ส่อง 23 ข้อ ‘เอ็มโอยู’ โอกาส-ความเป็นไปได้

ส่อง23ข้อ‘เอ็มโอยู’ โอกาส-ความเป็นไปได้ หมายเหตุ - ความเห็นนักวิชาการ

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อกรณี 8 พรรคการเมือง ร่วมลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) จำนวน 23 ข้อ กับ 5 แนวทางปฏิบัติ นำไปสู่กระบวนการที่จะผลักดันไปสู่นโยบายของรัฐบาลต่อไป มองแต่ละวาระแล้วมีความเป็นไปได้แค่ไหน

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ก ารทำ MOU เป็นการประกาศชัยชนะของพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งอย่างรวดเร็วมาก เป็นการบริหารชัยชนะหลังการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จ กระบวนการต่อจากนี้จะมีการตกลงกันในด้านของเศรษฐกิจ โดยมีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนหลัก ขณะที่บริหารอำนาจเป็นของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูเหมือนจะลงตัวทั้งฝ่ายเศรษฐกิจและฝ่ายของการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

Advertisement

แนวทางของทั้ง 2 พรรค ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันมากเป็นเพียงแค่รายละเอียด และทั้ง 2 พรรคเป็นพรรคแกนหลักก็มองเห็นว่าการร่วมมือกันในแบบใหม่ จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลและบริหารจัดการรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นได้ เป้าหมายตอนนี้ต้องทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ได้เป็นนายกฯ ก่อน จึงค่อยขยับไปขั้นตอนต่อไป

ในเรื่องความเป็นไปได้ของนโยบาย เป็นไปได้หมดเลย เพราะรัฐราชการเองก็คุยเรื่องปฏิรูประบบราชการมาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในยุคของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในสังคมไทยก็ตระหนักดีว่ารัฐราชการกลายเป็นรัฐที่เดินแบบต้วมเตี้ยม ไม่สามารถเป็นลำนำของสังคมไทยได้แบบเดิมอีกต่อไป

กระแสของศตวรรษที่ 21 เป็นกระแสของการสร้างชาติบนความมั่งคั่ง ไม่ใช่ความมั่นคงอย่างรัฐทหารแบบเดิม ดังนั้นพลังของรัฐราชการ จึงเป็นพลังของการพยายามรักษาสิ่งเก่าๆ สิ่งเดิมๆ ที่เคยทำกันมา เห็นแล้วว่ารัฐราชการกลายเป็นรัฐที่กินพลังและงบประมาณของประเทศไปจำนวนมาก แต่การสร้างผลผลิตของรัฐราชการเป็นไปอย่างน้อยนิด แม้แต่เรื่องของการใช้อำนาจแบบความรุนแรง เช่น ภาพที่เห็นครูเตะนักเรียนในโรงเรียน รัฐราชการ-รัฐทหาร ปลูกฝังการใช้ความรุนแรงต่อคนอื่น ตรงนี้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงคือ มันจะเกิดการเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

Advertisement

เวลาที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลง ยังไม่ต้องไปแตะที่โครงสร้างของมันในระดับเบื้องต้นก็ได้ จะเห็นว่าพอหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ก็ประกาศว่าโรงเรียนในกรุงเทพมหานครยกเลิกการมีชุดลูกเสือและเนตรนารีไปแล้ว ตรงนี้คือความมุ่งหวัง แม้เป็นเรื่องของเครื่องแต่งตัว แต่มันสู้กันมานาน มีความพยายามดื้อรั้นที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ขณะที่ประชาชนมองเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯ ที่ง่ายที่สุดคือ รัฐบาลใหม่แค่โน้มน้าวให้โรงเรียนต่างๆ เข้าสู่แนวทางวัฒนธรรมใหม่ของการแต่งตัวและการไว้ผมก็จะเห็นผลทันทีในการตอบโจทย์ สิ่งนี้เรียกว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต้องไปสัมพันธ์กับกระบวนการทางกฎหมาย ที่จะต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง

คำถามที่ว่าเมื่อประชาชนคาดหวังต่อรัฐบาลของพรรค ก.ก.-พท. และอีก 6 พรรค จะสามารถทำงานภายในระยะเวลา 4 ปีให้เกิดผลอย่างจริงจังได้หรือไม่ คิดว่ามีอารมณ์หนึ่งหลังจากวันเลือกตั้งก็คือ แค่พรรค ก.ก.ได้ชัยชนะ รวมทั้งพรรค พท. อารมณ์ที่รู้สึกว่าได้กลิ่นความเจริญ จะรู้สึกมีความหวังทันที

พรรค ก.ก.ในตอนนี้คงได้รับการท้าทายว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่กับนโยบายต่างๆ ที่รับผิดชอบ พรรค พท.ก็จะถูกถามเช่นนั้นด้วย คิดว่าทั้ง 2 พรรคจะต้องประสานสายตากัน เราจะเห็นความขัดแย้งของ 2 พรรคนี้ ในการบริหารจัดการรัฐบาลน้อยกว่ากลุ่มพรรคการเมืองที่เคยมีมา เพราะว่ากลุ่มเหล่านั้นวางอยู่บนผลประโยชน์และกระบวนการลงทุนจำนวนมากที่มีความต้องการโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ หรือสัมปทานใหญ่ๆ แต่ตอนนี้จะเห็นว่าทางพรรค ก.ก. คนที่เข้ามาเป็นเหมือนเสรีชนรุ่นใหม่ เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานรากเหง้าทางธุรกิจอะไรของตนเอง ทำให้พวกเขามีความมุ่งหวังจะแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของไทยได้อย่างชัดเจน

ส่วนประเด็นการเซ็น MOU ควรเป็นบรรทัดฐานของรัฐบาลในอนาคตเลยหรือไม่ คิดว่าการเซ็น MOU ครั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหารัฐธรรมนูญฉบับที่เลวที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ปี 2560 ความจริงนั้น คะแนนเสียง 313 เสียง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่เพราะการรัฐประหารของ คสช. สร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ฝ่ายพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ดังนั้น การทำ MOU ที่เกิดขึ้นในช่วง 7 วันหลังการเลือกตั้ง เป็นจังหวะก้าวที่ทำให้ยุติข่าวลือว่าพรรคไหนจะแปรเปลี่ยนจิตใจไปอยู่กับใคร พรรคอื่นจะยุบ หัวหน้าพรรคจะลาออกแล้วเข้ามาอยู่กับพรรคนี้ ทำให้ยุติข่าวลือว่าแนวทางพวกนั้นเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก

ทัศนัย เศรษฐเสรี
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก ารทำ MOU 8 พรรคการเมือง 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 ข้อ ก่อนนำไปสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรมว่า MOU และแนวทางปฏิบัติพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 313 เสียง ถือว่าครอบคลุมนโยบายทุกพรรคที่หาเสียงกับประชาชนไว้ ส่วนใหญ่เป็นแนวทางบริหารจัดการแบบภาพรวม ไม่ได้เจาะลึกรายละเอียด บางนโยบายพรรค ก.ก.กับ พท.ไม่ได้บรรจุไว้ใน MOU เพื่อลดแรงเสียดทานจาก ส.ว. และกลุ่มปกป้องสถาบัน

ประเด็นการแก้ ม.112 และนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง พรรค ก.ก.อาจเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ ภายใต้ความเห็นชอบพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ให้ถูกผู้มีอำนาจใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อข่มขู่ คุกคามและดำเนินคดีประชาชน แม้ไม่ได้บรรจุใน MOU แต่มีนัยทางการเมืองผ่านเวทีรัฐสภาตามที่พรรค ก.ก.ได้หาเสียงไว้ขึ้นอยู่กับสภาว่ารับพิจารณาและสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

ส่วนการปฏิรูประบบราชการ กองทัพ กระบวนการยุติธรรม และกระจายอำนาจ ตามกรอบ MOU ต้องค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ได้ศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียเพื่อวางแนวปฏิบัติตามกรอบ MOU ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ ก่อนผลักดันขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรมที่สำคัญต้องตอบโจทย์ประชาชนได้ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ผลักดันไปสู่เป้าหมายได้ภายใน 4 ปี

ส่วนการผลักดันขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต้องมีทีมงานดูแลนโยบาย โดยเฉพาะต้องสร้างเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้มากกว่ากู้หนี้ต่างประเทศ เพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการเท่านั้น ทำให้หนี้สาธารณะประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กองทัพและค่ายทหาร อาจปรับใช้เป็นพื้นที่สันทนาการเพื่อประชาชนได้ อาทิ สนามกอล์ฟ สนามยิงปืน โรงยิม ฟิตเนส สนามม้า สนามมวย และศูนย์กีฬาต่างๆ หรือพัฒนาเป็นแหล่งเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ พร้อมทำลายกำแพงที่ปิดกั้นระหว่างกองทัพกับประชาชนให้มีความใกล้ชิดมากขึ้นด้วย

ส่วนนโยบายการศึกษา อยากให้รัฐบาลเพิ่มเติมกระจายอำนาจการศึกษาสู่มหาวิทยาลัย แก้ระเบียบกฎหมายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีการเลือกตั้งอธิการบดี และคณบดีทุกมหาวิทยาลัย แทนการสรรหา หรือแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจกลุ่มอนุรักษนิยม

สรุปภาพรวมกรอบ MOU 23 ข้อ และแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมอีก 5 ข้อ พรรคร่วมรัฐบาล สามารถผลักดันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่รูปธรรมได้ เพราะเป็นนโยบายหาเสียงทุกพรรค ประชาชนต้องให้โอกาส เวลา และให้กำลังใจพรรค ก.ก.ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำทางพรรคร่วมรัฐบาลไปสู่จุดหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ตามคำขวัญว่า พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค ต่อไป

 

รศ.ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ต้องเข้าใจว่าเป็น บันทึกความเข้าใจของ 8 พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ด้านเสรีนิยมไม่ใช่บันทึกข้อตกลง ในแง่ตัวอักษรก็สะท้อนการผูกพันที่ไม่ตึงมากนัก แบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ข้อห้ามทำกับข้อที่จะทำร่วมกัน ย่อหน้าแรกในอารัมภบทบอกว่าจะไม่ทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะการไม่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองอันเป็นรูปแบบของรัฐที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนข้ออื่นๆ คือข้อที่จะทำ MOU นอกจากจะมีผลในแง่การทำความเข้าใจร่วมกันก่อนร่วมงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจแก่พรรค ก.ก.ในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

เมื่อนำ MOU มากางเปรียบเทียบกับนโยบายพรรคต่างๆ ที่หาเสียงไว้ก็ใช่จะเห็นทุกเรื่องถูกบรรจุในเอ็มโอยู กระบวนการจัดทำ MOU มีการสงวนจุดต่างแสวงหาจุดร่วม ไม่ได้นำเอานโยบายของพรรค ก.ก. ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาเขียนทุกเรื่องทำให้เกิดนโยบายที่ 8 พรรคร่วมกันแถลง อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นโยบายรัฐบาลพิธา กับนโยบายของแต่ละพรรค

ความตกลงใน MOU ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันร่วมกันในแง่ภารกิจ โดยไม่สนใจว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะมาจากพรรคใด แต่ต้องปฏิบัติตาม MOU เปรียบเสมือน Job description อันเป็นข้อตกลงเรื่องภาระงานที่ต้องปฏิบัติ ดังนั้น หลายเรื่องที่ถูกบรรจุไว้ย่อมมีน้ำหนักว่าจะเกิดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร การปฏิรูประบบราชการโดยเฉพาะกองทัพ ยกเลิกผูกขาดสุราหรือแม้แต่สมรสเท่าเทียม เมื่อมีการผลักดันกฎหมายหลังการจัดตั้งรัฐบาล เชื่อได้ว่าจะได้รับการยกมือสนับสนุนผ่านกฎหมายได้ไม่ยากจากพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม MOU อาจเป็นภาพกว้างๆ หากเขียนให้เห็นในรายละเอียดหรือชี้แจงให้เห็นเชิงรูปธรรมมากขึ้น เช่น อาจมีแอ๊กชั่นแพลน หรือควรประกาศออกมาให้ชัดว่าเรื่องอะไรจะทำใน 100 วันแรก หรือเรื่องอะไรจะทำให้เสร็จภายใน 1 ปี จะทำให้เห็นโอกาสของความเป็นไปได้มากขึ้น

แน่นอน ความยากจะอยู่ที่นโยบายที่ไม่อยู่ใน MOU ปล่อยให้แต่ละพรรคผลักดันกันเอาเอง โดยเฉพาะการแก้ไข ม.112 หลายพรรคประกาศว่าไม่แก้ไข การไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ใน MOU อาจทำให้ทีมทำงานขอเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ง่ายขึ้น

ในแง่ผู้ให้การสนับสนุนพรรค ก.ก.เอง หากต้องการเห็นพรรค ก.ก.ก้าวเข้าสู่อำนาจรัฐก็อาจต้องสงวนท่าทีให้มากขึ้น ต้องยอมรับเงื่อนไขบางประการในฐานะกลไกทางประชาธิปไตยที่ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน อาจทำให้บางเรื่องไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ต้องไม่ลืมว่าโมเดลการจัดตั้งรัฐบาลจากมาสเตอร์มายด์ที่อาจดีลลับอยู่ในมุมมืด และคอยเสียบจัดตั้งรัฐบาลอยู่ หากเกิดความแตกแยกจาก 8 พรรค

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ก ารทำ MOU ของ 8 พรรคเป็นเพียงพื้นฐานในการร่วมกันทำงาน ไม่ผูกมัดทางกฎหมาย แต่เป็นข้อผูกมัดทางการเมืองว่า หากพรรคใดพรรคหนึ่งนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายกฎหมายในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง 8 พรรคนี้ จะไปในแนวทางเดียวกัน ยกเว้นกรณีที่บางพรรคขอสงวนสิทธิ ก่อนหน้านี้การต่อรองทางการเมืองและนโยบายต่างๆ จะพบเห็นในวันที่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายในวันรับตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นการทำ MOU เป็นการทำสัญญาประชาคมแบบคร่าวๆ ในการผลักดันประเด็นนี้ เป็นการผูกมัดทั้ง 8 พรรคว่า ยังไงก็ต้องไปด้วยกัน พรรคที่แตกแถวก่อนก็ต้องรับผิดชอบ อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกสังคมตำหนิติเตียน ต้องเป็นสิ่งที่แต่ละพรรคยอมรับ

หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ในแต่ละพรรคจะมีนโยบายใน MOU หนักเบาแตกต่างกัน คือ จะมีบางนโยบายที่ไม่น่ามีปัญหา และน่าจะตกลงกันได้แบบไม่ยากนักอย่างเช่น กรณีกัญชาที่มีกฎหมายเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว เรื่องสมรสเท่าเทียมก็พร้อม แม้ว่าพรรคประชาชาติจะขอสงวนสิทธิก็ตาม แต่ก็เป็นกฎหมายที่เตรียมพร้อมตั้งแต่ช่วงสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคราวที่แล้ว

บางประเด็นใน MOU ที่มองว่าเป็นความท้าทายต่อรัฐบาล เรื่องแรกคือ ประเด็นที่กระทบความมั่นคง การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ดูจาก MOU แล้ว ไม่น่ายากเท่าไหร่ ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยเหมือนกันหมด แต่เป็นแนวนโยบายที่กระทบต่อโครงสร้างขนาดใหญ่ เป็นโครงสร้างความมั่นคงระดับประเทศ แน่นอนเราไม่ได้ทำสงครามกับใคร แต่ระบบทหารในประเทศไทยหลายส่วนยังมีปัญหา และทหารเกณฑ์เป็นแรงงานฟรีในหลายกิจกรรมของกองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ใช้แรงงานตรงนี้ เพราะฉะนั้นการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นการพลิกภาพครั้งใหญ่ทำให้กองทัพมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้ง พท.กับ ก.ก.จะเจอกับแรงเสียดทานขนาดใหญ่ของกองทัพ เป็นกลุ่มอำนาจที่ไม่เคยออกไปจากการเมืองไทย แม้ว่าจะชนะบ้างแพ้บ้างก็ตาม แต่กลุ่มอำนาจนี้พร้อมจะกลับมาได้เสมอ อันนี้คืออันที่ 1 ที่น่าจะมีปัญหาในอนาคต

อันที่ 2 คือการให้ความยุติธรรมกระทบกับคนที่โดนคดี ตรงนี้คือการดัดแปลงปรับคำพูดการนิรโทษกรรมของพรรค พท.ที่ไม่ยอมรับ การปรับคำพูดใหม่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรค ก.ก.ได้สัญญาไว้ว่าจะเคลียร์คดีการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดี ม.112 หรือกรณีนักกิจกรรม นักวิชาการ ต้องหนีออกนอกประเทศหลังรัฐประหาร เมื่อปี 2557 ก็จะให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง ชอบธรรม หรือบางคนที่ไปยังไม่ชอบธรรมจริงๆ ก็ให้นิรโทษกรรม เพราะว่าถ้าเอามวลชนกลับมาจะมีตัวพ่วงมา คือแกนนำ หลายคนที่เป็นตัวแสดงทางการเมือง อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร ก็กลับมาด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่โดนแบนไปก็อาจจะได้รับประโยชน์จากนิรโทษกรรมด้วย ตัวละครเหล่านี้ยกขึ้นมาเมื่อไหร่ เกิดความขัดแย้งและมีแรงเสียดทานทั้งนั้น

อันสุดท้าย การผูกมัดแต่ละพรรคการเมืองจะอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 พรรคหลัก จาก MOU นี้ นี่คือแรงเสียดทาน ภายใต้สถานการณ์การแถลงเซ็นเอ็มโอยูมีข้อเสนอจาก น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย แม้ว่าจะไม่ได้อยู่บนเวทีก็ตาม ก็ได้บอกว่าให้ทำ Advance MOU เพื่อบอกว่าพรรค พท.กับ ก.ก.จะไปด้วยกัน จะไม่หักหลังกัน แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ปรากฏอยู่ใน MOU หลัก เพราะฉะนั้น ความไม่แน่นอนจะเกิดสถานการณ์ข่าวลือเต็มไปหมดเป็นแรงเสียดทานในการทำ MOU นำไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ดี การเซ็น MOU เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก อย่างน้อยทำสัญญากับประชาชนล่วงหน้าว่าเสียงที่เลือกแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับการปฏิบัติ

การทำ MOU ยังส่งสัญญาณให้กับกลุ่ม ส.ว.ว่า จะปฏิเสธเสียงข้างมาก 8 พรรคนี้หรือไม่ ซึ่งการไม่โหวตให้ 8 พรรคนี้ ไม่เกี่ยวกับ ม.112 แต่เป็นการปฏิเสธ MOU ที่มีนโยบายหลายๆ เรื่องที่เป็นความหวังของประชาชน จึงกลายเป็นหลายๆ เรื่องที่ไปกดดัน ส.ว.ให้เห็นแก่เสียงข้างมาก มากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image