บทนำ : ยกเครื่องตลาดทุน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปัญหาบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่แสดงงบปี 2565 ขาดทุนกว่า 6.6 พันล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท พร้อมทั้งแก้งบปี 2564 เปลี่ยนเป็นขาดทุน 5,965 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท จากที่เคยแจ้งกำไร 2.8 พันล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4,403 ล้านบาท ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศเตือนนักลงทุนระมัดระวังหุ้น ทั้งยังประกาศให้เข้าข่ายถูกเพิกถอน เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า ได้กำชับไปยัง ก.ล.ต.ให้ออกมาตรการดูแลนักลงทุนอย่างเร่งด่วน เพื่อความเชื่อมั่นตลาดทุนและนักลงทุนด้วย ต้องไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นเดียวเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก และต้องดูแลและคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งทุกครั้งที่ไปร่วมประชุมในเวทีระดับโลกเกี่ยวกับตลาดทุน ที่ประชุมจะให้ความสำคัญมาตรการกำกับดูแลตลาดหุ้น โดยเน้นเรื่องการคุ้มครองนักลงทุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้เล่นในตลาดทุน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ด้วย
กรณีหุ้น STARK ส่งผลเสียหายวงกว้างต่อผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ และสถาบันการเงิน และยังบั่นทอนทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดทุนด้วย ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือกรณีที่เกิดขึ้นนี้ มิได้เพิ่งเกิดครั้งแรก หากแต่การดำเนินการโดยไม่ชอบมาพากล สร้างความเสียหายแก่นักลงทุน ตลาดหุ้น ฯลฯ ในลักษณะนี้เกิดขึ้น มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ต้องทบทวนข้อผิดพลาด ตั้งแต่การคัดกรองบริษัทเข้าตลาด วางระบบป้องกันการฉ้อโกงอย่างจริงจัง หรือไม่ก็หาเครื่องมือใหม่มาสกัดกั้น การใช้เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์มิชอบให้ทำได้ยากยิ่งขึ้น ยกระดับตลาดหุ้นให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน
ก.ล.ต.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนฯ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีเครื่องมือสำคัญ ที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเพียงพอต่อการแก้ปัญหาระดับหนึ่ง แต่ที่ผ่านมา การแจ้งเตือน แก้ไขเมื่อพบความผิดปกติรวมถึง การดำเนินการทางกฎหมายมีความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้เกิดความเสียหายวงกว้าง และการเอาผิดมักไม่สามารถสาวถึงระดับผู้บริหารได้ ทำให้ไม่มีใครเกรงกลัว การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพจึงเป็นอีกข้อ ที่ต้องทบทวน แก้ไข คู่ขนานกันไปกับการคิดหาเครื่องมือใหม่ มาป้องกันการกระทำที่ไม่เป็นธรรม หรือสร้างระบบสกัดกั้นให้ทำได้ยากยิ่งขึ้น เพื่อมิให้เกิดเรื่องซ้ำรอย เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย