในสนามรบแต่ชนะสงคราม ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจคนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล
แต่ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าพอรับได้ ถ้าพรรคก้าวไกลอยากประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่ก้าวไกลจะต้องพิจารณาคือท่าทีต่อวุฒิสมาชิกและพรรคการเมืองอื่น ว่าพรรคก้าวไกลจะใช้ยุทธศาสตร์ยื่นไมตรี หรือจะยื่นไม้ตีผมเห็นว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลใช้ทั้งสองวิธีคือทั้งการยื่นไม้ตี โดยกระแสกดดันทางสังคมผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่พรรคก้าวไกลถนัดและการยื่นไมตรีผ่านผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก้าวไกลยังแน่ใจว่าผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่อันดับสอง จะช่วยยื่นไมตรีไปยัง ส.ว. เพื่อให้ดีลนี้สำเร็จหรือจะรอส้มหล่น
การเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก ยุทธศาสตร์การกดดันด้วยกระแสสังคมและการยื่นไมตรี การยอมถอยในบางนโยบายที่ sensitive เช่น เรื่อง ม.112 จะทำให้พรรคก้าวไกลเดินหน้าต่อไปได้แม้จะยากยิ่ง หากพรรคก้าวไกลถอยมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าจะมีปัญหากับกองกำลังสีส้มแน่นอน
หากไปต่อไม่ไหวและยังหวังความสำเร็จในนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม พรรคก้าวไกลคงต้องรอโอกาสคราวหน้าและต้องได้คะแนนชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งอนาคตไม่มีอะไรแน่นอน พรรคก้าวไกลคงมีคำตอบในเรื่องนี้แล้ว
เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)
วิทยาเขตล้านนา
การทำ MOU พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการเมือง หรือ MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาล อาจกำหนดเวลา 4 ปี หรือครบเทอม ตามวาระเลือกตั้ง พร้อมกำหนดวิสัยทัศน์ นโยบายพรรคร่วมรัฐบาล ให้เป็นฉันทามติ สอดคล้องให้เป็นไปทิศทางเดียวกันไม่ขัดแย้ง หรือสร้างปัญหาภายหลังได้ การทำ MOU ดังกล่าวอาจมีข้อความและใช้กระดาษบันทึกเพียง 2-3 หน้าเท่านั้น เพื่อยืนยันการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดใดๆ เป็นเพียงกรอบความร่วมมือแบบภาพรวมซึ่งไม่มีผลทางกฎหมาย
แต่เป็นการลงนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกัน ภายใต้กฎกติกามารยาท จริยธรรมทางการเมือง โดยยึดผลประโยชน์ประชาชนและประเทศเป็นสำคัญไม่ใช่ประโยชน์พรรคหรือเครือข่ายที่จัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พร้อมสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจแก่ประชาชน และนานาชาติทั่วโลกด้วย
ส่วนนโยบายพรรค ก.ก. อาทิ ม.112 นิรโทษกรรรมคดีทางการเมือง การปฏิรูประบบราชการ กองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การกระจายอำนาจ สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน MOU ดังกล่าว แต่ให้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงแทน พร้อมจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ให้สอดคล้องกับฐานะการเงิน การคลัง และสภาพเศรษฐกิจประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือตอบโจทย์ประชาชนได้
ส่วนการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง เบื้องต้นเชื่อว่าพรรค ก.ก.และพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นสองพรรคการเมืองใหญ่ ได้พูดคุยเจรจากันเรียบร้อยแล้ว หลังรู้ผลเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชื่อว่าทุกตำแหน่งลงตัวแล้ว
แต่ไม่ประกาศเป็นทางการเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่การทำ MOU ดังกล่าว ถ้าเจรจาตกลงกันไม่ได้คงไม่มี MOU จัดตั้งรัฐบาลแน่
ดังนั้นการทำ MOU จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นการสร้างพันธกิจและความรับผิดชอบร่วมกันของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ไม่ร่วมกับฝ่ายอนุรักษนิยมจัดตั้งรัฐบาล แม้ MOU ดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย และไม่สามารถฟ้องร้องได้
แต่เป็นสัญญาประชาคม และสามารถนำมาฟ้องประชาชนภายหลังได้ ก่อนเข้าสู่อำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยมีเสียงส่วนใหญ่เป็นฐานรองรับ
ผลดีของการทำ MOU ดังกล่าว เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ระบบราชการ โครงสร้างกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตประชาชน
สุดท้ายกรณีการดึงพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าร่วมรัฐบาล จนเกิดกระแส #มีกรณ์ไม่มีกู ทำให้พรรค ก.ก.ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชน ถือเป็นบทเรียนสำคัญของพรรคดังกล่าว ไม่ว่าทำ MOU ดีเลิศหรูเพียงใด พรรคร่วมรัฐบาลต้องไม่ฝืนมติและความไว้วางใจที่มอบให้ ที่สำคัญต้องไม่ทรยศหักหลังประชาชนอย่างเด็ดขาด เพื่อให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าต่อไปได้ ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างราบรื่นจนครบวาระ