ปริญญา ชี้ควรปล่อย ส.ว.ฟรีโหวต อย่ากดปุ่มสั่งห้าม เชื่อ 65 เสียงหนุนพิธา ‘ไม่เกินจริง’

ปริญญา ชี้ ควรปล่อย ส.ว.ฟรีโหวต อย่าให้ใครกดปุ่มสั่งห้าม เชื่อ 65 เสียง ‘ไม่เกินจริง’

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ Respect My Vote “เคารพผลการเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบงานเสวนา ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ว่า การที่มีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งรวมเสียงได้เกินครึ่ง พรรคอันดับ 1 พรรคนั้นได้เป็นนายกฯอยู่แล้ว 312 เสียงออกจะมากเกินไปสักหน่อยด้วยซ้ำ เพราะฝ่ายค้านเหลือแค่ 188 เสียง ถือว่าเข้มแข็งจนเกินพอในการเป็นรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เข้มแข็งมากเกินไปเพราะมีถึง 8 พรรค ต้องมีการถ่วงดุลกันในพรรคร่วมรัฐบาลกันเองด้วย ไม่ใช่ว่าพรรคอันดับ 1 จะทำทุกอย่างได้ ซึ่งถ้าเป็นปกติ ก็เดินหน้ามีรัฐบาลใหม่ไปแล้ว แต่ที่ไม่ปกติเพราะมี ส.ว. ซึ่งกติกาคือต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง ตัวเลขขณะนี้ คือ 375 เข้าใจว่ามี ส.ส. หายไป 1 หรือ 2 คน ซึ่งอาจมีลงได้อีกหากมี ส.ส.จำนวนจริงไม่ถึง

Advertisement

ถ้าเราดูจำนวนโดยหักอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ออกไป และ ส.ส.ก้าวไกลคนหนึ่งออกไป คือ 310 แปลว่าขาดอีก 65 เสียง ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้มาจาก ส.ว. ความจริงถ้าปล่อยให้โหวตกันตามปกติ พูดตรงๆ คือถ้าปล่อยให้ฟรีโหวต ไม่มีใครมากดปุ่ม หรือสั่งห้ามใดๆ ก็แล้วแต่ คิดว่า 65 เสียง ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

“สิ่งที่ควรจะเกิดคือควรให้ ส.ว.ท่านฟรีโหวต จะมีใครก็แล้วแต่ที่สามารถมาบอก ส.ว.ให้โหวตอย่างนั้นอย่างนี้ได้ มันคือสิ่งที่ไม่ควรเป็น รัฐธรรมนูญมาตรา 114 บัญญัติว่า ส.ส.และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติแห่งความผูกมัดหรือการสั่งการของใคร การที่เป็นผู้แทนปวงชน แม้ ส.ว.ไม่ได้มาจากการที่ปวงชนเลือกเหมือน ส.ส. แต่ยังพอเป็นตัวแทนปวงชนได้ ถ้าฟังเสียงของปวงชนชาวไทย แต่ถ้าท่านไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทย และตอนใช้อำนาจก็ไม่ฟังเสียงปวงชนชาวไทย ก็ไม่อาจเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงต่อไปได้” ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวด้วยว่า การที่ กกต.แถลงไว้ว่าจะดำเนินคดีกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วยมาตรา 151 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรานี้คือผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ แล้วยังมาสมัคร กล่าวคือ จะผิดก็ต่อเมื่อรู้ทั้งรู้ว่าขาดคุณสมบัติ แต่เรื่องนี้เมื่อการถือหุ้นสื่อไอทีวี เป็นสื่อหรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ แล้วปรากฏหลักฐานว่าในรายงานการประชุม ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริง คือ ไอทีวีไม่ได้ดำเนินกิจการใดๆ รายได้จากการประกอบการในทางอื่น นอกจากดอกเบี้ย และเงินลงทุนก็ไม่มี

Advertisement

การที่จะใช้หลักฐานตรงนี้มาดำเนินคดี มองว่าจำเป็นต้องดำเนินการให้ครบถ้วนก่อนหน้าวันเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 43 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง วรรค 1 ในมาตราดังกล่าวบอกว่า ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งได้ทราบหลักฐานด้วย เพราะนี่คือคดีอาญา นอกจากนี้ ในวรรค 2 ยังระบุว่า ต้องเปิดโอกาสให้แก้ข้อกล่าวหา ซึ่งขั้นตอนนี้ กกต.ยังไม่ได้ทำเลย มีแต่แถลงข่าวว่าตั้งข้อหา แล้วปล่อยให้คาไว้แบบนี้ เหมือนให้ต้องมลทินไว้ ข้อนี้คนจะครหาได้ เหมือนมาทำให้ ส.ว.ที่ไม่อยากโหวตให้ จะได้มีข้ออ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image