ประธานสภา สำคัญไฉน กับตำนาน ‘ชุดขาวรอเก้อ’ ของ ‘สมบุญ ระหงษ์’

ปธ.สภาสำคัญไฉน กับตำนาน ‘ชุดขาวรอเก้อ’ ของ ‘สมบุญ ระหงษ์’

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวหน้า 8 พรรคการเมืองเซ็นเอ็มโอยู 23 ข้อในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยจะสนับสนุนให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ ในฐานะพรรคที่ได้เสียงว่าที่ ส.ส.มากที่สุด 151 เสียง บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

แต่หวานชื่นไปไม่ได้นาน ก็เกิดการต่อรองแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร (เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย) ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย

เพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล โพสต์ว่า 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

Advertisement

วาระแรก : เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

วาระที่สอง : เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

วาระที่สาม : ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

Advertisement

ขณะที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่มีบทบาทไม่น้อยในพรรคก้าวไกล โพสต์ว่า มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆ ไม่ได้

“ปิยบุตร” ระบุว่าจะมีการต่อรองกระทรวงเกรด A ที่พรรคก้าวไกลอาจต้องยอมเฉือนให้พรรคร่วมไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น พรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรค พูดถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ดังกล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่เรียกได้ว่าเป็นคนทั่วไป เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันถึงตำแหน่งประธานสภา อยู่ที่การตกลงและพูดคุยกันด้วยความเหมาะสม โดยในแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน

ด้าน “อดิศร เพียงเกษ” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บอกว่า พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ เมื่อฝ่ายบริหารเราได้คนหนุ่มแล้ว แต่ประธานสภา พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรกินรวบ ต้องดูความเหมาะสม เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ตำแหน่งประธานสภาควรไปโหวตกันในสภา

เก้าอี้ประธานสภาสำคัญไฉน

ตำแหน่งประธานสภาถือเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีความสำคัญไม่น้อยในการผลักดันวาระทางการเมือง ไม่เพียงแต่เรื่องการคุมเกมในสภา การบรรจุญัตติต่างๆ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม อีกทั้งยังเป็นผู้นำชื่อนายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

ดังนั้น พรรคแกนนำอันดับ 1 ที่เสนอคนของพรรคเป็นนายกฯ จึงต้องการันตีด้วยการมีประธานสภาเป็นของพรรคด้วย ไม่อย่างนั้นอาจเกิดซ้ำรอยตำนาน “ชุดขาวรอเก้อ” ได้

ย้อนไปเมื่อปี 2534 ที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย “บิ๊กจ๊อด-พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์” ผบ.ส.ส.ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ต่อมาปี 2535 มีการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรมได้ ส.ส.มากสุด 79 ที่นั่ง ตามด้วยพรรคชาติไทย 74 ที่นั่ง พรรคความหวังใหม่ 72 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 44 ที่นั่ง และพรรคอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 360 ที่นั่ง

พรรคสามัคคีธรรม ที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเสนอ “บิ๊กสุ-พล.อ.สุจินดา คราประยูร” เป็นนายกฯ แต่ถูกต่อต้านหนัก มีการชุมนุมใหญ่จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ต่อมา “บิ๊กสุ” ลาออก พรรคสามัคคีธรรมจะเสนอชื่อ นายณรงค์ วงษ์วรรณ หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯแทน แต่เจอปัญหาติดแบล๊กลิสต์ของสหรัฐ จึงมองกันว่า พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 จะเป็นนายกฯแทน

เมื่อ 10 มิถุนายน 2535 พล.อ.อ.สมบุญ แต่งชุดขาวเต็มยศรอรับพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่บ้านพัก แต่ปรากฏว่า นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นประธานสภา กลับนำชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน รักษาการนายกฯในขณะนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง เนื่องจากเกรงว่าหากเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ เป็นนายกฯจะมีการชุมนุมประท้วงอีก เพราะพรรคชาติไทยสนับสนุน พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯ จึงเป็นที่มาของตำนาน “ชุดขาวรอเก้อ”

เก้าอี้ประธานสภาจึงสำคัญฉะนี้แล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image