ย้อนตำนาน แต่งชุดขาวรอเก้อ ‘สมบุญ ระหงษ์’ ไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะประธานสภา

พลิกปวศ. ‘ชุดขาวรอเก้อ’ สมบุญ ระหงษ์ พลาดตำแหน่งนายกฯ เพราะ ประธานสภาไม่เสนอชื่อ

ยังคงเป็นที่จับตาถึงกระแสการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม และพรรคใหม่ รวม 8 พรรค ที่เซ็น MOU เตรียมผลักดันนโยบาย 23 ข้อ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน

ท่ามกลางการจับตา ถึงโควต้ารัฐมนตรีของแต่ละพรรค และเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังเป็นที่ถกเถียงว่า จำเป็นหรือไม่ที่พรรคอันดับ 1 ควรได้นั่งตำแหน่งประธาน อีกทั้งความสำคัญที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ

ขณะที่ พรรคก้าวไกล ก็ได้วัดตัว ตัดชุดกับร้านดังรอแล้วเรียบร้อย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งเคยมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ผู้ถูกขนานนามว่า “มือประสานสิบทิศ” ที่เคยแต่งตัวรอแล้ว แต่ว่าไม่ได้เป็น นายกรัฐมนตรี เพราะประธานรัฐสภาไม่เสนอชื่อ

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาล และพรรคร่วม หมายให้ พล.อ.สมบุญ หัวหน้าพรรคชาติไทย นั่งนายกฯคนใหม่ แทน เนื่องด้วยเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภาเป็นลำดับที่ 2

แม้ว่าตัวของ พล.อ.อ.สมบุญ มีท่าทีแตกต่าง กระทั่งได้เดินทางไปพบกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่บ้านพักซอยราชครู ยืนยันไม่รับตําแหน่ง

Advertisement

“ใจหนึ่งก็คิดว่า พล.อ.ชาติชายจะทำสำเร็จ เพราะตอนนั้นทุกคนยังสงสัยจากข่าวที่ออกมา 2 กระแสว่า ได้เป็นกับไม่ได้เป็น…”

“ผมรู้ว่านายกฯคนใหม่ไม่ใช่ผม แต่ชื่อคนที่จะมาเป็นก็ไม่รู้ เพียงเดาได้จากที่ พล.อ.ชาติชายเชิญมากินข้าวว่ามีใคร 4-5 คน เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในนั้น” พล.อ.อ.สมบุญระบุ

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจเสนอชื่อนายกฯ คือประธานรัฐสภา หรือ อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในขณะนั้น ไม่ยอมเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ โดยให้เหตุผลว่า “ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ได้ ประชาชนไม่ยอมรับแน่ ถ้าเสนอไปมันก็เป็นการสืบทอด เหมือนสมยอมให้กับพวกนี้ได้ทำอะไรต่อไป แล้วเราก็รู้มาด้วยว่าเบื้องหลังหลายคนหวังเรื่องของโปรเจ็กต์ หวังจะเป็นรัฐมนตรีกัน ยังไงก็เสนอ พล.อ.อ.สมบุญไม่ได้”

เมื่อถึงวันกำหนดทูลเกล้าฯ ถวายชื่อนายกฯ หลายฝ่ายเชื่อว่า พล.อ.อ.สมบุญ ซึ่งเป็นตัวเต็ง จะต้องมีชื่อเป็นนายกฯ ซึ่ง พล.อ.อ.สมบุญเองก็เตรียมตัวพร้อมรอรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ที่บ้านอย่างพร้อมสรรพ

“ตอนนั้นผมรอว่าจะเปลี่ยน (ชื่อนายกฯ) สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ เพราะขั้นตอนจากสภาไปเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ระหว่างทางจะเปลี่ยนได้หรือไม่ แต่ผมมาแต่งชุดขาวก็เกือบทุ่มหนึ่ง (วันที่ 10 มิถุนายน 2535) เพราะอาจารย์ธรรมนูญ (ศ.ธรรมนูญ ลัดพลี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) โทรมาบอกให้แต่งตัวเตรียมรับพระบรมราชโองการ เพราะคำสั่งมาแล้ว”

“ตอนจะขึ้นไปแต่งตัว ภรรยายังถามว่าจะแต่งตัวทำไม ผมบอกผมเห็นอาจารย์ธรรมนูญเขาว่าคำสั่งมาแล้ว ภรรยาก็ยังถามว่าไหนบอกไม่เป็น ผมก็บอกไม่เป็น แต่เกิดเขาบังคับล่ะ ภรรยาก็ถามอีกว่าพี่เชื่อได้อย่างไร ผมก็บอกว่าก็ไม่รู้ ก็เลยต้องแต่งตัวชุดขาวลงมา”

กระทั่งประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งฯ ออกมาแล้ว กลับกลายเป็นว่า นายกฯคนใหม่มีชื่อว่า อานันท์ ปันยารชุน

ดร.อาทิตย์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ผมบอก ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ซึ่งเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นว่า ผมไม่สามารถเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้หรอก เพราะบ้านเมืองพังแน่ นองเลือดกันแน่นอน…”

“ก่อนที่ผมจะทูลเกล้าฯ เสนอชื่อคุณอานันท์เป็นนายกฯ ก็มีการคาดการณ์กันว่า พล.อ.อ.สมบุญจะขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งตัวท่านเองก็แต่งชุดขาวตั้งโต๊ะหมู่ มีพานพุ่มดอกไม้ พระบรมฉายาลักษณ์ นักข่าวก็ไปรอกันที่บ้านท่านสมบุญ แต่พอปรากฏว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งคุณอานันท์ ท่านสมบุญท่านก็เดินกลับขึ้นบันไดไปเปลี่ยนเสื้อ ผมเห็นท่านยิ้มนะ ผมว่าท่านคงจะรู้สึกโล่งอกในวินาทีนั้นเหมือนกัน…”

จากเหตุการณ์นี้ ดร.อาทิตย์ ถูกขนานนามว่าเป็น “วีรบุรุษประชาธิปไตย”

ขณะที่ พล.อ.อ.สมบุญ กลายเป็นตำนาน ‘ชุดขาวรอเก้อ’

ที่มาส่วนหนึ่ง ศิลปวัฒนธรรม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image