อนุสรณ์ อุณโณ ชี้ ส.ว.ไทยไม่เหมือนใครในโลก มีแค่ประเทศนี้ ได้อำนาจเลือกนายกฯ

นักวิชาการชี้  มีแค่ประเทศนี้ที่ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เกียกกายในช่วงเวลาราว 18.00 น. ซึ่งมีการจัดเวทีเสวนา โดย นายอุเชนทร์ เชียงเสน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย นายรัฐภูมิ เลิศไพจิตร โฆษกกลุ่มวีโว่

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นสิ่งแปลกปลอมในการเมืองแบบรัฐสภา ปัจจุบันนี้ประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยส่วนใหญ่มีเพียงแค่สภาเดียวคือ สภาผู้แทนราษฎรประมาณ 114 ประเทศ ลำพังเพียงแต่สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากเสียงประชาชน และมีพรรคฝ่ายค้านถ่วงดุลอำนาจก็พอแล้ว มีเพียง 80 ประเทศเท่านั้นที่ยังมีวุฒิสภาที่ควบคู่กับไปเป็น 2 สภา วุฒิสภาก็มีความแตกต่างกัน ทั้งจากการแต่งตั้งทั้งหมด และการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนเกณฑ์ที่ใช้ ถ้ามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดก็จะมีอำนาจอย่างจำกัด แทบจะไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศเลย หรือเป็นพี่เลี้ยงในการกลั่นกรองกฎหมายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่างจากกรณีของประเทศไทย

“ในกรณีของประเทศไทย เราจะเห็นว่ามาจากการแต่งตั้งแต่กลับมีบทบาทอำนาจเยอะไปหมด 250 คน จำแนกเป็น 200 คน 194 คนมาจากการที่คณะกรรมการสรรหาเสนอไปให้ คสช.เป็นคนเลือกขึ้นมาว่าจะเอาใคร 194 คน ส่วนอีก 6 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผบ. 3 เหล่าทัพ บวกกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วน 50 ที่เหลือคือให้ กกต.ไปจัดการเลือกตั้งมาเอา 200 รายชื่อมาให้ คสช.เลือกอีกที

Advertisement

เหตุผลที่ผมเรียกวุฒิสภาว่าเป็น สิ่งแปลกปลอม เพราะว่ามันไม่ได้ยึดโยงประชาชน แต่กลับมีอำนาจมากมาย” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

จากนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวย้อนถึงวุฒิสภา ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2489 ว่า ขณะนั้นมีบทเฉพาะกาลให้แต่งตั้งก่อนค่อยเลือกตั้ง ตอนนั้นเกิดรัฐประหาร 2490 ก่อน จึงไม่ได้เลือกตั้ง หลังจากนั้นก็มี ส.ว.เรื่อยมา โดยวุฒิสภามีหน้าที่คอยกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาการแต่งตั้งต่างๆ ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2540 มีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญ 2489 ในการกำหนดให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็ต้องการหน่วยงานในการตรวจสอบ ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ 2560

“ความเปลี่ยนแปลงมาในตอน 2560 กลายเป็นสภาสืบทอดอำนาจทันที 250 ส.ว.ที่ถูกแต่งตั้งมา คือ ต้องการให้เป็นกลไกสืบทอดอำนาจต่อไป ย้อนในปี 2562 ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกเสนอชื่อในการเป็นนายกรัฐมนตรี จนได้ฉายา ส.ว.ฝักถั่ว

Advertisement

ส.ว.จะหมดวาระใน 5 ปี ที่มีกฎเฉพาะกาลอยู่ และไม่มี ส.ว.ในประเทศไหนมาจากการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้ง สรรหา ที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image