พรรคร่วมตั้งเพิ่ม 5 คณะ ‘พิธา’ ย้ำโอนหุ้นให้ทายาทปลาย พ.ค. รับปากเช็กบิลประยุทธ์ตามระบบ

พรรคร่วมตั้งเพิ่มอีก 5 คณะทำงาน ขณะที่ ‘เพื่อไทย’ ชง 5 แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ‘พิธา’ ยอมรับโอนหุ้นให้ทายาท เพื่อให้การตั้งรัฐบาลดำเนินการได้สำเร็จ หวั่นถูกปลุกชีพไอทีวี

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย​ (พท.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วยตัวแทนทั้ง 7 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านนัดแรก

นายพิธากล่าวว่า วันนี้เป็นวาระการประชุมตามงานทั้ง 7 คณะทำงาน ซึ่งมีวาระเกี่ยวกับพลังงานและน้ำมันดีเซลมาอธิบายให้ฟังถึงข้อดีข้อเสีย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลกระทบกับประชาชน เมื่อรัฐบาลปัจจุบันไม่ต่อสัญญาในการลดภาษีสรรพสามิต วาระที่ 2 คือการกำหนดบทบาท และผลที่ต้องการเห็นจากคณะทำงานทั้ง 7 คณะให้สามารถทำงานต่อเนื่อง มีเอกภาพ และเกิดผลลัพธ์ต่อประชาชนได้จริง

นายพิธากล่าวต่อว่า วาระที่ 3 คือ การกำหนดคณะทำงานเพิ่ม 5 คณะ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจ คือ 1.คณะทำงานเศรษฐกิจและคณะทำงานดิจิทัล 2.คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชั่น ต่อต้านส่วย 3.คณะทำงานสาธารณสุข เน้นเรื่องการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่เกิดประเด็นในสังคมขณะนี้ 4.คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติของสังคมไทย และ 5.คณะทำงานปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ

ADVERTISMENT

นายพิธาระบุว่า วันที่ 7 มิถุนายน พรรคร่วมทั้ง 8 พรรคจะประชุมหัวหน้าพรรค และเอาข้อสรุปวันนี้ไปประชุม และคณะทำงานนี้ประชุมอีกครั้ง 20 มิถุนายน ที่พรรค ก.ก. และจะมีคณะทำงานสัญจรลงพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้นในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่จะถึงนี้ เช่น สุราก้าวหน้า จ.อุบลราชธานี และฝุ่น PM2.5 ที่ จ.เชียงใหม่

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท. ในฐานะคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน 5 ข้อ เพื่อเป็นกรอบการทำงานของแต่ละคณะเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ข้อแรกเราเสนอเรื่องความมั่นคงทางการคลัง ทุกนโยบายต้องคิดคำนวณความคุ้มค่าที่ลงทุนไป ต้องมีระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น ให้รัฐบาลมีรายได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่การเก็บภาษีเพิ่ม

ADVERTISMENT

นายเผ่าภูมิระบุว่า การออกแบบนโยบายต้องคิดคำนวณการเจริญทางเศรษฐกิจควบคู่ความเท่าเทียมการกระจายรายได้ แต่ละคณะต้องวางแผนทำงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวในด้านต่างๆ และการเปิดให้ประเทศมีการหารายได้เข้ามาจากการต่างประเทศที่สร้างรายได้ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า เราต้องวางโรดแมปในการสร้างสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน และปัญหาที่เป็นรากเหง้าคือที่ดินทำกิน เราต้องกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม เราจะไม่แก้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น การทวงคืนผืนป่า คณะทำงานเราจึงเสนอทั้งคนของพรรคและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดำเนินการ

ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 8 พรรคเห็นตรงกันว่าเป็นวาระเร่งด่วนที่ควรทำให้เร็วที่สุดหลังการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงค่าพลังงาน ทั้งน้ำมันและค่าไฟฟ้า ทั้ง 8 พรรคจะพิจารณาอย่างรอบคอบและให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับราคาที่เป็นธรรม รวมถึงคณะความเท่าเทียมด้านเศรษฐกิจและสังคมเราเห็นตรงกันว่าจะไม่ให้ความสำคัญแค่รัฐสวัสดิการเท่านั้น แต่ให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างเท่าเทียม

เมื่อถามถึงกรณีที่นายพิธาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการโอนหุ้นไอทีวี นายพิธากล่าวว่า ไม่ใช่การขาย แต่โอนให้ทายาทไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ในอดีตตนมั่นใจในข้อกฎหมายและหลักฐาน แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะมีความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจ หรือการเมือง จึงตัดสินใจโอนหุ้นให้ทายาท รวมถึงการโอนหุ้นดังกล่าวเพื่อให้การตั้งรัฐบาลดำเนินการได้สำเร็จ

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมาให้ข้อมูลว่าเป็นการขายหุ้น ตอนเห็นข่าวแล้วอยากจะชี้แจงหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นอะไร เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาเรื่องที่ต้องชี้แจง ทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องหุ้นไอทีวีก็เป็นไปตามที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก แต่จุดตัดอยู่ที่อนาคตมีโอกาสที่ไอทีวีจะฟื้นฟูกลับมาทำธุรกิจต่อ

“หลายคนก็ออกมาบอกว่ามีความพยายามสกัดกั้นผมออกจากการเมือง ผมได้ยินอย่างนี้ แน่นอนว่าต้องกังวล เพราะอดีตกับอนาคตไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกว่าอดีตก็คืออดีต แต่ในอนาคตมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้น ต้องมีความแน่นอนเพื่อให้ตั้งรัฐบาลให้ได้” นายพิธากล่าว

เมื่อถามว่าจะกระทบคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ต้องดูในรายละเอียด แต่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประสานมาจะได้ชี้แจง เพราะไม่แน่ใจว่าสงสัยในประเด็นใด หาก กกต.ส่งหนังสือมาให้ชี้แจงภายในสัปดาห์นี้ก็พร้อมชี้แจง

ถามต่อว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าการโอนหุ้นเป็นการปัดเรื่องให้พ้นตัวหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เป็นการโอนเพื่อป้องกันอนาคตในการฟื้นคืนชีพไอทีวี

“โอนเพื่อป้องกันว่าในอนาคตจะมีการฟื้นคืนชีพไอทีวี ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจของเขา หรือเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองในการสกัดกั้นผม ฉะนั้น เราต้องป้องกันความเสี่ยงตรงนี้เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้” นายพิธากล่าวย้ำ

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุไม่ว่าห่วงเรื่องการเช็กบิลหลังออกจากอำนาจ ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการอะไรหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เราสามารถอนุมานได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์คงยินดีเข้าสู่การตรวจสอบการดำเนินการตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องการเช็กบิล แต่ต้องการให้เกิดวัฒนธรรมรับผิดรับชอบในเรื่องต่างๆ ทั้งการรัฐประหาร การใช้อำนาจตามมาตรา 44 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เหมือง เรื่องการทวงคืนผืนป่า การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลจะดำเนินการตามระบบ ไม่ใช่การแก้แค้นแต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image