91ปีประชาธิปไตยไทย รัฐธรรมนูญที่ผิดเพี้ยน

หมายเหตุ – เนื้อหาเสวนา “91 ปีประชาธิปไตยกับก้าวต่อไปหลังการเลือกตั้ง 2566 : กฎกติกาทางรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับการเมืองไทย” เนื่องในโครงการเชิดชูครูกฎหมาย งานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม ครั้งที่ 11 ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 24 มิถุนายน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อดีตนายกรัฐมนตรี

เวลาที่เรามีกติกาที่ขาดความเป็นสากล ไม่เป็นหลัก มีความผิดเพี้ยน ความสับสนวุ่นวายก็ตามมาจนถึงทุกวันนี้ที่เราเลือกตั้งมาแล้วมากกว่า 1 เดือน แต่ยังมีความสับสน มีการคาดคะเนไปต่างๆ นานาว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนจะทำได้หรือไม่ รวมไปจนถึงว่าแม้จัดตั้งได้แล้วก็ยังมีความวิตกกังวลต่อไปอีกว่าจะเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย เพราะฉะนั้น เห็นด้วยว่าจำเป็นที่จะต้องมีการทำกติกาใหม่ มิฉะนั้นการเมืองไทยจะเดินต่อไปไม่ได้

Advertisement

ถ้าจะต้องจัดทำรัฐธรรรมนูญกันใหม่ อย่างน้อยจากหมวด 3 เป็นต้นไป อะไรคือโจทย์สำคัญ อันที่ 1 ผมพูดเรื่องกระบวนการไปแล้ว คิดว่าตอนนี้ตกผลึกแล้ว เพราะอย่างไรก็ตาม กระบวนการที่จะได้มาซึ่งกติกาใหม่ต้องเป็นกระบวนการที่ทำให้ในที่สุดทุกฝ่ายยอมรับ เป็นกติกาที่ทำให้ทุกคนถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในการให้กติกาใหม่บังคับใช้ และเดินหน้าประเทศต่อไป แต่ในแง่ของเนื้อหาสาระ ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้จากอดีต จริงๆ แล้วผมอ่านงานของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อยู่ อาจารย์ก็พูดเหมือนกันว่าถ้าต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันไม่ใช่การย้อนไปยังรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือ 2550 ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ

สิ่งที่น่าจะเป็นหัวใจของการเขียนกติกาใหม่ต่อไป ข้อแรก หวังว่าเราจะกลับไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างสั้น เพราะนับวันเวลาพูดถึงรัฐธรรมนูญ เราใส่อะไรเยอะแยะไปหมด ทำให้บางครั้งประเด็นหลักถูกบดบังไป หรือกลายเป็นการหาเสียงให้กับรัฐธรรมนูญเพื่อกลบจุดอ่อน

จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญควรกำหนดไว้เป็นเรื่องหลักเท่านั้น คือบทบาทของภาครัฐและความสัมพันธ์กับประชาชน และตัวโครงสร้างขององค์กรต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการใช้อำนาจแทนประชาชน เพราะฉะนั้น สิทธิ เสรีภาพ สำคัญ ตรงนี้ถ้าจะขยายได้อีกนิด อาจครอบคลุมไปถึงประเด็นเชิงสวัสดิการ คือสิ่งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องไม่ทำอะไรกับประชาชน หรือให้อะไรกับประชาชน และมีกลไกที่มีความเป็นอิสระ มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะดูแลตรงนี้ แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายแห่งรัฐอะไรสารพัดที่เหมือนเวลายกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนจะมาขอฝากเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนา แผนยุทธศาสตร์ ไม่ควรมี ควรจะมาสนใจให้น้ำหนักมากที่สุดว่าจะจัดรูปแบบของรัฐและความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร

Advertisement

ประเด็นที่ 2 คือ ในรายละเอียดบางเรื่องไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะถกเถียงได้หมด เช่น ระบบการเลือกตั้ง บัตร 1 ใบ 2 ใบ เขตเล็ก เขตใหญ่ ไม่ใช่สาระสำคัญมาก เพราะจะเห็นว่าระบบการเลือกตั้งเมื่อใช้ไปสักพักประชาชนกับนักการเมืองจะปรับตัวเอง ขอให้เป็นกระบวนการที่เสรี เป็นธรรม ให้ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตตัวเองได้

แต่หัวใจสำคัญที่คิดว่าเราต้องไม่ย้อนหลังกลับไปแล้วเดินวนเวียนอยู่มีเรื่องเดียว คือการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการถ่วงดุล

เริ่มต้น เราบอกว่าเราเป็นระบบรัฐสภา ต้นแบบคืออังกฤษ รัฐสภาเป็นใหญ่ ทุกอย่างอยู่ที่สภา อยู่ที่เสียงข้างมาก เราเคยเชื่อว่าถ้าใช้ระบบนี้ประชาธิปไตยจะเดินหน้า แต่ในอดีตเจอปัญหามาโดยตลอด ถ้าใครติดตามการเมืองของประเทศที่เป็นระบบรัฐสภา การขับเคลื่อนการเมืองของเขา มันแทบไม่ได้อิงอยู่กับคำว่ารัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีแม้แต่ลายลักษณ์อักษร แต่ต้องมีประเพณีและวัฒนธรรมทางการเมืองรองรับ กลไกการถ่วงดุลมาจากสำนึกที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเราล้มเหลวในการสร้างสิ่งนี้

กรณีของอังกฤษ เฉพาะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถตั้งคณะกรรมาธิการที่พรรคฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากแต่ตัดสินได้ว่าอดีตนายกฯพรรคเดียวกันพูดเท็จต่อสภา และจำเป็นต้องถูกลงโทษ ถ้าเราย้อนกลับไปไม่กี่ปี รัฐบาลอังกฤษเคยถามสภาเกี่ยวกับการใช้กองกำลังเข้าไปซีเรีย ซึ่งแพ้คะแนนเสียงในสภา เพราะเขาไม่ได้ท่องแบบบ้านเรา ที่ท่องกันมาว่าคนที่เป็นรัฐบาลในระบบสภาต้องควบคุมเสียงข้างมาก ต้องชนะทุกเรื่อง ทุกคนต้องลงคะแนนเพียงเพื่อให้รัฐบาลชนะแล้วจึงมีเสถียรภาพ

รัฐธรรมนูญปี’40 พยายามแก้ปัญหาเดิมของระบบการเมืองไทย ถ้าเราจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องใช้หลักแบบที่ทำรัฐธรรมนูญปี’40 คือตั้งโจทย์ก่อนว่าเราจะแก้อะไร วันนั้นเขาขอแก้การเมืองไทยที่มีแต่พรรคเบี้ยหัวแตก รัฐบาลผสม จะทำอย่างไรให้พรรคเข้มแข็งขึ้น เอาระบบบัญชีรายชื่อขึ้นมา ยืมบทบัญญัติของระบบกึ่งประธานาธิบดีมา มีการเอาเรื่องขององค์กรอิสระเข้ามา การใช้ในช่วงแรกเหมือนกับไปได้ แต่สุดท้ายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลล้มเหลวจนเกิดความขัดแย้งขึ้นในที่สุด และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนรัฐธรรมนูญปี’50 แม้มีจุดอ่อนหลายจุดแต่อย่างน้อยก็ร่างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่มองเห็นในรัฐธรรมนูญปี’40 แต่อาจเลือกวิธีที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งหมด มีความพยายามเอา ส.ว.ลูกผสมเข้ามาถ่วงดุล ถ้าพูดด้วยความเป็นธรรม รัฐธรรมนูญปี’50 ที่จบลงไปโดยการรัฐประหาร เหตุการณ์ช่วงรัฐประหารแทบไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญเลย

ปัญหาที่มีทุกวันนี้เพราะรัฐธรรมนูญปี’60 ไม่ได้ตั้งโจทย์ของประเทศ แต่ตั้งโจทย์ว่าคนที่ยึดอำนาจมาจะมีอำนาจต่อได้อย่างไร และทำให้หลายสิ่งที่เคยเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความชอบธรรมสร้างความสมดุลเสียไปหมด เริ่มตั้งแต่ประชามติที่ไม่เสรี จนถึงการที่ผู้ร่างกระโดดลงมาเล่นเอง สิ่งที่เป็นความเสียหายมากมาถึงปัจจุบันนับตั้งแต่เรามีองค์กรอิสระมาในปี’40 ยุคนี้ความเชื่อถือที่สังคมมีต่อองค์กรอิสระต่ำสุด และแทบมองไม่เห็นแล้วว่าจะฟื้นกลับมาได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดสำหรับผมคือ ไม่ใช่การบอกว่าควรมีหรือไม่มีวุฒิสภา วุฒิสภาควรเป็นอย่างไร องค์กรอิสระควรเป็นอย่างไร แต่ต้องตอบคำถามก่อนว่า เราจะเลือกเดิน สร้างระบบที่จะให้ตรวจสอบและถ่วงดุลกันโดยวิธีไหน ผมไม่เห็นด้วยกับการกระโดดกลับไปแบบที่ว่าองค์กรอิสระใช้ไม่ได้ ยุบทิ้งไป วุฒิสภาโยนทิ้งไป กลับไปเป็นแบบสภาผู้แทนฯเป็นใหญ่ เพราะในระบบการเมืองของเรา ประเพณี วัฒนธรรม จิตสำนึกที่จะมารองรับให้ระบบเดินได้นั้น มันยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา

รัฐธรรมนูญไทย กฎหมายไทย พยายามเขียนไปเสียทุกเรื่องจนกระทั่งในปัจจุบันเราให้ศาลมาตัดสินเรื่องจริยธรรมแล้ว ผมว่ามันยิ่งตอกย้ำปัญหา เพราะทุกวันนี้เวลามีเรื่องอื้อฉาว นักการเมืองทำอย่างเดียวคือท้าว่าคุณก็ไปฟ้องสิ แล้วรอกระบวนการซึ่งยืดเยื้อ คนไม่เชื่อมั่น

แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่หวังว่าสภาที่เกิดขึ้นแล้วจะเดินหน้าให้ความสำคัญกับการออกแบบกระบวนการให้ดีเป็นลำดับต้นๆ ส่วนที่เหลือคือประชาชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ที่จะมาจัดทำร่าง โดยประเด็นที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหวังว่าจะเป็นจุดหลักของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

โภคิน พลกุล
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย

ปัญหารัฐธรรมนูญ’60 ที่โต้เถียงกันในรายละเอียดได้อย่างจุกจิก มันถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่ปัญหาพวกนี้สุดท้ายแล้วมันคือกิ่งก้านสาขาที่แผ่ออกมาจากต้นตอเดียวกัน ต้นตอนั้นคืออะไร และจะแก้ปัญหาต้นตอนั้นได้อย่างไร

ถ้านั่งวิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมเองก็อยู่ในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็อยู่ ครั้งนั้นมีการพูดจากันอย่างกว้างขวางใช้เวลาร่วมปี ส.ส.ทุกพรรคก็อยู่ในนั้น ที่พูดจากันก็คือตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปเป็นหลัก วิพากษ์วิจารณ์แทบทุกบทบัญญัติ แทบจะทุกหมวดว่ามีข้อบกพร่องอะไร อย่างไรบ้าง

แต่ประเด็นก็คือ เราต้องดูให้ได้ว่า ถ้าเรามีข้อบกพร่องมากมายแล้วเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศไม่ว่าของใครก็ตาม เราจะเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร จะออกจากสิ่งนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าเราเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ ออกจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เราจะมานั่งเถียงกันว่าควรมีวุฒิสภาหรือไม่ จะมาจากไหน มีอำนาจอย่างไร มันก็เถียงกันในความฝันทั้งสิ้น

ถามว่า ปัญหาทั้งหมดทั้ง 91 ปีมาจากอะไร ทำไมวนเวียนอยู่กับระหว่างการรัฐประหาร การเลือกตั้ง การสร้างรัฐธรรมนูญ การสืบทอดอำนาจ

ประเทศนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลัง 3 พลังใหญ่ๆ พลังแรกคือ ศักดินานิยม พลังที่สองคือ พลังอำนาจนิยมที่มีกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกเป็นหัวหอก พลังที่สามคือ พลังประชาธิปไตย ซึ่งมีพรรคการเมืองเป็นหัวหอก และอาจจะมีภาคประชาชนบ้าง นับเป็นพลังที่อ่อนแอที่สุด

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พลังคือ พลังศักดินานิยม กับพลังราชการอำนาจนิยม บวกกับประชาธิปไตยส่วนหนึ่งในเวลานั้น

แต่เมื่อพลังศักดินานิยมอ่อนแอลงก็กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างพลังของอำนาจนิยม กับพลังประชาธิปไตย

จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ผลของสิ่งเหล่านี้มี 2 สิ่งเป็นแกนหลักตลอดเวลา ได้แก่ ความคิดและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ซึ่งสื่อลงไปถึงการศึกษาทุกรูปแบบ คนยังชอบอำนาจนิยม เราเห็นระบบโซตัสในมหาวิทยาลัย ระบบอุปถัมภ์ กระทรวงมหาดไทย แบ่งเป็นสิงห์ดำ-สิงห์แดง

กรมบางกรมมีกระทั่งสนามกอล์ฟ โรงพยาบาล โรงเรียน มีทุกอย่าง ทั้งที่กระทรวงไม่มี ประชาชนก็ยิ่งตัวเล็ก ยิ่งอยู่ห่างออกไป พูดอะไรก็ไม่มีใครฟัง

นี่คือวัฒนธรรมที่มันเกาะกิน และกลไกที่มารองรับวัฒนธรรมนี้ก็คือกลไกรัฐราชการ

นี่คือปีศาจตัวใหญ่ ประชาชนจึงค่อนข้างสิ้นหวัง ถ้าเราออกจากวัฒนธรรมนี้ไม่ได้ สิ่งอื่นๆ จะเป็นผลผลิตของสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image