ปริญญา เลคเชอร์ปวศ. ปี 35 ปธ.สภา ‘อาทิตย์ อุไรรัตน์’ ทำ สมบุญ ระหงษ์ ชวดนายกฯ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษร์ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล หลังจบเสวนางานวิชาการ “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายทรมาน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลอย่างไร และใครบ้างที่ต้องรับผิดชอบ” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้องศาลจำลอง

ผศ.ดร.ปริญญาตอบคำถามประเด็นอดีตประธานสภาเคยเสนอชื่อนายกฯ ต่างจากที่มีการโหวตในสภาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 เมื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 พรรคที่เคยสนับสนุนพลเอกสุจินดาอยากเป็นรัฐบาลต่อ จึงให้ประธานสภาผู้แทนฯ คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ทูลเกล้าชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์

“ท่าน ดร.อาทิตย์ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ ท่านเห็นว่าถ้าหากข้างเดิมเป็นรัฐบาลต่อ การประท้วงจากฝั่งประชาชนก็จะเกิดต่อ ท่านเลยเสนอคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นนายกฯมาแล้วกลับมาเป็นใหม่ คุณอานันท์มีภารกิจชัดเจน มาเคลียร์ปัญหาสั้นๆ แล้วยุบสภา

ตอนนั้นที่ ดร.อาทิตย์ทำอย่างนั้นได้ เพราะบทบัญญัติที่ว่า ผู้ซึ่งสมควรเป็นนายกฯต้องมีการโหวตในสภาผู้แทน ยังไม่มี และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงใส่เข้าไป ว่าประธานสภาผู้แทนฯ จะไปทูลเกล้าชื่อใครตามประสงค์ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ซึ่งผ่านการโหวตในสภาผู้แทน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ส.ว.ก็ต้องโหวตได้บ้าง” ผศ.ดร.ปริญญาอธิบาย

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวต่อไปว่า การที่ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนหน้านี้ ส.ว.ไม่เคยโหวตเลือกนายกฯ แต่ผู้ทูลเกล้าชื่อนายกฯคือประธานรัฐสภาซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาก็เป็นคนของคนที่ยึดอำนาจมาหลังเลือกตั้งเสร็จ ถ้าหากพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาลต้องลงเสียงเกินครึ่ง แล้วมาขอผู้ยึดอำนาจ หรือขอนายกฯในขณะนั้น แล้วก็เชิญให้เป็นนายกฯ พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็เป็นนายกฯด้วยกระบวนการเช่นนี้

“ตอนนั้นซับซ้อนกว่านิดหน่อย เขาให้ประธานสภา รสช. เป็นคนทูลเกล้าชื่อนายกฯ ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งเสร็จ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นจึงต้องมาสนับสนุนพลเอกสุจินดาถึงจะได้ ครม. ได้เก้าอี้ไป แต่ก่อนไม่ได้มีบทบัญญัติว่าผู้สมควรเป็นนายกฯที่จะได้รับการทูลเกล้าเป็นประธานสภาต้องมาจากการโหวตในสภา แต่พอเกิดเหตุดังที่ว่าไป รัฐธรรมนูญ 40 จึงวางหลักเอาไว้ว่าการโหวตเลือกนายกฯต้องทำในที่ประชุมสภาผู้แทน นี่เป็นเหตุว่าทำไมในคำถามพ่วงถึงให้ ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย เพื่อจะได้มีอำนาจในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีต่อไป ฉะนั้นสิ่งนี้มันจะไม่เกิดในข้อนั้น

แต่เนื่องจากประธานรัฐสภาเป็นผู้คุมการประชุม การเลือกนายกฯ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ต้องประชุม 2 สภา เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ ก็เป็นธรรมดาที่พรรคที่ได้อันดับ 1 เขาก็อาจจะอยากได้เป็นประธานรัฐสภาตรงนี้ แต่สองพรรคควรจะคุยกัน ไม่ควรจะมาแตกกันด้วยเหตุผลข้อนี้” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว (อ่านข่าว ปริญญา ขอ ‘อย่าแตกกัน’ หวั่นประชาชนผิดหวัง แนะ 3 ทางออกปม ‘ปธ.สภา’ ชี้เป้า ‘วันนอร์’)

Advertisement

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า พรรคที่แพ้มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ว่าจะยอมให้ฝ่ายชนะเป็นนายกฯหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องหยุดอ้างว่าคำถามเพิ่มเติมตรงนี้ได้รับประชามติเห็นชอบจากประชาชน ดังนั้น ส.ว.ก็มีความชอบธรรม ไปดูคำถามเพิ่มเติม ถามว่าอะไร ท่านเห็นด้วยหรือไม่เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า โดยในช่วงแรก 5 ปีแรก ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำในที่ประชุมรัฐสภา ข้อคำถามคือแบบนี้

“ถ้าข้อคำถามคือเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้วุฒิสภาเลือกนายกฯกับ ส.ส. ก็ยังพอจะอ้างได้ มันเป็นคำถามเพิ่มเติมที่ประชาชนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ ประเทศไทยเราก็ฟังมาว่าเป็นระบบรัฐสภา รัฐสภาเลือกนายกฯก็ฟังดูปลอดภัย คือคำถามมันไม่แฟร์อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ให้เราเข้าใจว่าเป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ที่ยึดอำนาจเป็นนายกฯต่อได้ และบัดนี้ผู้ยึดอำนาจก็แพ้เลือกตั้งไปแล้ว

ความจริงจะดีมาก ถ้าหากท่านจะประกาศออกมาว่า ผมขอให้ ส.ว.ฟรีโหวต ผมไม่ควบคุม แล้วแต่ว่า ส.ว.จะฟังประชาชนหรือไม่แล้วแต่ ส.ว.พูดออกมาก็จบ แต่การที่ไม่พูดออกมามันแปลว่ายังไม่จบ” ผศ.ดร.ปริญญาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image