กลุ่มพิราบขาว ยื่นขวาง ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ‘เสรี’ เด้งรับ เชื่อส.ว.โหวตให้ไม่ถึง 5 คน

กลุ่มพิราบขาว ยื่นขวาง ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ‘เสรี’ เด้งรับ เชื่อ ส.ว.โหวตให้ไม่ถึง 5 คน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส. มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

นายเสรีกล่าวว่า ข้อมูลที่นายนพรุจยื่นมาเรื่องการถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา สอดคล้องกับข้อมูลที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ดำเนินการตรวจสอบอยู่ จะนำข้อมูลไปรวมกันเพื่อพิจารณาศึกษาต่อไป และในวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 10.00 น. กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะไปพบนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอทราบความคืบหน้าเรื่องกระบวนการการทำงานของ กกต.ภายหลังการรับรอง ส.ส. และความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง โดยจะนำหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา และข้อมูลการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่นต่อ กกต. นำไปเทียบเคียงให้เห็นช่วงเวลากระบวนการจัดการมรดกเรื่องหุ้นกับที่ดินมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน กรณีการถือครองที่ดิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพิธาแจ้งว่า ได้โอนที่ดังกล่าวจากในฐานะผู้จัดการมรดกมาเป็นของตนในฐานะทายาท ปี 2560 แสดงให้เห็นทรัพย์สินทุกอย่างมีการจัดการมรดกมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ถ้านายพิธาไม่ประสงค์รับหุ้นไอทีวีต้องโอนไปตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ไม่ถือครองมาถึง 17 ปี

นอกจากนี้ เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ทรัพย์มรดกตกทอดเป็นทรัพย์สินของทายาททันทีที่เจ้าของมรดกเสียชีวิต เท่ากับนายพิธาถือครองหุ้นไอทีวีในฐานะผู้รับมรดก ไม่ใช่ผู้จัดการมรดก การโอนหุ้นไอทีวีของนายพิธายืนยันว่า เป็นเจ้าของหุ้น แม้อ้างโอนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่หุ้นที่โอนไปถือว่า นายพิธามีหุ้นส่วนอยู่ ขึ้นอยู่กับมีเพียงส่วนหนึ่ง หรือเป็นเจ้าของทั้งหมด

Advertisement

นายเสรีกล่าวว่า หลังจากนี้ ส.ว.จะพิจารณาการเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 25 คน จาก ส.ว. 250 คน ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของนายพิธา ที่ระบุต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 160 ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ในฐานะที่ ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมเห็นชอบนายกฯ ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามย่อมยื่นตีความให้ตรวจสอบได้ โดยควรยื่นให้ตรวจสอบก่อนจะมีการโหวตเลือกนายกฯ แต่จะมีผลทำให้การโหวตนายกฯ ต้องยุติก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะพิจารณา หาก กกต.ไม่ยื่นตีความคุณสมบัติของนายพิธาก่อนโหวตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะเข้าชื่อกันยื่นตีความคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของนายพิธา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ว.ยื่นตีความคุณสมบัตินายกฯ นายพิธา จะทำให้ปลุกกระแสสังคมออกมาต่อต้านหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า กระแสสังคมคือส่วนหนึ่ง ความถูกต้องคือส่วนหนึ่ง ถ้ากระแสสังคมไม่ถูกต้อง จะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับกระแส ถ้ายึดแต่กระแสก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

Advertisement

นายเสรีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือคุณสมบัติและความเหมาะสม ส่วนตัวยืนยันมาตลอด ว่าหากมีการแสดงออกหรือการกระทำไปในแนวทางที่แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งไม่เหมือนกับปี 2562 ที่ไม่มีพรรคไหนหรือไม่มีใครเสนอแก้ไขมาตรา 112 ฉะนั้น ที่บอกว่าต้องเอามาตรฐานปี 2562 มาใช้วันนี้ด้วยก็คงไม่ใช่ จะมาเรียกร้องให้เหมือนปี 2562 ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะดุลยพินิจแต่ละช่วงเวลา แต่ละสถานการณ์ แต่ละบุคคล มันแตกต่างกัน ซึ่งพฤติกรรมการแสดงออกทุกเรื่องคือความเหมาะสมที่ ส.ว. สามารถเอาประเด็นเหล่านี้มาตัดสินใจได้ทั้งสิ้น มาตรฐานที่อ้างถึงจากการเลือกนายกฯ ครั้งที่ผ่านมาจึงนำมาใช้กับครั้งนี้ไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณีที่นายพิธาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีเสียง ส.ว.เพียงพอที่จะทำให้ได้เป็นนายกฯ นายเสรีกล่าวว่า ถ้ามากพอก็เป็นไปเลย แต่ตามที่ปรากฏก็ยังไม่เห็นมีใครที่แสดงออกมาชัดเจนนอกจาก 17 คนที่มีรายชื่อปรากฏออกมา โดยที่หลายคนใน 17 คน ออกมาปฏิเสธว่าถูกเอาชื่อไปใส่โดยไม่ได้ไปเสนอแนวทางแบบนั้น เพียงแต่หลายท่านบอกว่าถ้าได้เสียงข้างมากจะเลือกให้ แต่ทุกคนพูดตรงกันว่าถ้าได้เสียงข้างมากแล้วยังจะแก้มาตรา 112 เขาก็ไม่โหวตให้ ฉะนั้น จะยึดแนวทางการใช้เสียงชนะเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสมด้วย

“ถ้ายังยืนยันว่าจะแก้มาตรา 112 ผมยืนยันในหลักการสำคัญตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ก็พูดเหมือนเดิม ผมไม่เลือกแน่นอน ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่นที่สามารถเสนอชื่อได้ ก็ต้องดูว่าเขามีปัญหาเรื่องแก้มาตรา 112 หรือไม่ คุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ มีนโยบายที่หลอกลวงประชาชนอะไรบ้างหรือไม่ พฤติกรรมที่ผ่านมา ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่นำมาตัดสินได้ทั้งนั้น” นายเสรีกล่าว

เมื่อถามว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) จะทำให้สบายใจขึ้นในการโหวตให้เป็นนายกฯ หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ แต่เป็นเรื่องที่ ส.ส.จะไปตกลงกันให้สบายใจ ไปจัดทัพรวบรวมเสียงกันมา เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.จะพิจารณาตามมาตรา 159 คือเลือกบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ถามย้ำว่า หากแนวโน้มเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย จะมีภาษีมากกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นใคร เพราะพรรค พท. มี 3 ชื่อ ก็ต้องดูว่าเสนอใคร ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน

เมื่อถามว่า ประเมินว่านายพิธาจะได้เสียงพอจะเป็นนายกฯ หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า ไม่พอ จะไปเอาเสียงที่ไหน ตนดูจากการแสดงออกที่ชัดเจนของ ส.ว. สนับสนุนนายพิธาไม่เกิน 5 เสียง ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้พูด พยายามบอกตลอดว่าใครสนับสนุนให้บอกมาเลย ส่วนท่านที่บอกว่ามีเสียงสนับสนุนก็กรุณาบอกมา เขาจะได้ไม่ปฏิเสธว่าสนับสนุนหรือไม่ เอาให้ชัดเจนไปเลยจะได้เป็นประโยชน์ แต่มาบอกว่ามีคนสนับสนุนแต่ไม่รู้ว่าใคร

ถามว่า จากการพูดคุยกันของ ส.ว. เรื่องการโหวตนายกฯ เป็นการตัดสินใจด้วยตัวเองหรือมีใบสั่ง นายเสรีกล่าวว่า เป็นใบสั่งจากประชาชน เพราะประชาชนเลือกมาแค่ 14 ล้านเสียง ไม่ได้เลือกมาทั้งหมด

เมื่อถามย้ำว่า ประเด็นของนายพิธายังเป็นปัญหาใช่หรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า แน่นอน เป็นปัญหา และถือเป็นเงื่อนไขต่อการโหวตนายกฯ การที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 มา 14 ล้านเสียง แต่ไม่ใช่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ แล้วชอบพูดกันบ่อยว่าทำไมไม่ทำตามเสียงประชาชน ต้องทำความเข้าใจว่าเสียงที่ประชาชนมีสิทธิลงคะแนน 50 ล้านคน ใช้สิทธิ 40 ล้านคน เลือกพรรคก้าวไกล 14 ล้านเสียง แสดงว่า 14 ล้านเสียง เป็นเสียงข้างน้อย การที่เสียงข้างมากไม่เลือกจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญว่าเหตุใดถึงไม่เลือก แสดงว่าเราไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับ 14 ล้านเสียง แต่เราทำตามเสียงข้างมาก” นายเสรีกล่าว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image