‘เพื่อไทย’ เปิดบ้านประชุม 8 พรรคร่วม ตั้งเพิ่มคณะทำงานอีก 2 ชุด ‘พิธา’ แย้มไทม์ไลน์ตั้ง รบ.ขยับเร็วขึ้น

‘เพื่อไทย’ เปิดบ้านประชุม 8 พรรคร่วม ตั้งเพิ่มคณะทำงานอีก 2 ชุด ‘พิธา’ คาดไทม์ไลน์ตั้ง รบ.ขยับเร็วขึ้น ย้ำรอความชัดเจนจาก กกต.เรื่องหุ้น ขณะที่ ‘ชลน่าน’ ย้ำชัดตั้ง รบ.ได้แน่ ‘วันนอร์’ ชี้เป็นเวลา ปชช. เลิกกลัวเผด็จการ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 มิถุนายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ร่วมประชุมความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งที่ 3 นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท., นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท., นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล (ก.ก.), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.), นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.), นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (ปธ.) และตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

จากนั้นเวลา 12.20 น. นายพิธา แถลงข่าวความคืบหน้าการประชุมหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคว่า มีวาระสำคัญ 2 เรื่อง 1.ประเมินสถานการณ์การเมือง ไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาล 2.อัพเดตความคืบหน้าคณะทำงาน และคณะกรรมการประสานงาน ผลการประชุมหัวหน้าพรรค 8 พรรค เห็นตรงกันว่าน่ายินดีที่ กกต.จะรีบทำงาน รับรอง ส.ส.ให้ได้เร็วที่สุด 95 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นไปอย่างประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ไว้ หรือแม้แต่สื่อเคยทำไทม์ไลน์ขึ้นมาว่า 13 กรกฎาคมเป็นวันสุดท้าย ซึ่งหากมีกระบวนการรับรอง ส.ส.รายงานตัว เปิดประชุมสภา เลือกประธานสภา เลือกนายกรัฐมนตรีและมีการถวายสัตย์ฯ

Advertisement

นายพิธากล่าวต่อว่า ต่อไปนี้ก็เห็นตรงกันว่าน่าจะเลื่อนขึ้นมาเร็วมากขึ้น 2-3 อาทิตย์ หัวหน้าพรรคทุกคนต้องเตรียมพร้อมจัดเตรียมนโยบายแถลงต่อรัฐสภา ดูการเปลี่ยนผ่านงบประมาณ ที่น่าจะเข้าสภาช่วงสิงหาคม-กันยายน ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็จะมีการบริหารจัดการงบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลประชาชนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะขยับไทม์ไลน์

นายพิธากล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องอัพเดตการทำงาน จะประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20 มิถุนายน ที่พรรค ทสท. นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังคณะกรรมการประสานงานฯ เพื่อตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 คณะ คือ 1.คณะทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปประมง 2.คณะทำงานเรื่องการดูแลการเปลี่ยนผ่านงบประมาณ

Advertisement

เมื่อถามว่า เมื่อที่ประชุมเห็นตรงเรื่องไทม์ไลน์จะขยับขึ้นมา ปัญหาเรื่องประธานสภา ระหว่าง ก.ก.และ พท. จะจบได้แล้วใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ก็ยังพูดคุยกันอยู่ แต่แน่นอนในเมื่อสิ่งที่สรุปได้กับหัวหน้าพรรคทั้งหมดว่าในเมื่อไม่ใช่วันที่ 13 กรกฎาคมแล้ว มันเลื่อนเข้ามา แน่นอนว่าทุกกระบวนการทำงาน ทั้งเรื่องบุคลากร นโยบาย งบประมาณ ก็สรุปได้ว่าต้องเร่งรัดการทำงานมากขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่อง กกต.สอบถาม ก.ก.เรื่องการใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียว อยากอธิบายเพิ่มเติมหรือไม่ว่า จุดยืนเรื่องการใช้สัญลักษณ์ ทั้งหาเสียงโดยตรงโดยอ้อมเป็นอย่างไร เพราะประเทศไทยจะตั้งชื่อพรรคว่าพรรคสังคมนิยมยังทำไม่ได้ นายพิธากล่าวว่า สำหรับพรรค ก.ก. คำชี้แจงก็ตามที่โพสต์ว่าเป็นการแสดงออกถึงเครื่องมือทำมาหากินของปาร์ตี้ลิสต์ที่อยู่ใน 100 คน ที่มีทั้งพี่น้องเกษตรกรและแรงงาน จุดประสงค์ที่มีอยู่ก็มีอยู่แค่นี้ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

เมื่อถามว่า มีนายทุนกลุ่มสหพัฒน์ออกมาแสดงความไม่มั่นใจ ว่าจะบริหารประเทศล้มเหลวทางเศรษฐกิจเหมือนยูเครน นายพิธากล่าวว่า ความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ มันยังต้องมีโอกาสพูดคุยกับทุนเก่า นักธุรกิจหลายๆ คน และต้องบอกว่าการอนุมานจากประเทศหนึ่งไปอยู่กับประเทศหนึ่งตามที่พูดมาคือยูเครน ตนคิดว่าผิดบริบทไปเยอะ ไม่จำเป็นที่จะต้องอนุมานที่เกินไป ขณะเดียวกันเรื่องความเชื่อมั่นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ พร้อมเดินหน้า สร้างความเชื่อมั่นไปเรื่อยๆ ในเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ทำงานเพื่อคนทุกคน

เมื่อถามว่า ผ่านไป 4 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่โทรมาเเสดงความยินดีที่ชนะเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ยังไม่มีการโทรมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจว่าธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของตนกับ พล.อ.ประยุทธ์คงต่างกัน ขณะเดียวกันวันหนึ่งถ้าตนเป็นนายกฯ แล้วมีการเลือกตั้ง แล้วถ้าเกิดตนแพ้การเลือกตั้ง ตนก็ต้องเป็นคนโทรหาผู้ชนะและก็ยอมแพ้ เพื่อที่จะให้การเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลมันไร้รอยต่อมากที่สุด ถ้าเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวี เริ่มเมื่อไหร่ จบเมื่อไหร่ และหุ้นดังกล่าวนั้นได้รับมาเมื่อไหร่ และการเป็น ส.ส.เมื่อปี 2562 ยังถือหุ้นดังกล่าวอยู่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เรื่องหุ้น ต้องรอฟังรายละเอียด กกต. การเป็นผู้จัดการมรดกของตนก็เริ่มตั้งแต่เมื่อศาลสั่งจนกระทั่งถึงตนโอนหุ้น เมื่อถามต่อว่า เป็นผู้จัดการอย่างเดียวหรือเป็นผู้รับโอนด้วย นายพิธากล่าวว่า เป็นผู้จัดการมรดกอย่างเดียว ไม่ได้รับโอน

ถามต่อว่า กกต.มีการตั้งประเด็นนี้ไว้แล้วและอาจจะเป็นการเข้าข่ายรู้อยู่แล้ว ยังมาลงสมัคร มีคำชี้แจงหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า เท่าที่เห็นเมื่อวานมีข่าวออกมา แต่พออ่านข่าวพารากราฟสุดท้ายก็บอกว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ และต้องมีการพิจารณากันอยู่ เนื้อหาที่ออกมาก็คือทาง กกต.ยังจัดการเรื่องการตั้งรูปคดีอยู่ ตรงนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบมากไปกว่านี้ รอความชัดเจนจาก กกต. เพราะได้อ่านจากในรายละเอียดข่าวแล้ว ไม่ได้อ่านเฉพาะพาดหัว

เมื่อถามว่า ที่บอกว่ามีกระบวนการฟื้นฟูไอทีวี อยากให้นายพิธาระบุว่าใครอยู่เบื้องหลังกระบวนการนี้ นายพิธากล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่อย่างที่บอกว่ามีหลายท่านส่งข่าวมาที่ตน ซึ่งต้องพูดกันให้ชัด ไม่ว่าพยายามจะฟื้นคืนชีพมาด้วยเหตุผลทางธุรกิจของผู้บริหารเอง หรือพยายามจะฟื้นคืนชีพมาเพื่อเหตุผลทางการเมืองเพื่อที่จะสกัดกั้นตน ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ความน่าจะเป็นมันมีอยู่ในอนาคต ตนต้องบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาทั้งเรื่องหลักฐานต่างๆ หรือหลักกฎหมายในการตัดสิน ถ้าบริสุทธ์ยุติธรรม มีมาตรฐานเดียวกันมา ตนคิดว่าในอดีตที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล ก็คงตอบได้เท่านี้

เมื่อถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ส่งผลให้นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรค พท.หรือไม่ และการตัดสินใจเลือกแคนดิเดตจะมาจากพรรค พท.หรือพรรค ก.ก. นายพิธากล่าวว่า อุบัติเหตุทางการเมือง เราก็อนุมานได้หลายรูปแบบ แต่เป็นสิ่งที่เราเตรียมตัวไว้หมดแล้วในทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อทำให้โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดได้น้อยที่สุด

เมื่อถามว่า กรณีหุ้นไอทีวีที่มีการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อปี 2562 เป็นการถือหุ้นหรือเป็นการจัดการมรดก และหากเป็นการจัดการมรดก เป็นไปตามพินัยกรรมหรือคำสั่งศาล นายพิธากล่าวว่า ขอรอดูรายละเอียดจากทาง กกต.ก่อน ส่วนที่มีคนตั้งขอสังเกตว่านายพิธาจะเจอ 3 ด่าน คือ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และสมาชิกวุฒิสภา กว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่คนเชียร์เยอะมาก แต่ข่าวที่ออกมามีแต่ประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวีนั้น ก็ไม่ได้รู้สึกกังวลแต่ไม่ประมาททั้ง 3 ด่าน ตนมีการวางแผนทำงานและมีคีย์แมนดูแลทั้ง 3 ด่าน และยังสามารถเดินหน้าทำงานต่อไป แต่ก็ไม่ประมาท และขอให้ประชาชนอย่ากังวลใจ จัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน

นายพิธากล่าวต่อว่า ส่วนที่มีรายงานข่าวว่าตนไปค้ำประกันหนี้สินจำนวนหนึ่ง แต่ไม่แจ้ง ป.ป.ช. จะมีผลต่อคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีการประสานงานกับ ป.ป.ช.โดยตลอด ซึ่งยังไม่เห็นข้อมูลทั้งหมด แต่หากมีคนร้องจริงหรือมีคำถามจาก ป.ป.ช. ยินดีที่จะชี้แจงเช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้น แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีเรื่องต่างๆ เพื่อมาสกัดกั้น และไม่ได้กังวลใจแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า หากพรรค ก.ก.ถูกใบแดง พรรค พท.กลับมามีจำนวน ส.ส.มากกว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะมีเปลี่ยนสมการหรือไม่ และนายพิธายังมีโอกาสเป็นนายกฯอยู่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า การประกาศรับรอง ส.ส.ต้อง 475 คน หรือ 95% แต่หากจะมีการแจกใบแดง 20 คนจริง ก็ไม่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือเปิดประชุมสภา ส่วนจะถึง 20 คนจริงหรือไม่ จากการสอบถามภายในไม่ได้มีการร้องมาทางฝั่งนี้ น่าจะเป็นฝั่งตรงกันข้าม แต่หากมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคก้าวไกลมีความพร้อมเลือกตั้ง และอาจทำให้พรรคได้ ส.ส.มากขึ้นด้วยซ้ำไป

เมื่อถามถึงกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยอมวางมือทางการเมือง ทำให้ ส.ส.พรรคอาจพิจารณามาอยู่พรรค พท. ซึ่งทางพรรค พท.จะอ้าแขนรับหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้พรรค พท.ยังไม่ได้มีการพูดคุย และไม่ได้มีการสมมุติว่าจะเกิดขึ้นด้วย พรรค พท.มุ่งมั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองให้มากที่สุด จากการพูดคุยขณะนี้ยังคงมั่นใจว่าจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นการสมมุติถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ขออนุญาตไม่สมมุติ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้น

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า มีความรู้สึกว่าสื่อมวลชนมักถามว่า กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจว่าอย่างไร โดยไม่ค่อยได้ยินคำถามว่าประชาชนทั่วไปว่าอย่างไร เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน อำนาจเป็นของประชาชนโดยแท้ กกต.เป็นแต่เพียงผู้จัดการให้มีการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่แก้ไขเมื่อมีปัญหา ขณะนี้เป็นเรื่องประชาธิปไตยของประชาชน จากการลงพื้นที่พบปะประชาชนตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนสอบถามว่าเมื่อไหร่จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ เขารอเพื่อจะเห็นรัฐบาลมาแก้ปัญหาของพวกเขา

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเลือกตั้งประชาชนสนับสนุนฝ่ายไหนมากที่สุด ฝ่ายนั้นควรจะตั้งรัฐบาล ควรจะให้โอกาสเสียงของประชาชน ตนอยากให้สื่อมวลชนได้สะท้อนความรู้สึก และความต้องการของประชาชนในวันนี้ไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้มีอำนาจ ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และเป็นของประชาชน เรากำลังรอ กกต.ว่าอย่างไร ขณะที่ต่างประเทศ กกต.เป็นเพียงผู้ช่วยให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

“ผมอยากให้สื่อมวลชนได้สะท้อนความรู้สึกของประชาชนมากกว่าเรื่อง กกต.ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน ประชาชนกว่า 70 ล้านคน เขาอยากสะท้อนอะไร ผมว่าอันนี้คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราในวันนี้ และปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตย เราเลิกกลัวเรื่องเผด็จการกันเสียที มันควรจะหมดยุคของการฟังเผด็จการ ผมอยากให้เป็นเวลาของประชาชน เขาอยากจะได้รัฐบาลของประชาชน” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image