ประจักษ์ อ่านผลเลือกตั้ง 66 ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ กับการช่วงชิงการเป็นผู้มีอำนาจนำ

ประจักษ์ อ่านผลเลือกตั้ง 66 ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ กับการช่วงชิงการเป็นผู้มีอำนาจนำ

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้สร้างปรากฏการณ์หลายอย่าง ที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทั้งด้วยผลการเลือกตั้ง ที่พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งชนิดหักปากกานักวิเคราะห์ ที่ต่างคาดว่าพรรคเพื่อไทยจะคว้าชัยเป็นอันดับ 1 ของการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนเช่นที่ผ่านมาทุกครั้ง ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ ที่ยิ่งเอื้อให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ แต่กลับกลายเป็นว่าพรรคใหญ่หลายพรรค กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้

น่าสนใจไม่ใช่แก่กับผู้มองการเมือง แต่ยังน่าสนใจ และเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับพรรคการเมืองเองด้วย
เพื่อจะให้เข้าใจการเลือกตั้งครั้งนี้มากขึ้น รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จึงชวนอ่านการเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ผ่านมา ถอดภาพอันสะท้อนผ่านเสียงของผู้เลือกตั้ง และพาไปมองอนาคตการเมืองบทต่อไป ใน “อ่านการเลือกตั้ง 2566 : การเมืองและผลกระทบของระบบเลือกตั้ง” ส่วนหนึ่งของงาน Direk Talk ของศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “บนทางแพร่งของกาลเปลี่ยนผ่าน” ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

Advertisement

ประจักษ์ ได้เริ่มนำเสนอผลงานวิจัยว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือเราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งทุกครั้ง เมื่อจะมีการเลือกตั้งใหม่ ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะประเทศอื่นๆ ไม่เปลี่ยนบ่อย เปลี่ยนครั้งหนึ่งใช้เป็นทศวรรษ ขณะที่กระบวนการเปลี่ยน ก็มาจากการถามความคิดเห็นเป็นวงกว้าง หาฉันทามติแล้วค่อยเปลี่ยน แต่ไทยปลี่ยนบ่อย เป็นผลจากการเมืองที่ไม่ปกติ คือ มีการรัฐประหาร

“การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ใช้ระบบพิสดาร คือ จัดสรรปันส่วนผสม ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้เลย คือไปเลือกส.ส.เขต แล้วไปคิดปาร์ตี้ลิสต์ บิดเบือนเจตนารมณ์ผู้เลือกตั้ง กระทั่งได้เปลี่ยนมาใช้ระบบปี 2540 ที่เป็นบัตร 2 ใบ และใช้สัดส่วนส.ส.แบบปี 2540 มีสิ่งเดียวที่แตกต่างจากปี 2540 คือ ระบบแบบปี 2540 มีเกณฑ์ขั้นต่ำ บัญชีรายชื่อนั้นต้องได้เสียง 5% ไม่เช่นนั้นจะไม่ถูกนำมานับเลย จึงทำให้พรรคเล็กไม่ได้เข้าสภา แต่ครั้งนี้ยกเลิกเกณฑ์นั้น จะเห็นว่าคะแนน 1-2% ก็เอามาคำนวนหมด ทำให้มีพรรคเล็ก 1 ที่นั่งเข้ามาได้ ซึ่งการเปลี่ยนกติกาบ่อย ไม่ส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย พรรคก็สับสน ประชาชนก็สับสน”

แม้ใช้ระบบเดิม แต่ผลการเลือกตั้ง ไม่เหมือนเดิม

อาจารย์รัฐศาสตร์ กล่าวว่า หากดูข้อมูลช่วงแรกๆ ตั้งแต่ปี 2544-2554 จะพบว่า จำนวนพรรคที่เข้าสู่สภา ไม่สวิงมาก อยู่ที่ 4-11 พรรค เป็นตัวเลขที่กำลังดี ซึ่งจริงๆ ถ้าตั้งรัฐบาลผสม ใช้ประมาณ 6 พรรค ยกเว้นปี 2548 ที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว เพราะพรรคอื่นๆ ไม่แข่ง ยุบไปอยู่กับไทยรักไทย ยกเว้นประชาธิปัตย์กับชาติไทย ทำให้ไทยรักไทย แลนด์สไลด์ถล่มทลาย แต่ก็ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถือว่าผิดปกติที่สุด คือทำให้พรรคการเมืองเบี้ยหัวแตก ทำลายความเข้มแข็งพรรคการเมือง

Advertisement

ขณะที่ครั้งที่แล้ว ถือว่าผิดปกติที่สุด คือ ทำให้เกิดพรรคการเมืองเบี้ยหัวแตก ทำลายความเข้งแข็งพรรคการเมือง มีพรรคเข้าสภาถึง 26 พรรค และต้องใช้ถึง 20 พรรคเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านนิดเดียว คือ 50.8% ค่อนข้างง่อนแง่น

“ครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลตั้งได้ หากการเมืองเดินหน้าได้ปกติ พิธา ได้เป็นนายกฯ มีรัฐบาล 8 พรรค มีจำนวนพรรคที่เข้าสู่สภา 18 พรรค ประเด็นที่ต้องการชี้คือ แม้จะใช้ระบบเลือกตั้งเดิม 40 แต่ผลไม่เหมือนเดิมแล้ว”

“พฤติกรรมของผู้เลือกตั้ง วิธีคิดเปลี่ยน ผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิม”

เสียงที่มากพอ ย่อมชนะระบบที่เสียเปรียบ

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนั้น ออกแบบมาโดยเหตุผลหลักคือ ต้องการกลับไปเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่ ตอนที่ได้นำไปถกเถียงในสภา พรรคประชาธิปัตย์เสนอร่าง เพื่อไทย พลังประชารัฐสนับสนุน ทำให้ผ่านมาได้ พรรคที่จะเสียเปรียบคือพรรคแบบก้าวไกล คือ ระบบเขตไม่ค่อยเข้มแข็ง ทำให้นักวิเคราะห์ ประเมินว่า ก้าวไกลจะได้แค่ 50 ที่นั่ง

“ระบบเลือกตั้ง ที่เคยเซ็ตความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองได้ แต่กลับไม่ใช่กำหนดผลการเลือกตั้งเสมอไป ถ้าเสียประชาชนมากเพียงพอ พรรคการเมืองนั้นก็สามารถเอาชนะระบบเลือกตั้งที่ตัวเองเสียเปรียบได้”

เสียงไม่ปริ่มน้ำ ใช่จะอยู่ครบเทอม

ประจักษ์ ยังได้พาย้อนกลับไปถึง รัฐบาลผสมของก้าวไกล โดยว่า เสียงตอนนี้ 62.4% ก็ถือว่ามาตรฐาน เรียกว่ามากกว่ารัฐบาลผสมของยิ่งลักษณ์ ใกล้เคียงกับสมัยสมัคร และเข้มแข็งกว่ารัฐบาลประยุทธ์แน่ๆ ประเด็นคือ ในเมืองไทย มีตัวเลขผกผันระหว่าง ความเข้มแข็งของจำนวนที่นั่งพรรคในสภา กับอายุในสภา รัฐบาลที่มีที่นั่งเยอะๆ ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่รอดเสมอไป จริงๆ ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 เป็นต้นมา ไม่มีรัฐบาลใดอยู่ครบวาระ ยกเว้น รัฐบาลประยุทธ์ ที่เสียงปริ่มน้ำ

ก่อนว่า ฉะนั้น ข้อสรุปที่ฝากไว้ให้คิดคือ การมีเสถียรภาพของรัฐบาลไทย อาจจะไม่ได้อยู่กับส.ส.ว่ารวมได้กี่เสียง แต่รัฐบาลนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีไหม กับกองทัพ และองค์กรอิสระ ถ้าเป็นพันธมิตรกับ กองทัพ และองค์กรอิสระ เสียงอาจจะปริ่มน้ำ แต่อยู่ครบเทอมได้ ไม่ถูกขวาง แต่ถ้าถูกปฏิปักษ์ ก็อาจจะอยู่ไม่นาน อันนี้อาจจะไม่ได้ตั้งด้วยซ้ำ เป็นปฏิปักษ์มาก โดนสกัดตั้งแต่ต้น แต่ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ก็ควรจะตั้งรัฐบาลได้

จากระบบ 2 พรรคใหญ่ ถึง ระบบหลายพรรค

“การเมืองไทย พ้นจากระบบ 2 พรรค ไปเป็นระบบหลายพรรค” ประจักษ์ว่า ก่อนจะอธิบายต่อในประเด็นนี้ว่า อันที่จริง มีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นตั้งแต่ครั้งที่แล้ว แต่ชัดเจนครั้งนี้ การเลือกตั้งจนถึง 2554 การเมืองไทยมีแค่ 2 พรรคใหญ่ แต่ครั้งนี้ แม้กลับไปเลือกแบบระบบ 40 แต่ไม่ได้นำพาระบบ 2 พรรคกลับมาสู่เมืองไทย ครั้งนี้มีหลายพรรค และไม่ได้มีพรรคไหนได้เสียงเด็ดขาด

ทั้งยั้งอธิบายว่า การเมืองไทยตอนนี้มี 6 พรรคใหญ่ พอพ้น 6 พรรคนี้ไป พรรคอันดับ 7-12 ได้ที่นั่งน้อยมาก จึงเรียกว่าเป็นระบบ 6 พรรค คือ แค่ 6 พรรคนี้ ที่เป็นตัวแปรสำคัญจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์

ก้าวไกล – เพื่อไทย แย่งชิงความเป็นหนึ่งอีกนาน

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคใหญ่ 2 พรรค อยู่ขั้วเดียวกัน กล่าวคือ พรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย อยู่ในขั้วเดียวกัน คือ ขั้วเสรีประชาธิปไตย แม้จะไม่อยากใช้คำนี้เท่าไหร่ ซึ่งจากแต่ก่อนพรรคที่ 1 และ 2 จะอยู่คนละขั้ว และจะไม่ตั้งรัฐบาลด้วยกันมาก่อน ทั้งยังไม่เคยมีรัฐบาลผสมที่พรรคอันดับ 1 และ 2 มาจับมือกัน ครั้งนี้หากตั้งเสร็จจะเป็นครั้งแรกที่พรรคอันดับ 1 และ 2 ตั้งรัฐบาลด้วยกัน เพราะเป็นพรรคขั้วเดียวกัน

“พูดเลยไป ในแง่นี้ สถานการณ์ที่เราจะคาดเดาได้เลยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า คือ ก้าวไกล และเพื่อไทย ก็ยังคงเป็นพรรคอันดับ 1 – 2 ในการเมืองไทย จะเป็นพรรคหลักที่ชิงกันว่าใครจะเป็นอันดับ 1 คือดูพรรคอื่นๆแล้ว ยากที่จะก้าวมาแข่งกับก้าวไกลและเพื่อไทย”

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า อธิบายได้ว่า ทำไมมีความตึงเครียด ระหว่างก้าวไกล และ เพื่อไทย ทั้งระดับนักการเมืองและผู้สนับสนุนด้วย เพราะเป็นธรรมดาที่พรรคใหญ่ แย่งชิงกันจะเป็นพรรคอันดับ 1 เป็นเรื่องปกติ ถ้าเป็นระบบหลายพรรค ทุกพรรคเป็นคู่แข่งของกันและกัน และหลังเลือกตั้งครั้งนี้ขั้วจะสลายไป

“ถ้ากลับสู่การเลือกตั้งปกติ ไม่มีโจทย์สืบทอดอำนาจ อำนาจของคณะรัฐประหารหมด ครั้งหน้าทุกพรรคก็แข่งกันภายใต้ประชาธิปไตย ตามปกติ ก้าวไกลเพื่อไทย ก็ไม่ต้องจับมือกันอีกแล้ว ก็เป็นคู่แข่งกัน”

“เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าจะทะเลาะกันน้อยลง มีแต่จะมากขึ้น เพราะเป็น 2 พรรคที่กำลังจะแย่งชิงการเป็นพรรคครอบงำในระบอบการเมือง เพียงแต่ทำอย่างไร ที่ทำให้ทั้ง 2 พรรคเป็นคู่แข่งขันกัน ไม่ใช่ศัตรู คือ แข่งกันเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ต้องห่ำหั่นให้พรรคหนึ่งหายไป” ประจักษ์ กล่าว

เจาะพรรค อ่านคะแนนเลือกตั้ง 66

ประจักษ์ เปิดข้อมูลงานวิจัย โดยไล่เรียงภาพสะท้อนของผลคะแนนการเลือกตั้ง ของแต่ละพรรค

ประจักษ์ ระบุว่า พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากที่สุด เยอะกว่าคะแนนส.ส.เขตที่ได้รวมทั้งประเทศ คือ 14 ล้านคะแนน ขณะที่ แบบแบ่งเขตได้ 9 ล้านคะแนน ซึ่ง 14 ล้านคะแนนนี้ สูงเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยมีพรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์สูงกว่านี้เพียงพรรคเดียวคือ เพื่อไทย ทั้งยังชนะปาร์ตี้ลิสต์ใน 44 จังหวัด ที่เหลือที่ไม่ชนะที่ 1 ก็มาเป็นที่ 2 ทั้งหมด เรียกว่าเป็นแชมป์ ที่มีความนิยมพรรคสูงมาก ขณะที่ใน 21 จังหวัดที่ก้าวไกลไม่มีส.ส.เขตเลยแม้แต่คนเดียว แต่ก็ชนะปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 อาทิ สุพรรณบุรี , สุราษฎร์ธานี และ บุรีรัมย์ ที่ฐานเสียงพรรคระบบอุปถัมภ์เข้มแข็ง

ขณะที่ พรรคเพื่อไทย คะแนนเขตไม่ห่างกับก้าวไกลเท่าไหร่ คือใกล้เคียง สูสีมาก คือ ได้ส.ส.เขตเท่ากัน 112 คน แต่บัญชีรายชื่อ เพื่อไทย แพ้ตรงนี้ จากเพื่อไทยที่เคยเป็นแชมป์บัญชีรายชื่อมาตลอด ครั้งนี้ได้แค่ 10 ล้าน แพ้ไป 3 ล้านกว่า หากดูตัวเลขคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะพบว่า จังหวัดที่เป็นแชมป์ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนใหญ่อยู่อีสาน เรียกว่า “ครองใจคนอีสาน”

ส่วน ภูมิใจไทยและพลังประชารัฐนั้น ได้คะแนน เขตมากกว่าปาร์ตี้ลิสต์เยอะมาก ทั้งประเทศมีคนเลือกพปชร.เพียงแค่ 5 แสนคน น้อยที่สุดใน 6 พรรคใหญ่ ซึ่งหาก พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นนายกฯม้ามืด แบบที่มีคนบอก ก็หมายถึงว่า จะเป็นนายกฯที่ไม่ป๊อปปูลาร์ เพราะมาจากพรรคที่มีคนเลือกแค่ 5 แสน

ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ได้ปาร์ตี้ลิสต์เยอะกว่าเขต แสดงว่าขายพรรคได้มากกว่าคน ซึ่งได้แชมป์ปาร์ตี้ลิสต์ใน 4 จังหวัดใต้ จึงไม่แปลกใจที่ประยุทธ์ลงใต้หาเสียงหลายครั้ง เน้นหนัก ขณะที่ประชาธิปัตย์ ที่เคยเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นแบรนด์ใหญ่รองแค่เพื่อไทย ก็ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์น้อยมาก แค่ 9 แสนกว่า ขณะที่เขตรวมกันได้ 2 ล้าน ส่วนอีก 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น พรรคประชาชาติ ได้แชมป์ปาร์ตี้ลิสต์

“จะเห็นได้ว่าภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ไม่ชนะปาร์ตี้ลิสต์ที่ไหนเลย” ประจักษ์ว่า

เลือกตั้ง 66 คนเลือกเพื่อเปลี่ยน

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า หากเอามาจัดประเภท ก็จะมีได้ 3 ประเภทพรรค คือ

1.ตัวพรรคใหญ่กว่าผู้สมัคร คือ ก้าวไกล ได้ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่าคะแนน ผูัสมัครก้าวไกล ได้เข้าสภาด้วยพรรคส่งล้วนๆ งูเห่าจึงสอบตก เพราะไม่ได้สนบุคคล
2.พรรคกับผู้สมัครใหญ่พอๆกัน เพื่อไทย และ รวมไทยสร้างชาติ
3.ผู้สมัครแข็งกว่าพรรค อาศัยการเมืองแบบท้องถิ่น คือ ภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ คือ พรรคไม่ป๊อปปูลาร์ ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์น้อย มีนัยยะต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป

และยังว่า หากอ่านคะแนนบัญชีรายชื่อ นำเอาคะแนน 2 ขั้วมาร่วมกัน จะเห็นว่า ขั้วเพื่อไทย-ก้าวไกล คะแนนเสียงรวม 25.3 ล้านเสียง ขณะที่คะแนนของรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไท และประชาธิปัตย์ ได้ 7.3 ล้านเสียง จะเห็นว่าห่างกันที่ 18 ล้านเสียง

“สะท้อนว่าครั้งนี้ คน vote for change คือ ไม่ใช่แค่เลือกเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล แต่ต้องการเปลี่ยนขั้วการเมือง คือเป็นช่องว่างมหาศาล หากพลิกขั้ว ที่ผิดปกติ ก็จะเป็นการฝืนมติมหาชน ค่อนข้างมาก”

เพื่อไทย แชมป์ที่ถูกท้าทาย

ประจักษ์ ยังพาไปวิเคราะห์ความท้าทาย ของแต่ละพรรค ที่สะท้อนออกมาผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมองว่า เพื่อไทย เป็นแชมป์ที่ถูกท้าทาย

“ในการเลือกตั้ง เพื่อไทยเป็นแมนซิตี้ ที่อาจโดนท้าทายโดยลิเวอร์พูล ต้องถือว่าตั้งแต่ 44 มาถึงปี 62 คือ ไม่ต้องวิเคราะห์เลย ต้องชนะมาเป็นอันดับ 1 เพียงแต่ชนะเท่าไหร่ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ นักวิเคราะห์ทั้งไทย – เทศ เลยมองว่าต้องชนะอันดับ 1 รวมทั้งหมด และเป็นการคาดการณ์ผิด แต่เป็นการคาดการณ์สมเหตุสมผล”

ก่อนอธิบายต่อของคำว่าสมเหตุสมผลว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนส.ส.เพื่อไทยเยอะ ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 11 ล้านเสียง โดยไทยรักไทย เคยทำได้ถึง 18 ล้านเสียง แต่ครั้งนี้ได้เพียง 10 ล้านเสียง อยู่ที่ 29.22% ถือเป็นครั้งที่ได้น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค

และว่า ก่อนหน้านั้น เพื่อไทยจะได้ที่นั่งเกือบ 50% เสมอ น้อยสุด 233 ที่นั่ง ครั้งนี้ได้แค่ 141 ที่นั่ง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ได้ส.ส.น้อยที่สุด และเป็นครั้งแรก ที่ไม่ชนะมาเป็นอันดับ 1 จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า จะพลิกตัวเองอย่างไร

ประชาธิปัตย์ จากพรรคใหญ่สู่ SME

อาจารย์ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ประชาธิปัตย์ จากพรรคใหญ่ สู่พรรค SME จากที่เคยเป็นลิเวอร์พูล หรือ แมนยู แต่ตอนนี้ ผลเลือกตั้ง กลายเป็นไบรตัน หรือ เวสต์แฮม คือ เผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ จากปี 44 -54 เป็นพรรคอันดับ 2 เคยได้บัญชีรายชื่อสูง มากสุดที่ 12 ล้าน เคยได้ส.ส. สูง 165 ที่นั่ง ครั้งที่แล้วอาจเห็นสัญญาณ ที่เหลือแค่ 53 ที่นั่ง และไม่ใช่พรรคอันดับ 2 แต่ครั้งนี้ได้แค่ 9 แสนคะแนน กล่าวคือได้แค่ 2.47% ซึ่งน่าตกใจมาก สำหรับประชาธิปัตย์ และนักสังเกตการณ์ เพราะพื้นฐานที่เคยได้คือ 7 ล้าน มีคนเลือกอย่างน้อยอย่างน้อย 26% จากนั้นมาเหลือ 2.47% น่าตกใจ

“จากพรรคอันดับ 2 กลายเป็นพรรคอันดับ 6 เหลือแค่ 25 ที่นั่ง เป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะพลิกฟื้นมาเป็นพรรคระดับชาติ ได้อีกครั้ง การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จึงสำคัญมาก หากเลือกผิด จะกลายเป็นพรรคท้องถิ่น”

ภูมิใจไทย โมเดล

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า ภูมิใจไทย ถือเป็นพรรคน้องใหม่ เป็นพรรคพรรษาไม่เยอะ เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาแค่ 3 ครั้ง มากกว่าก้าวไกลแค่ครั้งเดียว คือ เคยเป็นมุ้งการเมืองในเพื่อไทย และเจอการบีบตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ในปี 2554 ได้ ส.ส. 34 คน เป็นพรรค SME เลือกตั้งครั้งที่แล้ว บัตรใบเดียวได้ส.ส. 51 ที่นั่ง ครั้งนี้ จำนวนส.ส.ได้สูงที่สุดที่ทำได้ 71 ที่นั่ง แต่ ปาร์ตี้ลิสต์น้อย น้อยกว่าปี 54 ด้วยซ้ำ คือแค่ 3% ทั้งประเทศ

“ภูมิใจไทยโมเดล คือ ไม่สนใจการขายพรรค ไม่เน้นไปดีเบต ไม่เน้นไปเวทีต่างๆ ที่จะประชันวิสัยทัศน์พรรค ไม่เน้นแอร์วอร์ แต่เน้นกราวด์วอร์ คือการหาเสียงพื้นที่ ใช้ระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่น การที่ภูมิใจไทยได้ 71 ที่นั่ง หมายความว่าระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังเวิร์กอยู่บ้างในสังคมไทย แต่ว่า มันต้องแลกมาด้วยทรัพยากรที่เยอะอยู่บ้างในการจะได้มา

“เป็นโจทย์ว่า ถ้าไม่ปรับแนวทางไปสร้างแบรนด์พรรค พรรคก็จะตันแค่ระดับ 60-70 ที่นั่ง หากเป็นพรรคระดับชาติ จะไม่สามารถพึ่งยุทธศาสตร์ อุปถัมภ์ท้องถิ่นได้ เพราะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยากจะกลายเป็นพรรคใหญ่ 1-2 ได้”

ความเสื่อมถอยของพรรคทหาร

ในส่วนของพรรคฟากทหารนั้น ประจักษ์ มองว่า จริงๆ พรรคทหาร ไม่เคยเป็นพรรคที่เข้มแข็งอยู่แล้ว มีลักษณะชั่วคราว คือ ตั้งขึ้น ดำรงอยู่ ดับไป ในเวลาอันสั้น ส่วนใหญ่ลงเลือกตั้ง 1-2 สมัย ก็ล้มหายตายจากไป ไม่ได้เจอกันอีก ในอดีต พรรคเสรีมนังคศิลา , สหประชาไท และ สามัคคีธรรม ลงเลือกตั้ง อย่างน้อยเมื่อก่อนคือสามารถชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ได้ แต่หลังปี 2534 เป็นต้นมา พรรคทหาร เมื่อตั้งขึ้นแล้ว ไม่ได้ชนะเป็นอันดับ 1 ตลอดไป สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนไทย ตื่นตัว เข้าใจการเมือง และไม่สนับสนุนพรรคทหารเหมือนอดีต

สำหรับ พรรคพลังประชารัฐ ครั้งที่แล้ว มาเป็นอันดับ 2 ครั้งนี้มาเป็นที่ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นอันดับ 5 เลย ต้องถือว่า พรรคทหารอ่อนแอลง ถ้าไปดูจำนวนส.ส. กับคะแนนเสียง จะเห็นว่า ได้รับความนิยมน้อย คือ พลังประชารัฐ มีระบบเขต 4 ล้านกว่า บัญชีรายชื่อ 5 แสน รวมไทยสร้างชาติ มีเขต 3 ล้านกว่า ปาร์ตี้ลิสต์ 12% ความนิยมประมาณนี้ กลายเป็นพรรค SME เช่นกัน

โจทย์ใหญ่ ท้าทาย พรรคอนุรักษ์นิยมไทย

อาจารย์รัฐศาสตร์ มองต่อว่า โจทย์ที่น่าสนใจ คือความท้าทายของพรรคอนุรักษ์นิยมไทยโดยรวมคือจะปรับตัวย่างไร จะเห็นแล้วว่า เป็นสภาวะถดถอยค่อนข้างมาก โอกาสตั้งรัฐบาลจึงยากมาก แม้รัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะที่นั่งน้อยเกินกว่าจะแข่งจัดตั้งรัฐบาลได้ หากดูเลือกตั้ง 44 เป็นต้นมา พรรคอนุรักษ์นิยม ไม่เคยได้มาเป็นพรรคอันดับ 1 การจะเข้าสู่อำนาจได้ ต้องอาศัยกลไก อภินิหารทางกฎหมายองค์กรอิสระ ศาลรธน. ไม่ได้จริงๆก็ ที่สุดถึงรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์

“กล่าวคือพรรคอนุรักษ์นิยม ชนะเลือกตั้งไม่ได้ แต่อยากมีอำนาจ ก็ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ชนะ ร่างรธน.ใหม่ กลับมาสู่การเลือกตั้ง ก็ยังไม่สามารถชนะเลือกตั้ง ก็ใช้กลไกศาลรธน.ยุบพรรค ตัดสิทธิพรรคอันดับ 1 เพื่อจัดตั้งรัฐบาล พอบริหารไปสักพัก เลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ชนะอีก ก็กลับไปใช้กลไกเดิม หาทางยุบพรรคที่ชนะ ตัดสิทธินายกฯ พลิกขั้วให้ตัวเองกลับสู่อำนาจได้ หากทำไม่สำเร็จอีก ก็ใช้การรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์ วิปริต ซ้ำซาก วนแบบนี้ ตราบใดที่ พรรคอนุรักษ์นิยมไม่แปลงตัวเองจากตัวป่วนมาเป็นผู้เล่นในระบบที่แข็งแรง”

“คือไปสร้างพรรคการเมืองที่แข็งแรง มาครองใจมติมหาชน มีนโยบาย อุดมการณ์ที่โดนใจ ที่จะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 มาตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรม ไม่ต้องอาศัยรัฐประหาร เครื่องมือองค์กรอิสระ ยุบพรรค ตัดสิทธิ เมื่อนั้น ประชาธิปไตยถึงจะมีเสถียรภาพ คือแข่งกันในระบบ ไม่งั้น สภาพก็เป็นแบบนี้ เราจะไม่หลุดพ้น ที่ว่าเลือกตั้งแล้ว ต้องมาลุ้นว่าจะได้ตั้งรัฐบาลหรือไม่”

“พื้นฐานเลยก็คือ พรรคอนุรักษ์นิยม ยังไม่สามารถเป็นพรรคที่เข้มแข็งและชนะเลือกตั้งในระบบได้อย่างชอบธรรม”

บิดมติมหาชน อันตราย เมื่อคนไทยตื่นตัว

ประจักษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ คนไทยไปใช้สิทธิสูงสุดในปวศ. 75.71% เป็นการเลือกตั้งที่คนไทยตื่นตัว และฝากความหวังมาก ฝากถึงใครก็ตามที่ทำให้มติมหาชนถูกบิดเบือน อันตรายมาก เพราะเบื้องหลังตัวเลข คือความคาดหวังของประชาชน ที่เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คนกทม. เมื่อก่อน เป็นแชมป์นอนหลับทับสิทธิ ก็ตีตื้นเรื่อยๆ จนครั้งนี้ คนกทม. ไปเลือกตั้งสูงที่สุดในปวศ.ของคนกทม. 74.28% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศมาก จากคนกทม. เมืองหลวง ที่ได้อภิสิทธิทุกอย่าง จึงนอนหลับทับสิทธิ ไม่จริงอีกต่อไป”

9 ปรากฏการณ์ ภูมิทัศน์การเมืองไทย

อาจารย์ประจักษ์ ได้สรุปผลการวิจัย ที่ได้จากการอ่านเลือกตั้ง 66 เอาไว้ 9 ข้อ ดังนี้
1.คนไทยตื่นตัว และผูกพันกับสถาบันและกระบวนการเลือกตั้งสูงเป็นประวัติศาสตร์ ครั้งนี้ชัดเจนว่า แทนที่คนจะเบื่อว่าการเมืองไม่ไปไหน แต่คนกลับไปใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งดี เพราะเป็นกระบวนการเปลี่ยนอำนาจ ที่ดีที่สุด และสงบที่สุด

2.พ้นระบบ 2 พรรคใหญ่ไปเป็นหลายพรรค และกลายเป็น 2 พรรคเด่น อยู่ในขั้วเสรีประชาธิไตยทั้งคู่

3.พรรคอนุรักษ์นิยม ถอดถอย ซึ่งได้สะท้อนตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่ากทม. ที่คนไหนขวาตกขอบ ได้คะแนนเสียงน้อยมาก ครั้งนี้ ขวาตกขอบ ไม่ได้เข้าสภา ด้วยซ้ำ

4.ก้าวไกลยกระดับเป็นพรรคระดับชาติ ทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ไม่ใช่แค่คนเมืองแต่คนชนบท ก็เลือก สงครามระหว่างวัยก็ใช้ไม่ได้ซะทีเดียวแล้ว เพราะคนสูงอายุ เจนเอ็กซ์ เจนวาย ก็เลือก ไม่ใช่แค่เฟิร์สโหวต โจทย์ใหญ่ของก้าวไกลคือ ช่องว่างระหว่างคนมีต่อพรรคกับคนมีต่อผู้สมัคร สูงมาก หมายความว่า หากกระแสนิยมพรรคเสื่อม โอกาสแพ้ก็มีสูง เพราะผู้สมัครไม่มีฐานเสียงที่แข็งแรง

5.เพื่อไทยยังแข็งแรง แต่เสียสถานะชั่วคราว เพื่อไทยไม่ได้แพ้เละเทะจนไม่มีความหวัง แต่ท้าทายว่าจะปรับตัวอย่างไร

6.พรรคทหารไม่สดใส ประสบปัญหาว่าจะไปทางไหนต่อ

7.ภูมิใจไทย และ ประชาธิปัตย์ กลายสภาพเป็นพรรคภูมิภาค มากกว่าพรรคระดับชาติ ความนิยมต่อแบรนด์พรรคน้อยมาก

8.พรรคขนาดกลางและเล็ก ประสบความสำเร็จยากมาก ภายใต้กติกาปัจจุบัน อย่าง ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ประชาชาติ ชาติไทย ชาติพัฒนากล้า ยากมากจะอยู่รอดได้ ในความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน คนเลือกพรรคที่ชัดเจนไปเลย

9.การเมืองแนวอุปถัมภ์ท้องถิ่นยังอยู่ แต่ถ้าใช้แนวทางแบบนี้ ต้องใช้เงินกว่า 70-80 ล้าน ซื้อต่อหัว 1,000-2,000 บาท หากขายอุดมการณ์ได้ ลงทุนน้อยกว่า ได้ส.ส.เข้าสู่สภา มากกว่า

นี่เป็นภูมิทัศน์ใหม่ จะไม่ย้อนกลับไปอีกแล้ว และ เทรนด์จะอยู่จนการเลือกตั้งครั้งหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image