อจ.ชี้ทางออกตั้ง ‘รบ.ก้าวไกล’ ถอนคันเร่ง-ไม่ถอยอุดมการณ์

อจ.ชี้ทางออกตั้ง‘รบ.ก้าวไกล’ ถอนคันเร่ง-ไม่ถอยอุดมการณ์

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พยายามหาเสียงสมาชิกรัฐสภาสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยพยายามดึงพรรคการเมืองขนาดเล็กเข้าร่วมรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ยกเลิกดีล ขณะเดียวกันการขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ก็ลำบาก ทำให้เกิดความกังวลว่า พรรค ก.ก.จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ อย่างไร

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเมืองไทยครั้งนี้กำลังอยู่ในสภาวะบีบบังคับให้พรรคการเมืองฟังเสียงประชาชนมากขึ้น แม้ว่าประชาชนจะทราบว่าตัวเลขของพรรคก้าวไกลนั้นยังห่างไกลการจัดตั้งรัฐบาล คือ 376 มาก แต่บางครั้งการต่อสู้ทางการเมือง หรือการหาเสียงทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคที่มีอุดมการณ์ จะไม่มีการเล่นการเมืองแบบน้ำเน่าเหมือนเดิม เมื่อเลือกตั้งเข้าไปแล้ว จะตกลงเรื่องผลประโยชน์โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน ตรงจุดนี้ความคิดของประชาชนรวมถึงความคาดหวังของประชาชนสูงมาก ส่งผลให้พรรคก้าวไกลกลับมาทบทวนบทบาททั้งหมด แม้ในความเป็นจริง ส.ส.ทั้งสองคนของพรรคชาติพัฒนากล้าเป็นคนของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แต่ภาพของแกนนำคนหนึ่งเคยมีส่วนร่วมเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง แตกต่างกับความเคลื่อนไหวและการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนสนับสนุนพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคก้าวไกลต้องทบทวนบทบาท ท้ายที่สุดคือไม่ร่วมรัฐบาลเพื่อเพิ่มตัวเลขการสนับสนุน

Advertisement

ด้านอุปสรรคที่พรรคก้าวไกลกำลังเผชิญอยู่ในการเพิ่มเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาล มองว่าพรรคก้าวไกลนั้นจะต้องถอยและถอนคันเร่ง รวมถึงอธิบายความชัดเจนการแก้ไขมาตรา 112 ให้ ส.ว.รับฟัง หากอธิบายชัดเจนและไม่นำไปสู่การขยายความขัดแย้งเชื่อว่าเสียงสนับสนุนน่าจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มเท่าไร ไม่สามารถฟันธงได้ แน่นอนว่าวุฒิสมาชิกขณะนี้ก็ต้องรับฟังเสียงรอบด้านให้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว. แม้ว่ากระแสสังคมจะพยายามกดดันให้เคารพหลักการของการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก อุปสรรคอยู่ที่พรรคก้าวไกลเองว่าจะปรับบทบาท ลดความแข็งกร้าว สิ่งสำคัญคือการเมืองครั้งนี้มีผู้หวังดีชี้แนวทางให้พรรคว่าต้องยอมรับฟังความคิดเห็นต่างด้วยความอ่อนน้อม อ่อนโยน ชี้แจงในข้อสงสัยอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ส่วนความเห็นพรรคก้าวไกลจะลุ้นเสียง ส.ว. มีบางส่วนคิดว่าไม่รอด แต่บางส่วนคิดว่าเป็นไปได้นั้น เป็นไปในลักษณะนี้ เพราะสังคมคาดหวังการตัดสินใจของ ส.ว.ชุดนี้มาก เนื่องจากเป็นโอกาสที่ดีที่สุดวาระเหลือเพียง 1 ปีสุดท้าย จะสิ้นสุดลงในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ท่านต้องให้ความเมตตา ให้ความเป็นพี่เลี้ยงที่ดี นี่คือบทบาทที่ดีที่สุดในฐานะผู้แสดงความห่วงใย ท้วงติง ให้คำแนะนำรัฐบาลชุดใหม่ มากกว่าจะให้สังคมคิดไปเองว่าเลือกข้างทางการเมืองไว้แล้ว

สมมุติว่า ส.ว.รับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผลรอบด้านมากขึ้น ประชาชนจะเข้าใจการตัดสินใจของ ส.ว.ได้ ต้องมีเหตุผลมากพออธิบายสาธารณชน แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า ส.ว.จะทำตามเสียงของประชาชนหรือไม่ จนกว่าคณะทำงานพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องไปแสดงเจตจำนง และจุดยืนต่อ ส.ว.เรื่องการขับเคลื่อนกฎหมาย หรือแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้ ส.ว.ส่วนใหญ่พอใจได้หรือไม่ประเด็นนี้ต่างหากที่สำคัญ หากอธิบายชัดเจนและมีเสียงตอบรับที่ดีขึ้น คิดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะยอมรับได้

Advertisement

แต่หากพรรคก้าวไกลฝ่าฝืนข้อตกลงในที่ประชุม แน่นอนว่าวิกฤตทางการเมืองจะเข้ามาเป็นบูมเมอแรง เขวี้ยงไปยังพรรคก้าวไกล เพราะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย ก็เกิดความไม่สบายใจต่อประเด็นดังกล่าว แม้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็ออกมาบอกว่า หากยอมถอยได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก็จะสามารถทำให้ทุกคนสบายใจ โจทย์สำคัญคือพรรคก้าวไกลต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ สิ่งไหนยอมได้ หรือถอยได้ ก็ควรจะผ่อนปรน

ถามว่าการถอนตัวเข้าร่วมรัฐบาลของบางพรรค ส่งผลให้รวมเสียงยากขึ้นหรือไม่ มองว่าทั้งสองพรรคไม่เยอะก็จริง แต่นักการเมืองต้องเคารพเสียงของประชาชน ประชาชนกำลังดื่มด่ำ เรียนรู้ มีอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องยึดโยงกับประชาชนให้มากขึ้นเช่นกัน ความคุ้มค่าการต่อสู้สนามการเมืองระยะยาว จะเห็นผลพลอยได้ให้พรรคการเมืองมีเสียงสนับสนุนในอนาคตเข้มแข็งมากขึ้น มากกว่าจะเล่นการเมืองเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีความยั่งยืนทางการเมือง ที่สำคัญพรรคก้าวไกลไม่ควรปรับหรือลดทอนอุดมการณ์ทางการเมืองของตน เพียงแต่ต้องอธิบายหลักการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีปัญหาอย่างไร ถึงกำหนดตัวเลข 376 เสียงจัดตั้งรัฐบาลยาก ผลกระทบการทำงานของสภานิติบัญญัติต้องการตัวเลข หรือจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากจะทำลายกระบวนการตรวจสอบของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ส่งผลให้การตรวจสอบของสภานิติบัญญัติเกิดความอ่อนแอ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา

หากพรรคก้าวไกลนำคำอธิบายชุดนี้มาชี้แจงต่อเพื่อนสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยกันเห็นถึงความตั้งใจ เห็นหลักการตรงนี้ ประเด็น ส.ว. 250 เสียง เป็นผลผลิตทำให้เกิดความยากลำบากต่อนักการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ทุกคนควรจะหาทางยุติ และปิดสวิตช์ร่วมกัน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แสดงอิทธิฤทธิ์ส่งสัญญาณไปถึงผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของพรรคการเมืองเองและประชาชนเป็นสำคัญ มากกว่าจะร่างให้กับผู้มีอำนาจอยากจะครองอำนาจทางการเมืองในระยะยาว

ยุทธพร อิสรชัย
สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ก ารจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ตอนนี้ยัง 50-50 เพราะมีปัจจัยพลิกผันหลายประการ เช่น การประกาศผลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การรวบรวมเสียงผู้แทนราษฎรจะไปปิดสวิตช์ ส.ว.เป็นเรื่องยากมาก อาจเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะพรรคที่มีเสียงค่อนข้างเยอะ อย่างพรรคภูมิใจไทยคงไม่มาร่วม พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ชัด ส่วนพรรคที่เหลือพรรคเล็กพรรคน้อย รวมไปถึงปรากฏการณ์ต้องการ ส.ส.เพื่อเพิ่มจำนวนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ท้ายที่สุดถ้าฝืนกับคะแนนเสียงของพรรค อาจส่งผลในทางลบได้ ดังนั้นการปิดสวิตช์ ส.ว.ด้วยเสียง ส.ส.คงยาก ส.ว.ตอนนี้มีกลุ่มสนับสนุนชัดเจนไม่เกิน 20 คน นอกนั้นอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มประกาศโหวตไม่ยอมรับพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับกลุ่มจะงดออกเสียง 2 กลุ่มนี้รวมกันยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ใน ส.ว. โอกาสจะได้เสียง 376 ยังเป็นสิ่งท้าทายอยู่ กรณีต่อไปคือการเมืองแต่ละมุ้ง แม้พรรคก้าวไกลจะเคลียร์ในระดับพรรคได้ แต่ต้องเคลียร์ระดับมุ้งด้วย เพราะแต่ละมุ้ง (Political faction) เป็นกลุ่มการเมืองย่อยในแต่ละพรรค มีจุดยืน มีผลประโยชน์ทางการเมืองต่างกัน

กรณีการโหวตของ ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือโหวตตามฉันทามติของประชาชน ชัดเจนประมาณ 20 คน กลุ่มสองคือกลุ่มไม่โหวตให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล กลุ่มนี้หน้าเดิมๆ กลุ่มสามน่าสนใจคือ งดลงคะแนนเสียงอาจมีคนมากพอ ดังนั้นกลุ่มสองกับกลุ่มสามรวมกันแล้วยังมากกว่ากลุ่มแรกอยู่ มองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคก้าวไกลต้องเดินหน้าเจรจา หรือแม้กระทั่งใช้ยุทธศาสตร์พลังทางสังคมต่างๆ กดดันการทำงานของ ส.ว. แต่ยังอีกยาวไกล ประมาณ 2 เดือนจากนี้ถึงจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ถามว่ากระแสจะไปถึงตรงนั้นไหม พลังทางสังคมจะกดดันได้ไหม เป็นคำถามสำคัญ ปัจจัยท้าทายของพรรคก้าวไกลมี 3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งพรรคก้าวไกลแบกรับความคาดหวังของประชาชนที่สนับสนุน โดยเฉพาะบัญชีรายชื่อได้มาถึง 14 ล้านเสียง เป็นการเมืองมิติใหม่ได้รับการตอบรับจากสังคม เป็นโมเมนตัมทางการเมือง เมื่อความคาดหวังประชาชนสูง ท้ายสุดสิ่งที่ทำต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการเมืองเดิมบางเรื่อง ทำให้แรงเหวี่ยงกลับมาสู่พรรคได้ เป็นโจทย์ใหญ่ทำให้พรรคก้าวไกลขยับเขยื้อนบางอย่างไม่ง่าย วันนี้การเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังไม่ได้เข้าสู่การเมืองมิติใหม่ทั้งหมด พรรคการเมืองแบบเดิม วิธีคิดแบบเดิม เช่น พรรคการเมืองหลายๆ พรรค ยังมีวิธีคิดของการมีโควต้ารัฐมนตรี แบ่งกระทรวงเกรดเอ บี ซี

การแบ่งตามยุทธศาสตร์ต่างๆ ตามภารกิจจะบรรลุเป้าหมาย อาจไม่ใช่การเมืองแบบใหม่อย่างที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ ดังนั้นภารกิจสำคัญพรรคก้าวไกลต้องฝ่าฟันให้ได้ อย่างปรากฏการณ์พรรคชาติพัฒนากล้าทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ไอโอธรรมชาติ ผู้คนสนับสนุนพรรคก้าวไกลเดิมก็หันมาวิพากษ์วิจารณ์

ประการที่สองคือ วิถีการปฏิบัติของพรรค วิธีคิดของพรรคอาจต่างกับหลายพรรคเติบโตมาในระบบการเมืองแบบเก่า รวมไปถึงมุ้งทางการเมือง เส้นทางของพรรคแบบเก่าได้รับการเลือกตั้งเข้ามาผ่านหัวคะแนน หรือบ้านใหญ่หลายแห่งอาจสอบตก แต่ยังมีกลุ่มที่มีอิทธิพลในพรรคไม่น้อย เมื่ออยู่ในภาวะพรรคร่วมรัฐบาล พรรคก้าวไกลเองก็มีข้อจำกัดต่างๆ เพราะเสียงไม่ถึง 250 ต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลผสม วิธีคิดของพรรคก้าวไกลจะไปกันได้อย่างลงตัวกับพรรคร่วมรัฐบาลเหล่านี้หรือไม่

ประการสุดท้าย ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ พรรคข้าราชการยังคงมีอิทธิพลขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ การใส่เกียร์ว่างการวางยาในระบบราชการมีมากมายรอพรรคก้าวไกลอยู่ข้างหน้า

การแก้เกมของพรรคก้าวไกล ด้วยความที่พรรคมีจุดเด่นเป็นสตาร์ตอัพทางการเมือง ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในเวทีเลือกตั้งแล้ว ไปดูช่องว่างพรรคใหญ่ทำไม่ได้ วันนี้การขับเคลื่อนของพรรคก้าวไกลอยู่สตาร์ตอัพทางการเมือง เอามิติใหม่เข้ามาสิ่งที่พรรคเก่าทำไม่ได้ สิ่งที่พรรคราชการทำไม่ได้มานำเสนอให้กับสังคม ใช้พลังทางสังคมขับเคลื่อนไปกับพรรค ทำงานทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนทางความคิด พรรคก้าวไกลมาถูกทางแล้ว เพียงแต่วันนี้อาจต้องฝ่าฟันการเปลี่ยนผ่าน แล้วอย่าลืมว่าพรรคก้าวไกลเติบโตพร้อมกับพลังทางสังคมในประเทศไทย เป็นพลังกดดันผู้คนในสภา หรือระบบการเมือง

เพราะวันนี้นอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง การเมืองนอกสภาจะต้องเข้ามากำกับคือสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องร่วมทำกิจกรรมหลายอย่างกับภาคประชาสังคม ช่วยกันขับเคลื่อนปัญหาเดิมๆ ของรัฐสภาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image