‘ไอติม’ ย้ำ มีปัญหาต้องร่างใหม่! ‘รัฐธรรมนูญ60’ ไม่จริงใจ ประชามติชี้นำ ให้ ส.ว.โหวตนายก

‘ไอติม’ ย้ำ มีปัญหาต้องร่างใหม่ ‘รัฐธรรมนูญ60’ ประชามติชี้นำ ไม่เขียนตรงไปตรงมา ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ เทียบอีกซีกโลก ทำกันแบบไหน

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในเวทีอภิปรายสาธารณะ โดยหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 52 โดยในตอนหนึ่งได้เผยถึงความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคพร้อมจะผลักดันและรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

นายพริษฐ์กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น 1 ใน 23 วาระ ที่ถูกระบุใน MOU เป็น 1 ในนโยบายที่ 8 พรรคมีความประสงค์พร้อมจะผลักดันร่วมกันให้เกิดขึ้นจริงได้ ภายใต้สมัยรัฐบาลถัดไป เป้าหมายคือการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาความเป็นประชาธิปไตยถูกร่างโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

“ทางผมและพรรคก้าวไกลมองว่า รัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาทั้งในส่วนของที่มา กระบวนการและเนื้อหา กล่าวง่ายๆ คือมีที่มา กระบวนการ เนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีเจตนาในการพยายามจะสืบทอดอำนาจของฝ่ายหนึ่งทางการเมือง หรือว่าเปิดช่องให้สามารถมีกลไกที่จะมาขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชนได้” นายพริษฐ์กล่าว

Advertisement

นายพริษฐ์ให้เหตุผลว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากคนไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งโดยคนที่มาจากการทำรัฐประหาร หลังจากการยึดอำนาจปี 2557 แม้มีประชามติปี 2559 แต่หากเปรียบเทียบมาตรฐานสากลจะพบว่า เรามีประชามติที่ไม่ได้เสรีและเป็นธรรม ฝ่ายที่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กับฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้รับพื้นที่หรือโอกาสในการรณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน บรรยากาศและกติกาไม่ได้เปิดให้ทั้งสองฝ่ายรณรงค์ความคิดของตนเองได้อย่างเสรีและเป็นธรรม หากย้อนไปในปี 2559 คำถามที่ปรากฏในคูหามี 2 คำถาม คือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และมีคำถามพ่วงที่นำมาสู่ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ คือการมี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาร่วมเลือกนายกฯ คำถามนี้ไม่ได้ถูกเขียนในลักษณะที่ตรงไปตรงมา

“ถ้าเราย้อนไปดูจะเห็นว่า คำถามเขียนว่า ‘ท่านเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง สมควรให้มีการใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามาโหวตนายกรัฐมนตรี’ เป็นคำถามที่ไม่ได้เขียนอย่างตรงไปตรงมาว่ามันหมายถึงมี ส.ว.แต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกฯ ถ้าให้ผมวิเคราะห์ก็รู้สึกว่าเป็นคำถามที่มีความค่อนข้างชี้นำ เพราะเปิดมาเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่า เพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายพริษฐ์ชี้

Advertisement

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า หากจะเปรียบเทียบกับประชามติที่เกิดขึ้นกับอีกซีกหนึ่งของโลกในเวลาเดียวกัน ก็คือการเปรียบเทียบกับการที่สหราชอาณาจักรจะถูกถอดถอนออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ต้องใช้เวลาในการถกเถียงก่อนจึงจะได้คำตอบเป็นกลาง โดยมีคำถามว่า สหราชอาณาจักรควรจะออกจากสหภาพยุโรป หรือยังคงเป็นสมาชิกอยู่ สิ่งนี้คือความพิถีพิถันในการที่ทำให้คำถามมีความเป็นกลางและไม่ชี้นำ ซึ่งมีความแตกต่างจากประชามติปี 59 ณ เวลานั้น คนส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิ อาจจะเห็นด้วยกับคำถามพ่วง แต่ตนยืนยันว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นประชามติที่ถูกจัดภายใต้กติกาที่มีความเป็นประชาธิปไตยสากล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image