‘สามชาย’ ซัด รธน.60 ปราบขั้วตรงข้าม ชวนร่างกติกาใหม่ยุคเปลี่ยนผ่าน หยุดการเมืองชะงักงัน

‘สามชาย’ ซัด รธน.60 ปราบขั้วตรงข้าม ชวนร่างกติกาใหม่ยุคเปลี่ยนผ่าน หยุดการเมืองชะงักงัน

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ห้องอเนกประสงค์ (ริมน้ำ) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) จัดงาน “Con.Next: ออกจากกะลา ไปหารัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อระดมความเห็น เดินหน้าภารกิจสำคัญของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล คือการฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง และประชาชน มาร่วมมาแลกเปลี่ยนมุมมอง

บรรยากาศเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ออกจากกะลา ไปหารัฐธรรมนูญใหม่” โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์, น.ส.ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ทะลุฟ้า นักกิจกรรมทางการเมือง

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.สามชายกล่าวว่า สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญนิยมมีหลักการสำคัญคือการลดอำนาจรัฐ แล้วให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชน เพื่อให้รัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากได้ศึกษา พบว่าในรัฐธรรมนูญทั่วโลกมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือตัวรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมาแล้วใช้อำนาจบังคับใช้ ส่งเสริมให้อำนาจรัฐขยายตัวมากขึ้น และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสร้างความชอบทำให้การใช้อำนาจของรัฐ

Advertisement

ต่อมาเกิดแนวคิดของรัฐธรรมนูญอีกแบบ ซึ่งบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญทางสังคม เพราะรัฐธรรมนูญเดิมสร้างความขัดแย้งในหลายๆ ประเทศ จากการให้อำนาจรัฐมากเกินไป บรรทัดฐานหรือวัฒนธรรมทางการเมืองถูกร่างขึ้นจากส่วนกลางของคนที่มีอำนาจ โครงสร้างสังคมจึงถูกกำกับไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้กระจายวัฒนธรรมทางการเมืองลงไปสู่คนข้างล่าง สู่ความหลากหลายของอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในประเทศ

“ในยุคของการเมืองสมัยใหม่ เกิดกลุ่มอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันมากมาย เกิดความคิดที่เขาสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญแนวเดิมที่มันแข็งตัว และยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐเลยเกิดปัญหา เกิดความขัดแย้งในสังคม บ้านเราก็เป็นแบบนั้น ปี 60 ที่ร่างขึ้นมา รัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไกแผ่อิทธิพลของอำนาจ มันก็เลยเกิดปัญหาขึ้น

“ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับคนจนที่ร่างขึ้นมาทำอย่างไร เราทำตามแนวที่เป็นรัฐธรรมนูญทางสังคม พยายามรวมกลุ่มคนหลากหลายที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี’60 เข้ามา แล้วให้ความเห็นต่อตัวรัฐธรรมนูญว่าเขาเกิดปัญหาอะไรบ้าง จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้” รศ.ดร.สามชายอธิบาย

Advertisement

รศ.ดร.สามชายกล่าวว่า คนที่เข้าร่วมในการให้ความคิดเห็นรัฐธรรมนูญฉบับคนจนแบ่งเป็น 10 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย ปลูกพืช ไร่ นา ทำประมง สวนยาง เหล่านี้มีปัญหาหมด เราอาจจะบอกว่ารัฐธรรมนูญมันไม่น่าไปกระทบได้ขนาดนั้น แต่มันกระทบได้จริงๆ มีปัญหาเรื่องดิน น้ำ ป่า ทรัพยากรซึ่งไม่สามารถเข้าไปถึง ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถูกรุกล้ำ แทรกแซง ทั้งภาคเอกชนและฝ่ายความมั่นคง

กลุ่มแรงงานไม่สามารถรวมตัวกันเรียกร้องคุ้มครองแรงงานได้ กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ชายฝั่งทะเล นักศึกษา กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำงานด้านสิทธิทางเพศ สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ คนไร้บ้าน เหล่านี้มีปัญหากับรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ดิน เขื่อน ป่าไม้ โรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงการผลิตเหล้า ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ถูกผูกขาดตัดตอน กลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการภาครัฐ กลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ สิทธิ เสรีภาพ พื้นฐานการถูกเลือกปฏิบัติ ความไม่เป็นธรรมในสังคม คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

รศ.ดร.สามชายกล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมไทยเวลานี้ ถ้าเราจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความชะงักงันของพัฒนาการทางการเมือง หรือการพัฒนาประเทศ ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะติดกับดักและอยู่ในภาวะแบบนี้ไปอีกนาน

“รัฐธรรมนูญปี’60 สร้างเงื่อนไข 4 ประการ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของรัฐธรรมนูญในปี’60 ประเด็นแรกคือการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร แล้วให้คณะรัฐประหารบริหารประเทศได้ต่อเนื่อง มั่นคง ยาวนาน อำนาจเบ็ดเสร็จที่จะเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งในช่วงครั้งแรกปี’62 วางกลไกขององค์กรอิสระ วางเรื่องของการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคต่างๆ ต้องเป็นรัฐบาลผสมที่มีหลากหลาย ไม่มีความมั่นคง และยังคงให้อำนาจประกาศคำสั่งของ คสช.ดำเนินต่อไปได้

ข้อที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ปฏิรูปประเทศไทย แต่ใช้ไปปราบฝ่ายตรงข้ามหมดสิ้น ทั้งฝ่ายการเมือง ทั้งภาคประชาชน ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นพวกแข็งขืนต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการก้าวไปสู่วิธีคิดอีกแบบก็ถูกกำกับควบคุม เพราะฉะนั้นฉบับปราบโกง ปฏิรูปประเทศไทย ก็คือปรับเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามหมดกำลังลง และประการที่ 3 คือกำกับควบคุมประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองในฐานะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ตอนนี้มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีมากมายจากการรัฐประหารที่ผ่านมา

ผมเลยเชิญชวนว่าทำเสียวันนี้ ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้ทุกคนได้สร้างกติกาใหม่ร่วมกัน ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ” รศ.ดร.สามชายทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image