ลลิตา เผย พม่าจับตาการเมืองไทย ฝั่งต้านรัฐประหารคาดหวัง ‘รัฐบาลใหม่’ พรึบฟังบรรยายนับร้อย

ลลิตา เผย พม่าจับตาการเมืองไทย ฝั่งต้านรัฐประหารคาดหวัง ‘รัฐบาลใหม่’ พรึบฟังบรรยายนับร้อย

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ประเด็นรัฐบาลใหม่ของไทยกับการเมืองในพม่า ในบทความ ‘รัฐบาลใหม่กับการร่วมแก้ปัญหาในพม่า’ คอลัมน์ ไทยพบพม่า นสพ.มติชนรายวัน ตอนหนึ่งว่า

ตนค่อนข้างจะมั่นใจว่าในบรรดาประเทศทั้งหมดในอาเซียน พม่ามีท่าทีที่เป็นบวกกับไทยมากที่สุด และไทยภายใต้ระบบราชการแบบเดิมก็มองว่าไทยจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติของพม่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศหมายถึงความมั่นคงทางพลังงานของไทย ความมั่งคั่งของการค้าชายแดน และความสงบตามแนวชายแดนไทย-พม่ายังเป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่สำคัญของไทย การคบหากับเพื่อนบ้านอย่างพม่าจึงไปในแนว “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” ไม่ว่าประชาคมโลกหรืออาเซียนจะพยายามขับเคลื่อนนโยบายที่จะนำพม่ากลับสู่การเจรจาสันติภาพและเส้นทางประชาธิปไตยเพียงใด ไทยจะสงวนท่าทีไว้เสมอ

ผศ.ดร.ลลิตา ระบุด้วยว่า ครั้งหนึ่งเคยพบผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ใหญ่คนนั้นพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงกับตนว่า “อาจารย์ไม่มีวันรู้อะไรทั้งหมดหรอก เพราะฉะนั้นก็อย่าวิเคราะห์อะไรมากนักเลย” เพียงเพื่อจะแสดงออกว่าไม่มีใครรู้เรื่องพม่าดีไปกว่าข้าราชการในกระทรวง

Advertisement

“เมื่อไทยไม่ได้มีนโยบายต่อพม่าที่จะทำให้ทั่วโลกเขาสรรเสริญ หรือทำตัวให้เป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียนอย่างสมน้ำสมเนื้อ คำถามคือแล้วจะทำอย่างไรเล่า ไทยถึงจะกู้ศักดิ์ศรีในเวทีการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาได้ ในฐานะที่คลุกคลีกับประเด็นเรื่องพม่า ก็ต้องบอกว่าพม่านี่ล่ะค่ะจะเป็นกุญแจสำคัญที่กู้ความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีโลกขึ้นมาได้จริงๆ” ผศ.ดร.ลลิตาระบุ

ผศ.ดร.ลลิตา เผยต่อไปว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ ตนได้รับเชิญจากเพื่อนให้ไปบรรยายสรุปเรื่องผลการเลือกตั้งของไทยกับผลที่จะมีต่อพม่า มีผู้เข้าร่วมเป็นภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพม่ามากถึง 250 คน ก่อนการจะเริ่มขึ้น ผู้จัดงานบรีฟให้ฟังว่าจะมีคำถามเยอะ เพราะภาคประชาชนรวมทั้งฝ่ายต่อต้านคณะรัฐประหารให้ความสนใจและคอยจับตามองการเลือกตั้งในไทยอย่างใกล้ชิดจริงๆ

คำถามที่สะท้อนจากผู้เข้าร่วมการบรรยายชี้ว่าชาวพม่ามอบความหวังให้รัฐบาลไทยชุดใหม่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหลายระดับ ทั้งปัญหาด้านผู้ลี้ภัย หรือการกระตุ้นให้ไทยเป็นฟันเฟืองหลักของอาเซียนเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสันติภาพในพม่าให้ได้

Advertisement

“ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ผู้ที่ออกแอ๊กชั่นเรื่องการเจรจาเพื่อนำพม่ากลับไปสู่ครรลองประชาธิปไตยแบบเดิมคืออาเซียน และเกิดโรดแมปที่เรียกว่า ฉันทามติ 5 ข้อ อย่างไรก็ดี เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่คณะรัฐประหารเมินโรดแมปนี้โดยสิ้นเชิง และทำให้การเจรจาใดก็ตามไม่เกิดมรรคผล หากไทยมีนโยบายที่เกี่ยวกับพม่าโดยตรง ที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป้าหมายด่านแรกคือการบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในฝั่งพม่าก่อน และด่านที่สองคือเป็นผู้นำการเจรจากับพม่าในเวทีอาเซียน เพียงแค่นี้ก็จะดึงภาพลักษณ์ด้านการต่างประเทศของไทยขึ้นมาได้ หากรัฐบาลใหม่มีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแกนนำ เชื่อว่าอย่างไรเสีย นโยบายที่เกี่ยวกับพม่าที่อธิบายมาก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

กลับมาดูภายในประเทศ ประเทศไทยมีแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายหลายล้านคน ในสถานการณ์ที่ไทยขาดแคลนแรงงาน เด็กเกิดน้อยลง และเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศในภายภาคหน้า แต่ที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้กลับถูกขูดรีด ไม่ได้รับค่าจ้างเท่ากับแรงงานไทย และเป็นเป้าหมายของขบวนการค้ามนุษย์

เมื่อรัฐบาลใหม่มีเป้าหมายเพื่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน สิทธิทั้งหมดนี้ย่อมครอบคลุมพี่น้องแรงงานต่างชาติทั้งหมดที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยมาตลอด ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในฝั่งพม่า คาดเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตจะมีแรงงานผิดกฎหมายหลั่งไหลเข้ามาในไทย รัฐบาลใหม่ควรทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติง่ายขึ้น เพื่อนำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ

ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าความมั่นคงภายในของพม่าหมายถึงความมั่นคงในไทย ทั้งความมั่นคงในความหมายเดิมคือด้านดินแดนและการทหาร การอยู่รอดของไทยในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งการเติบโตของภาคธุรกิจของไทยอีกด้วย” ผศ.ดร.ลลิตาระบุ

อ่านฉบับเต็ม : รัฐบาลใหม่กับการร่วมแก้ปัญหาในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image