เพจดังแฉพิรุธ ทร.ซื้อเป้าบินไอพ่น 49.8 ล้าน โฆษกแจงข้อมูลคลาดเคลื่อน ย้ำใช้งบคุ้มค่า

ทัพเรือแจงทุกประเด็น โดนเพจดังแฉพิรุธซื้อเป้าบินไอพ่น 49.8 ล้าน เผยรอส่งมอบงานงวดสุดท้ายแล้ว ยืนยันใช้งบคุ้มค่า ตรวจสอบได้ แต่เพื่อความโปร่งใสเตรียมตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณี เพจ CSI LA กล่าวอ้างว่า กองทัพเรือ (ทร.) เอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนในการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น ด้วยการแก้เอกสารสัญญาสั่งซื้อระบบเป้าบิน Phoenix ราคา 49.8 ล้านบาท โดยระบุว่า “ที่บินไม่ได้เพราะไม่ได้ซื้อรางส่งบินมาด้วย จากเดิมที่เคยเขียนว่าจะมีจ่ายเต็มหากได้รับมอบสินค้าแล้ว เป็นไปตรวจสอบของที่โรงงานโดยที่ไม่มีการทดสอบว่าบินได้หรือเปล่าก็ได้เงินแล้ว การซื้อระบบเป้าบินเจ็ตโดรนโดยซื้อรางส่งขึ้นบิน ไม่ต่างอะไรกับการซื้อจรวดโดยไม่ซื้อแท่นปล่อยจรวด”

พร้อมทั้งกล่าวหาในประเด็นการจัดหาซึ่งระบุว่า “ที่อ้างว่าประหยัดงบประมาณนั้นก็เพียงแค่ซื้อตรงจากตัวแทนในประเทศไทยก็สามารถซื้อได้เต็มระบบแล้ว ทำไมต้องไปซื้อผ่านตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) ด้วย”

โฆษกกองทัพเรือกล่าวว่า จากข้อกล่าวหาว่า กองทัพเรือไม่ซื้อรางปล่อยเนื่องจากต้องการซื้อผ่านตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) ขอชี้แจงว่า เริ่มแรกของโครงการจัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่นเป็นการจัดหาเป้าบิน จำนวน 3 ระบบ พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ได้จัดหารางปล่อยใน TOR ตั้งแต่แรก เนื่องจากมีการสำรวจจากบริษัทต่างๆ ในขั้นตอนการสืบราคากลางก่อนเริ่มโครงการ โดยบริษัทต่างๆ แจ้งว่ารางปล่อยเดิมของกองทัพเรือที่มีใช้ราชการอยู่สามารถใช้งานกับเป้าบินที่จะจัดหาใหม่ และสามารถใช้กับเป้าบินของเดิมที่กองทัพเรือมีประจำการอยู่แล้วได้เพียงแค่ปรับปรุงเล็กน้อย

Advertisement

โฆษกระบุว่า หากกองทัพเรือจัดหารางปล่อยด้วยจะต้องใช้งบประมาณถึง 17 ล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าโครงการในภาพรวม ซึ่งกองทัพเรือพิจารณาแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดหารางปล่อยใหม่ และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในทรัพยากรที่กองทัพเรือมีอยู่จริง

ส่วนข้อกล่าวหาว่า “จากเดิมจ่ายเต็ม หากได้รับมอบสินค้าแล้ว เป็นไปตรวจสอบที่โรงงานผู้ผลิตก็ได้เงินแล้ว” โฆษกกองทัพเรือชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากขั้นตอนการตรวจรับที่โรงงาน (Factory Acceptance Test : FAT) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบชิ้นส่วนการผลิต สายการผลิต และมาตรฐานการผลิตของโรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับกองทัพเรือว่าผู้ผลิตมีความพร้อม และมาตรฐานเพียงพอในการดำเนินการโครงการจนแล้วเสร็จและกองทัพเรือจะได้รับประโยชน์สูงสุด แล้วจึงจ่ายเงินร้อยละ 35 ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินทั้งหมดทั้งโครงการ

โฆษกระบุว่า การไปทำการ FAT ณ โรงงานผู้ผลิตในครั้งนี้ นอกจากจะไปตรวจสอบมาตรฐานตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้ผลิตยังแสดงสมุดประวัติการทดสอบบิน (Aircraft LOGBOOK) ซึ่งเป็นสมุดประวัติประจำเป้าบินในแต่ละลำที่แสดงเกี่ยวกับการทดสอบทดลองการทำงานของระบบต่างๆ ของเป้าบินในระดับโรงงานตามมาตรฐานสากลให้กับผู้แทน กองทัพเรือ (ผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย) ได้ตรวจสอบด้วย

Advertisement

พล.ร.อ.ปกครองกล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินงวดงานของการทำ FAT โดยผู้แทนของกองทัพเรือ ณ โรงงานผู้ผลิตรายนี้นั้น ไม่ได้จ่ายโดยทันทีหลังจากการดำเนินการ แต่กองทัพเรือได้จ่ายเงินในงวดการ FAT หลังจากที่เป้าบินทั้ง 3 ลำ พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องถูกจัดส่งมาถึงประเทศไทยและผ่านการตรวจรับอุปกรณ์ตามรายการ และตรวจสอบสมุดประวัดิการทดสอบบิน (Aircraft LOGBOOK) เรียบร้อยแล้ว ในส่วนขั้นตอนการบินทดสอบเพื่อทำการบินจริงเป็นขั้นตอนงวดงานสุดท้าย หรือกระบวนการทำ Setting to work ที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยบริษัทจะเข้าดำเนินการในห้วงเดือนสิงหาคม 2566

จากการกล่าวอ้างว่า “กองทัพเรือต้องการจัดซื้อผ่านตัวแทนผู้จำหน่ายที่ได้รับมอบอำนาจตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว)” ขอชี้แจงว่า ตัวแทนช่วง (ซาปั๊ว) นั้น กองทัพเรือได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนแล้วพบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องจากผู้แทนในประเทศไทย โดยบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้แทนโดยถูกต้องในประเทศไทยสามารถแต่งตั้งช่วงได้ตามที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดไว้

โครงการดังกล่าวปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งมอบงานงวดสุดท้าย ได้แก่ การทดสอบทดลองการบินจริง (Setting to Work) ซึ่งบริษัทผู้ผลิตแจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการบินเป้าบินไอพ่นเข้ามาทดสอบทดลองด้วยการบินจริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือห้วงเดือนสิงหาคม 2566 และหากบริษัทไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนด กรมสรรพาวุธทหารเรือจะดำเนินการตามระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด

โฆษกกองทัพเรือเน้นย้ำว่า ในการจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพเรือนั้น กองทัพเรือจะคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด และสามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกรณีดังกล่าว กองทัพเรือจะได้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกระบวนการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image